เศรษฐกิจ BCG กับการท่องเที่ยว | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

เศรษฐกิจ BCG กับการท่องเที่ยว | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

นายกรัฐมนตรีใหม่แกะกล่อง เศรษฐา ทวีสิน ได้เริ่มต้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน โดยเดินทางไปให้กำลังใจภาคท่องเที่ยวทั้งที่ภูเก็ตและเชียงใหม่

ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ผู้ประกอบการได้ขอให้นายกฯ ช่วยสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่ก็เพื่อที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากขึ้น ที่น่าสนใจก็คือส่วนใหญ่ไม่มีใครคิดที่จะให้ นายกรัฐมนตรี สนับสนุนการปรับโครงสร้างให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีความยั่งยืนขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามโมเดล BCG ซึ่งเป็นโมเดลสำคัญของรัฐบาลชุดที่แล้ว

โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นกลไกการพัฒนาซึ่งต้องการเปลี่ยนรูปแบบจากการใช้ความได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรม โดยบูรณาการและพัฒนาในสามด้านพร้อม ๆ กันคือ

เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy ) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy)  หรือโมเดลที่บางครั้งภาคเอกชนเรียกว่า โมเดลอารมณ์ดีมีความสุข happy model และจัดการอุปทานส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ (รูปที่ 1)

เศรษฐกิจ BCG กับการท่องเที่ยว | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

แผนงานคนไทย 4.0 ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับนางสาววรัญญา บุตรบุรีและคณะ เพื่อวิเคราะห์ความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนโมเดลดังกล่าว โดยดูจากตัวชี้วัดระดับจังหวัดและเพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จผลในการดำเนินงานขององค์กรภาคเอกชนโดยเฉพาะโรงแรม และสปา

ในบทความนี้จะยกมาแบ่งปันเฉพาะดัชนีชี้วัด BCG ระดับจังหวัดและผลการดำเนินงานของโรงแรม

การสร้างดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยวด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ระดับจังหวัด ประกอบไปด้วย 3 กลุ่มตัวแปร

กลุ่มตัวแปรแรกประกอบไปด้วยตัวชี้วัด 8 ตัวเป็นตัวชี้วัด ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวระดับชาติ ที่สามารถเพิ่มความดึงดูดใจให้กับแหล่งท่องเที่ยว

เช่น ค่ายมวย จำนวนสปา แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น โครงการหลวง จำนวนไร่องุ่น จำนวนนักวิจัย จำนวนโครงการวิจัย และสัดส่วนแรงงานในภาคบริการต่อกำลังแรงงาน

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ตัวชี้วัดของเศรษฐกิจหมุนเวียนวัดจากพลังงานทดแทนจากขยะ พลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ พลังงานทดแทนจากชีวมวลและอัตราการรีไซเคิลขยะ

กลุ่มที่ 3 คือ เศรษฐกิจสีเขียว มี 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ จำนวนโรงแรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงแรมสีเขียว ขยะมูลฝอยตกค้าง ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และจำนวน green products 

เศรษฐกิจ BCG กับการท่องเที่ยว | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผลของการวิเคราะห์พบว่า 5 จังหวัดแรกที่มีอันดับของการขับเคลื่อนด้วย BCG สูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต (ตารางที่ 1) และรูปที่ 2 แสดงถึงศักยภาพด้านการขับเคลื่อน BCG ทั้งประเทศ

การปรับปรุงดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยว และการพัฒนาดัชนี BCG ด้านการท่องเที่ยว ภายใต้ แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

        นอกจากการคำนวณหาดัชนี BCG แล้ว การศึกษานี้ยังเสนอจังหวัดรองที่ควรพัฒนาโดยการเพิ่มดีมานด์ เนื่องจากด้านอุปทานหรือซัพพลายยังมีส่วนเกินอยู่ จังหวัดเหล่านี้ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช  ปทุมธานี สุโขทัย อุบลราชธานี ชุมพร สุรินทร์ และราชบุรี

เศรษฐกิจ BCG กับการท่องเที่ยว | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ส่วนการถอดบทเรียนธุรกิจที่พักต้นแบบที่ขับเคลื่อนตามโมเดล BCG มีการถอดบทเรียนโดยทีม รศ.ดร.อัครพงศ์  อั้นทอง และคณะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่า การจัดการที่โดดเด่น ได้แก่ การจัดการขยะของเสียตั้งแต่ต้นทาง การใช้รองเท้ายางแทนรองเท้าที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง การจัดการขยะที่เกิดจากเศษอาหาร โดยการนำไปทำปุ๋ย และปลูกผักปลอดสารพิษ

การจัดการพลังไฟฟ้าและน้ำ การออกแบบและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนกลาง และการจัดอีเวนท์ทางวัฒนธรรมมาเป็นกิจกรรมให้แขกที่เข้าพักมีส่วนร่วม เพื่อช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศในห้องนอน และนำศิลปะวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่า

การที่ฝ่ายบริหารกำหนดตัวชี้วัด ก็เพื่อให้การติดตามและประเมินผล และได้คำนวณผลประโยชน์ที่ได้ต่อคืนที่มีแขกเข้าพักไว้ด้วย

เศรษฐกิจ BCG กับการท่องเที่ยว | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารวิจัยได้ที่

ว-การปรับปรุงดัชนีการพัฒนาการท่องเที่ยว และการพัฒนาดัชนี BCG ด้านการท่องเที่ยว-วรัญญา บุตรบุรี และคณะ  

-  อ-การศึกษาและถอดบทเรียนต้นแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ดำเนินงานและจัดการตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG-อัครพงศ์ อั้นทอง และคณะ