จีนเขย่าอุตฯ ผลิตแบตเตอรี่โลก ทดแทนซัพพลายภายในล้น

จีนเขย่าอุตฯ ผลิตแบตเตอรี่โลก  ทดแทนซัพพลายภายในล้น

เอสเเอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ เผยแพร่รายงาน“Asian Battery Makers Are Shifting Strategies To Hold Onto Global Lead.” ที่ระบุว่า เอเชียในฐานะผู้มีบทบาทนำของโลกเรื่องการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV

โดยอุตสาหกรรมอีวีในเอเชียกำลังจะก้าวสู่การเติบโตอีกครั้งด้วยการลงทุนนอกประเทศมากขึ้น โดยมีสหรัฐและยุโรปเป็นจุดหมายปลายทางซึ่งคาดว่าจะเห็นการลงทุนในอีกไม่กี่ปีจากนี้ 

การประเมินดังกล่าวมาจากสถานการณ์ในประเทศจีน ที่มียอดการส่งออกแบตเตอรี่รถ EV เพิ่มขึ้นซึ่งจะมีส่วนช่วยชดเชยแรงกดดันจากสถานการณ์ที่ซัพพลายล้นภายในประเทศจีน และยังพบว่าปริมาณซัพพลายในจีนที่สูงกว่าความต้องการทำให้ผู้ผลิตที่ไม่เข้มแข็งได้รับผลกระทบด้วย

“การรักษาตำแหน่งผู้นำ ทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ต้องเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การได้รับตำแหน่งผู้เล่นในลำดับต้นๆ ที่เข้มแข็ง และพร้อมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจท่ามกลางการยกระดับการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ก็จะทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ในจีนที่อ่อนแอไม่สามารถอยู่รอดได้”

สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในจีนเมื่อรวมกันแล้วจะมีมูลค่าสูงสุดในอีกไม่กี่ปีจากนี้ ซึ่งเป็นผลจากขีดความสามารถที่สูงเกินความต้องการตลาด อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566  โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในจีนกว่า 50% กำลังเผชิญกับภาวะซบเซา แม้จะมีการส่งออกที่ดีขึ้นมาช่วยชดเชยบาดแผลนี้ และส่วนแบ่งจีนในตลาดแบตเตอรี่โลกกำลังเพิ่มขึ้นก็ตาม 

ขณะนี้ซัพพลายเออร์สัญชาติจีนกำลังมุ่งไปที่การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในยุโรป ซึ่งมีคู่แข่งสำคัญอย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่เห็นโอกาสที่ดีกว่าในอเมริกาเหนือ เพราะทั้งญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าจากกรณีความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน 

“ความพยายามเหล่านี้แม้จะเพิ่มการก่อหนี้ และค่าใช้จ่ายของบริษัทหลายแห่งที่ต้องการขยายการลงทุนในต่างประเทศ แต่ก็สอดคล้องกับการขยายตัวของผู้ผลิตรถยนต์ที่มีอยู่อย่างมากด้วยเช่นกัน” รายงานระบุ

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีส่วนขับเคลื่อนตลาดแบตเตอรี่ EV เช่น  China's Contemporary Amperex Technology Co. Ltd. Korea's LG Energy Solution Ltd. ซึ่งต่างเป็นผู้ที่เข้าสู่ตลาดในลำดับต้นๆ ทำให้ได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยคาดการณ์ว่าธุรกิจจะมีผลกำไรที่ดี และสามารถขยายตัวได้มากขึ้นรวมถึงรักษาความมั่นคงในศักยภาพของอุตสาหกรรม และธุรกิจไว้ได้ อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด 

ด้านข้อมูลความเคลื่อนไหวตลาดอีวีในประเทศไทย ข้อมูลจาก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนส.ค.2566 ดังต่อไปนี้

ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนส.ค.2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 60,234 คัน ลดลงจากเดือนก.ค.2566 3.62% จากยอดขายรถกระบะที่ลดลงถึง 36.3% เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 11.69% แบ่งตาม

ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 41,844 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 837.79% รถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 1,585 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 39.54% รถยนต์ไฟฟ้าผสม (HEV) 52,219 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 30.31%

การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้นมีอัตราการเติบโตเป็นอย่างมาก และเป็นที่น่าจับตามองของบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศที่จะมาแข่งขันกันในประเทศไทย ส่งผลดีให้กับผู้บริโภคมีตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายมากขึ้นจากเมื่อก่อนพอสมควร

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์