‘ใบไม้เปลี่ยนสี’ อาจไม่สวยอย่างเดิม เหตุโลกร้อนทำเปลี่ยนสีช้า-สีไม่สด

‘ใบไม้เปลี่ยนสี’ อาจไม่สวยอย่างเดิม เหตุโลกร้อนทำเปลี่ยนสีช้า-สีไม่สด

ปรากฏการณ์ “ใบไม้เปลี่ยนสี” ในญี่ปุ่นและสหรัฐ เป็นแหล่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไปชมความสวยงาม แต่ความงามนี้กำลังจะหายไป เพราะภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้อากาศแปรปรวน

ช่วงเดือนก.ย.- ต.ค. เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนเข้าฤดูใบไม้ร่วง โดยปรกติแล้วจะเป็นช่วงเวลาที่เกิด “ใบไม้เปลี่ยนสี” ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐ แคนาดา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปชมความสวยงามของแนวป่าไม้ที่ผลัดจากสีเขียวกลายเป็นสีแดงปนส้มสวยสะดุดตา แต่ดูเหมือนว่าในช่วงระยะหลังมาสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ทำให้ใบไม้ร่วงก่อนที่เปลี่ยนสี

การเปลี่ยนสีของใบไม้ เป็นกลไกทางธรรมชาติ เกิดช่วงก่อนเข้าฤดูหนาวที่กลางวันสั้นกว่ากลางคืน และมีอุณหภูมิลดต่ำลง  ทำให้ใบหยุดกระบวนการสร้างอาหาร คลอโรฟิลล์ค่อยๆ สลายตัว สีเขียวของใบไม้จึงเริ่มจางลง ส่งผลให้รงควัตถุสีอื่นๆ ในใบไม้ เช่น สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีม่วง ที่ถูกบดบังจากสีเขียวในสภาวะปรกติ ปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น และหลังจากนั้นจะค่อยๆ ผลัดใบทิ้ง

  • ใบไม้เปลี่ยนสี มาช้าทั่วโลก

เนื่องด้วยในปีนี้อุณหภูมิของโลกพุ่งสูงขึ้นตนกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้กรุงโตเกียวมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ถึง 88 วัน ส่วนในเมืองนาโกยาเจออุณหภูมิสูงทะลุ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกไว้ 

ดูเหมือนว่าอุณหภูมิยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นสภาพอากาศแปรปรวนผิดฤดูกาลไปหมด ส่งผลให้ปรากฏการณ์ใบไม้เปลี่ยนสี หรือ “โคโย” (Koyo) จะอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีแทน และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ใบไม้เปลี่ยนสีจะไม่สดใสเหมือนเดิม กลายเป็นเพียงใบไม้แห้งคาอยู่บนกิ่งไม้เท่านั้น

ดร.โยชิฮิโระ ทาจิบานะ ศาสตราจารย์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยมิเอะ กล่าวว่า ในอนาคตญี่ปุ่นจะมีเพียงฤดูร้อนที่ยาวนาน และฤดูหนาวในช่วงสั้น ไม่มีฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูใบไม้ร่วงเลยก็ได้ แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องปรกติ แต่มันจะกลายเป็นสภาพอากาศ “ปรกติ” ของญี่ปุ่นในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น และขั้วโลกเหนือยังคงอุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ในสหรัฐ และแคนาดาก็ประสบปัญหาใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วงหรือ “Fall Foliage” มาช้ากว่าปรกติด้วยเช่นกัน ต้นไม้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นสีเขียว แม้ว่ามันควรจะเป็นสีอื่นๆ แล้วก็ตาม

  • ต้นไม้ปรับตัวไม่ทัน

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2021 ของนักวิจัยในสหรัฐพบว่า ใบเมเปิ้ลเปลี่ยนเป็นสีแดงช้าลงร่วมเดือน นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการเกิดหยาดน้ำฟ้า การแพร่ระบาดของแมลงและโรคระบาด ซึ่งทำให้คาดเดาช่วงเวลาของใบไม้เปลี่ยนสีได้ยากขึ้น

เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นนานขึ้น ทำให้ฤดูใบไม้ผลิมาเร็วกว่าปกติ ต้นไม้จึงมีช่วงการเจริญเติบโตที่ยาวนานขึ้น แต่กลับมีระยะพักตัวในฤดูใบไม้ร่วงที่สั้นลง ผลที่ตามมาคือ

ต้นไม้อาจไม่มีโอกาสดูดซับน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตที่ยังคงอยู่ในใบสีเขียว ก่อนที่น้ำค้างแข็งในฤดูหนาวครั้งแรกจะหมดลง ซึ่งอาจทำให้ต้นไม่มีอาหารเพียงพอจนถึงฤดูใบไม้ผลิถัดไป 

“ต้นไม้อาจไม่เคยชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ และใบไม้อาจร่วงหล่นก่อนที่พวกมันจะดึงสารอาหารออกไปจนหมด เปรียบเหมือนกับเราถูกแช่แข็งโดยไม่ทันตั้งตัว” ฮาวเวิร์ด นอยเฟลด์ นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐแอปพาเลเชียน เตือนภัยแล้งที่รุนแรง สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้ต้นไม้เกิดความเครียด หากแห้งแล้งมาก ใบไม้จะกลายเป็นสีน้ำตาลเพราะขาดน้ำ และร่วงหล่นตั้งแต่เดือนส.ค. เช่นเดียวกับสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น การเกิดพายุสามารถทำให้ใบไม้ร่วงลงจากต้นไม้หมดทั้งต้น

การศึกษาในปี 2003 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Tree Physiology นั้นระบุว่า "ความเครียดที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม" อาจเร่งการเสื่อมโทรมของใบไม้ได้ ความแห้งแล้งที่รุนแรงจะส่งผลกระทบต่อต้นไม้ หนึ่งในนั้นคือ การเกิดสภาวะที่เรียกว่า "ใบไม้แห้งเกรียม" เป็นช่วงเวลาที่ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเร็วเกินไป ใบไม้เปลี่ยนสีตั้งแต่เนิ่น ๆ และร่วงหล่นลงบนพื้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ฤดูกาลชมใบไม้สั้นลง และความสวยงามลดน้อยลง

เมื่อต้นไม้ไม่แข็งแรงพอ ก็จะดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์ได้ลดลง ขณะเดียวกันเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ยิ่งทำให้สภาวะเรือนกระจกรุนแรงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตสีของใบไม้เปลี่ยนสีอาจจะเปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากมีต้นไม้จำนวนหนึ่งที่ตายลง เพราะไม่สามารถปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า สีของต้นไม้ที่มีสีแดงจะอยู่บนเทือกเขาทางตอนเหนือ ส่วนทางใต้จะเป็นสีเหลืองทอง

นอกจากวิกฤติทางธรรมชาติแล้ว ช่วงเวลาใบไม้เปลี่ยนสีที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้การท่องเที่ยวสะดุดด้วยเช่นกัน เพราะการท่องเที่ยวในฤดูใบไม้ร่วงสามารถทำเงินได้หลายพันล้านดอลลาร์มาเข้าสู่ประเทศ โดยเฉพาะในปีนี้ที่พึ่งฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวต้องการไปเยี่ยมชมความสวยงามของธรรมชาติ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะโลกร้อนที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำลายการเกิดใบไม้เปลี่ยนสี และสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ทาจิบานะหวังให้คนตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

“แม้ว่าเราจะไม่สามารถหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างสมบูรณ์ และเราไม่สามารถหวังให้น้ำแข็งขั้วโลกกลับมาเป็นเหมือนเดิมในเร็ววัน

แต่เราทุกคนก็ยังจำเป็นต้องเปลี่ยนความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพราะเราจะต้องอยู่กับสภาพอากาศที่เลวร้ายยิ่งกว่าที่เราเผชิญในปีนี้"


ที่มา: Financial TimesJapan TodayNational GeographicVOA Thai

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์