“เกษตร” เล็งทุ่มพันล้านสร้างไซโล100 แห่ง รักษาสมดุลราคา - ความมั่นคงอาหาร

“เกษตร” เล็งทุ่มพันล้านสร้างไซโล100 แห่ง รักษาสมดุลราคา - ความมั่นคงอาหาร

การบริหารจัดการสินค้าเป็นโจทย์ทางธุรกิจที่หากแก้ได้ถูกที่ ถูกเวลา การสร้างผลตอบแทนที่ดีก็จะเกิดขึ้น ซึ่งในบริบทการบริหารจัดการระดับประเทศการบริหารจัดการสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรยิ่งมีความสำคัญ หากทำได้ดีหมายถึงเงินในกระเป๋าพี่น้องประชาชน

ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า เพื่อชะลอการจำหน่ายข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก และแก้ปัญหาเกษตรกรไม่มียุ้งฉาง “กรมการข้าว” อยู่ระหว่างดำเนินโครงการแก้มลิงเพื่อเก็บข้าวเปลือกไว้รอจำหน่ายจำนวน 100 แห่ง วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเก็บข้าวได้ในฤดูการเพาะปลูกปี 2567/68

“เกษตร” เล็งทุ่มพันล้านสร้างไซโล100 แห่ง รักษาสมดุลราคา - ความมั่นคงอาหาร

สำหรับโครงการแก้มลิงข้าวดังกล่าวจะกระจายอยู่ตามพื้นที่ที่ผลิตข้าวคุณภาพสูงคือ ข้าวหอมมะลิ 105 และกข.6 ในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะไซโล ที่มีเครื่องอบลดความชื้น กำลังการผลิตจะเหมาะสมกับผลผลิตแต่ละพื้นที่ แต่ต้องเก็บข้าวได้อย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมข้าวของเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการรับจำนำยุ้งฉางของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ซึ่งเบื้องต้นได้หารือกับธ.ก.ส.ไว้แล้ว และคาดว่าโครงการนี้จะดึงข้าวออกจากตลาดในช่วงเก็บเกี่ยวได้อย่างน้อย 30% หรือประมาณ 1.7 ล้านตันข้าวเปลือก

จากความพยายามบริหารจัดการสินค้าเกษตรผ่านการเก็บไว้ในไซโลหากสามารถทำได้จริงกลไกคลังสินค้าก็จะเข้ามามีบทบาทการดูแลสินค้าเกษตร ทั้งด้านราคา คุณภาพ หรือแม้แต่ความมั่นคงอาหารของประเทศ 

“เกษตร” เล็งทุ่มพันล้านสร้างไซโล100 แห่ง รักษาสมดุลราคา - ความมั่นคงอาหาร

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น ครั้งที่ 1/2566 ว่าได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดทำยุทธศาสตร์คลังสินค้า ไซโล และห้องเย็นสาธารณะ โดยให้ร่วมกับสมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น และบรรดาสมาชิก ร่วมกันจัดทำ 

โดยให้แนวทาง ประกอบด้วยการเชื่อมโยงข้อมูล การนำนวัตกรรมมาใช้ในการให้บริการ การปรับปรุงการให้บริการ และการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข่าวสารให้ผู้ประกอบการ และ SMEs มาใช้บริการคลังสินค้า ไซโล ห้องเย็น สาธารณะ ซึ่งยุทธศาสตร์จะเป็นแนวทางในการยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจ คลังสินค้า ไซโล และห้องเย็นสาธารณะ ให้เป็นกลไก สามารถช่วยเหลือ SMEs อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากบริหารให้มีประสิทธิภาพ จะเป็นการลดต้นทุนของ SMEs เท่ากับเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ

นอกจากนั้น ยังได้มอบหมายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงพาณิชย์ เพิ่มบทบาทในการให้บริการ SMEs และบริหารจัดการสินค้าที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ข้าว ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อบริหารจัดการให้สินค้าเหล่านี้ มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ เพื่อเป็น National Food Security โดยจะต้องทำงานสอดประสานกับยุทธศาสตร์คลังสินค้า ไซโล และห้องเย็นสาธารณะ ซึ่งทั้ง 2 เรื่อง มีจุดมุ่งหมาย เพื่อยกระดับการบริหารจัดการ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ

สำหรับคณะกรรมการกำกับคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น มีบทบาทในการออกประกาศ กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็นสาธารณะที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น พ.ศ.2558 จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกอบธุรกิจ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และยังต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งให้หน่วยงานของรัฐเร่งรัดตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบที่มีผลใช้บังคับก่อน 27 พ.ย.2562 ว่ามีบทบัญญัติที่ต้องออกกฎเพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามหรือไม่ และกรณีเป็นกฎที่หน่วยงานของรัฐนั้นดำเนินการให้แล้วเสร็จได้เอง ให้เร่งรัดให้แล้วเสร็จก่อน 27 พ.ย.2566

สำหรับผลการประชุมครั้งที่ 1/2566  ได้พิจารณาการออกประกาศคณะกรรมการฯ ภายใต้พระราชบัญญัติคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น พ.ศ.2558 เห็นชอบใน (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกำกับคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาตฝากเงินไว้ที่อื่นนอกจากที่ธนาคารหรือบริษัทเงินทุน ตามที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ เสนอ

 นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังได้พิจารณาการกำหนดอัตราค่าบำเหน็จในการเก็บรักษาสินค้าหรือให้บริการเกี่ยวกับสินค้าไม่ให้สูงเกินสมควร และให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ และการแข่งขันเสรี หากพบว่ามีเหตุอันสมควรให้เสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาการออกประกาศควบคุมก็จะดำเนินการต่อไป

การผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพและปริมาณที่ดี นับเป็นเรื่องที่ยากแล้ว การบริหารจัดการสินค้าให้ดี สามารถเข้าสู่ตลาดได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และคงคุณภาพที่ดีย่อมเป็นสิ่งที่ยากกว่า “คลังสินค้า และโลจิสติกส์”จึงเข้ามามีบทบาทที่สำคัญการพัฒนาให้โครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ของประเทศไทยดีขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศแข่งขันได้มากขึ้นด้วย 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์