IUU กฎเกณฑ์เพื่อการเปลี่ยนผ่าน สร้างความยั่งยืนหรือเครื่องมือทางศก.
หลากหลายข้ออ้างที่ทำให้ประเทศคู่ค้า กำหนดข้อกีดกันทางการค้าขึ้นมา ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่ส่งผลถึงทุกภาคส่วนในห่วงโซ่ที่ได้รับผลกระทบ โดย IUU ที่ทำให้วิถีการทำประมงพื้นบ้านของไทยยังมีปัญหา
ความกังวลต่อภาวะโลกร้อนที่ทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติเปลี่ยนไปเป็นสาเหตุหนึ่งที่ประเทศสร้างกฎเกณฑ์ทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลดผลกระทบและลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนแต่ในทางปฎิบัติจริงจะเรียกกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ว่าเป็นข้อกีดกันทางการค้าก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเงื่อนไขเหล่านี้กระทบกับวิถีภาคการเกษตรของไทยที่เห็นชัดคือภาคการประมง จนเกิดความคลางแคลงว่า กฎระเบียบเหล่านี้สร้างขึ่้นเพื่อสร้างความยั่งยืน หรือเพื่อหวังผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่านั้น
ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวในเวทีสนทนาภาษาสัตว์“THAI FEED MILL ASSOCIATIONTFMA TALK” โดยสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ เรื่องการประมงที่ยั่งยืน : ปัญหาเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อม ว่า ในการติดตามตรวจสอบควบคุมให้การใช้ประโยชน์ของทรัพยากร เป็นทั้งในมิติของการอนุรักษ์ทรัพยากร แล้วก็สร้างความยั่งยืน
โดยการดำเนินการนั้นต้องสามารถสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับชาวประมงได้อย่างยั่งยืนด้วย แต่ทั้งนี้จากการศึกษาและมีข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยันพบว่าปริมาณสัตว์น้ำที่มีน้อยลงนั้น เป็นผลมาจากการทำประมงมากเกินความพอดี หรือ Overfishing ทำให้ธรรมชาติไม่สามารถสร้างทรัพยากรรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ทัน
ทั้งนี้เพราะการทำประมงใช้เครื่องมือที่ไม่ถูกต้อง เกิดการทำลายล้าง จึงเป็นที่มาของสากลที่ออกมาตรการการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การ ควบคุม หรือ IUU ขึ้น
โดยภายใต้มาตรการดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีจรรยาบรรณในการทำการงานอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งการอนุรักษ์และการจัดการประมง ต้องมีข้อมูลทางวิชาการที่ได้จากการศึกษาวิจัยร่วมระหว่างรัฐและเอกชนเป็นฐาน แล้วพิจารณาคู่กับมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านรัฐศาสตร์หรือมิติความเป็นอยู่ของชาวประมง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมประมงไทย
วรพงษ์ เอี่ยมตระกูล ผู้จัดการโครงการ FIP (Fishery Improvement project) กล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ออกซิเจนในทะเลมีน้อยลง ในขณะที่ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีมากขึ้น น้ำทะเลก็เป็นกรดมากขึ้น สภาวะระบบนิเวศในท้องทะเลก็เปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อการขยายพันธุ์ และอัตราการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตในน้ำ เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง องค์ประกอบความหลากหลายของชนิดปลาเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด เป็นผลกระทบในแง่ลบของทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเล
ทั้งนี้การส่งเสริมด้านความยั่งยืน กรณีที่ไม่มีปัญหาโลกร้อนก็ถือว่าท้าทายอยู่แล้ว ทั่วโลกจะพยายามเน้นในเรื่องของทรัพยากรที่อยู่ให้อยู่ในระดับที่ไม่หายไป ให้มีกินมีใช้ได้ถึงจนถึงลูกหลาน แต่เมื่อมีภาวะโลกร้อน มีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามา ทำให้การประมงที่ยั่งยืนเป็นส่วนสำคัญมากขึ้น และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ
จากการดำเนินโครงการ FIP ในอ่าวไทยพบว่าทรัพยากรธรรมชาติฟื้นฟูขึ้นอย่างน่าพอใจ และจะนำไปใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนาความยั่งยืนการประมงในที่อื่นต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมง และทลายกำแพงการกีดกันการค้า
“เมื่อก่อนมีคนบอกว่าในเรื่องความความยั่งยืนเหมือนเป็น การทำประกัน ถ้าเกิดเหตุเมื่อไหร่ถึงจะได้ใช้ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้วมันเป็นไลน์เซ่น(License) เป็นธุรกิจที่ถ้าไม่ทำก็ขายสินค้าไม่ได้”
ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือต้องเปลี่ยน จากเมื่อก่อนที่ต้องทำตามข้อกำหนด ตอนนี้ต้องสร้างมาตรฐานเรื่องการประมงยั่งยืน เรื่องของการประมงแบบหลากหลายสายพันธุ์ที่ยั่งยืนขึ้น สร้างเป็นจุดขายของสินค้าที่ต่างจากภูมิภาคอื่น
อำนวย เอื้ออารีมิตร นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย กล่าวว่า ในช่วงที่สหภาพยุโรป หรืออียู ประกาศให้ใบเหลืองกับไทย เพื่อให้ไทยเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัฐหา IUU นั้น ได้สร้างผลกระทบกับ อุตสาหกรรมปลาป่น ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนการใช้วัตถุดิบหันมาใช้เศษปลามากขึ้น จนปัจจุบัน 8 ปีที่อุตสาหกรรมปรับตัว กำลังการผลิตจากที่เคยได้สูงสุด 5 แสนตันต่อปี ลดลงเหลือ 3 แสนตัน จากโรงงานปลาป่น 100 แห่ง ลดลงเหลือ 60 แห่ง เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบป้อน
ด้านการส่งออกคาดว่าปีนี้จะส่งออกได้ปริมาณ 2 แสนตัน โดยราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตามราคาตลาดโลก เพราะเปรูผู้ผลิตรายใหญ่กำหนดโควตาการจับปลาปีนี้น้อยที่สุดใน10 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากเอลนีโญ
การปรับตัวคือเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจ หรือแม้แต่ชีวิตความเป็นอยู่ได้ ซึ่งอุตสาหกรรมประมงมีIUUเป็นเข็มทิศของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเข้าใจและใช้กฎเกณฑ์ใหม่ให้เป็นเพื่อสร้างประโยชน์และลดผลเสียให้ได้มากที่สุด