'สุเมธ' ชี้โลกกำลังเตือนทุกคน แนะเตรียมรับมือ Global Boiling
“สุเมธ” เตือนความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสี่ยงภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงและฉับพลัน ต้องเร่งสร้างระบบการบริหารจัดการร่วมกัน เป็นภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นต่อไป
วันที่ 2 ต.ค. 2566 มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่” เพื่อให้การพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศมีเสถียรภาพและมีความมั่นคงต่อความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ภายในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวในฐานะประธานเปิดงาน “Action Together for a Better Thailand: เทิด ด้วย ทำประเทศไทยยั่งยืน” ว่า สถานการณ์โลกเริ่มจาก Global Warning คือโลกเตือนเรามาก่อนแล้ว ต่อมาคือ Global Warming สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นตามฤดูกาล และปีนี้ทุกคนต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ของโลกที่เป็น Global Boiling
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีบทเรียนที่สำคัญจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่ 9) ซึ่งได้พระราชทานแนวทางไว้หมดแล้ว ตั้งแต่นภา ผ่านภูผา จนถึงมหานที โดยมีตัวอย่างพื้นที่จริงให้เห็น ฉะนั้นทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ต้องร่วมมือกันดำเนินตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นต่อไป
“จากการน้อมนำแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติจนเห็นความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่าและทำให้เกิดพื้นที่ตัวอย่างเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริแล้ว 26 แห่ง นับเป็นความสำเร็จที่ชุมชนดำเนินงานจากล่างขึ้นบน แก้ปัญหาพื้นที่แบบพึ่งตนเอง”
ทั้งนี้ โครงการต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดจากเขาหัวโล้นเป็นวนเกษตร และปัจจุบัน มีน้ำกิน น้ำใช้ตลอดปีมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ร่วมกับชุมชนกว่า 1,800 หมู่บ้าน บริหารจัดการน้ำ ความสำเร็จนี้ ทำให้ได้เห็นพัฒนาการ ชุมชนเข้มแข็ง มีระบบคิด ระบบงาน ระบบจัดการ เครือข่ายความร่วมมือที่จะขยายผล ทำงานตามแนวพระราชดำริ ให้เกิดความยั่งยืนและเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างที่จะต้องร่วมกันสร้างต่อไป
นายสุเมธ กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือในวันนี้ว่า สืบเนื่องมาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำของประเทศในปัจจุบัน ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ทั้ง 3 หน่วยงาน จึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เกิดเสถียรภาพและมีความมั่นคงต่อความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินงานให้เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน พัฒนา และประยุกต์ใช้คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติสำหรับการบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้บุคลากร เครือข่ายสมาชิกภาคอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจ ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลด้านน้ำให้ครอบคลุมครบถ้วนทุกมิติรวมไปถึงส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำของ สสน. รวมทั้งดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายสมาชิกภาคอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำเสนอการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ Global Boiling โดยผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “Global Boiling ! Changing Management & Resilience” โดยมี Mr. Marco Toscano-Rivalta, Chief of the Regional Office for Asia and the Pacific จาก United Nations Office for Disaster Risk Reduction (UNDRR) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการร่วมกันดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และ Ms. Caroline Turner, Water Scarcity Programme Manager จาก Food and Agriculture Organization (FAO) ซึ่งได้นำเสนอสถานการณ์ด้านน้ำของประเทศไทย และความสำคัญของการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการทำบัญชีน้ำและการจัดสรรน้ำในประเทศไทย
รวมถึงการเสวนาในหัวข้อ “Global Boiling! Working Together 2 Better ESG” โดยมีผู้บริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมเสวนา ได้แก่ นายวิชัย อัศรัสกร ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ได้กล่าวถึง ความสำเร็จของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รวมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ของ สสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ พร้อมที่จะสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ที่จะขยายผลความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหลังจากนี้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. กับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. พัฒนาฐานข้อมูลสำหรับบริหารจัดการน้ำของภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งภาคอุตสาหกรรมและชุมชนรอบข้าง พร้อมทั้งได้ชักชวนภาคอุตสาหกรรมมาร่วมกันลงมือทำเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม
นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้เชิญชวนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม มาร่วมกันดำเนินงานตามแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อส่งมอบโลกน่าอยู่และยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป ซึ่ง SCG เป็นตัวอย่างของภาคอุตสาหกรรมที่ได้ลงมือทำแล้ว และขอเชิญเพื่อนภาคอุตสาหกรรมมาร่วมลงมือทำไปด้วยกัน