"ไซโล" ทำให้ล้มเหลว แต่ก็ยังชอบใช้ | บวร ปภัสราทร
การแบ่งโควตากระทรวงต่างๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นข่าวคราวที่คุ้นเคยในแทบทุกครั้งที่จะมีรัฐบาลใหม่ จนดูประหนึ่งว่าการแบ่งแยกกันทำงานแบบต่างคนต่างทำ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเดินหน้าทำให้นโยบายที่หาเสียงไว้ ถูกนำมาปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมาได้
แต่ในความเป็นจริงเท่าที่เคยพบกันมานั้น ยิ่งแบ่งแยกกันทำมากเท่าใด โอกาสที่นโยบายจะกลายเป็นความจริงก็น้อยลงเท่านั้น
เพื่อให้เกิดความสำเร็จขององค์กร อย่างน้อยที่สุดแต่ละกลุ่มต้องเห็นตรงกันในเรื่องเป้าหมายที่มุ่งหวังให้บรรลุผล ถ้าต่างคนต่างทำ ต่างมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายที่แตกต่างกัน ก็จะไม่มีเป้าหมายร่วมกันใดๆ ที่จะบรรลุผลได้เลย
ถ้าแต่ละทีมทำงานแบบต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างมีอาณาจักรในการงานของตนเอง ต่างคนต่างไม่แบ่งปันข้อมูลกับคนอื่น บอกเฉพาะพรรคพวกเดียวกัน ฝรั่งเรียกการทำงานแบบนี้ว่า การทำงานแบบไซโล
ฝรั่งใช้ไซโลแยกเก็บผลผลิตทางการเกษตรในบ้านเมืองเขา พืชผลต่างชนิดย่อมต่างความต้องการในการเก็บรักษา ไซโลแต่ละแท่งจึงเสมือนต่างแท่งต่างอยู่ ทำงานแบบต่างคนต่างทำจึงถูกนำมาใช้เปรียบเทียบกับการมีไซโลหลายแท่ง โดยแต่ละแท่งมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป
การแบ่งแยกกันทำงานในลักษณะของ “ไซโล” หากเกิดขึ้นในองค์กร ไม่เพียงแต่จะลดโอกาสที่นโยบายต่างๆ ขององค์กรจะบรรลุความสำเร็จ แต่ยังสิ้นเปลืองทรัพยากรเกินกว่าที่ควรจะเป็น
เพราะมีการจัดทรัพยากรที่ซ้ำซ้อน มีคนที่ทำหน้าที่เดียวกันในทุกไซโลของงานย่อยๆ รวมทั้งยังทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นได้ยาก
เปลี่ยนเรื่องเล็กภายในแต่ละไซโลเปลี่ยนได้ แต่เรื่องใหญ่ที่กระทบไปทั้งองค์กร กระทบไปทุกไซโลจะแทบเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย
ไซโลจึงทำให้องค์กรปรับเปลี่ยนตัวเองได้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นรอบตัว การทำงานแบบไซโลแทบไม่มีข้อดีใดๆ กับองค์กร นอกเหนือไปจากการที่คนในไซโลเดียวกันมีความผูกพันระหว่างกันมากกว่าความผูกพันที่มีต่อองค์กร ทำให้มีโอกาสที่จะทุ่มเททำงานภายในขอบเขตของไซโลอย่างเต็มที่
แต่ทุกวันนี้ การงานแบบไซโลก็ยังปรากฏให้เห็นกันอย่างมากมาย ทั้งองค์กรเล็ก องค์กรใหญ่ ไซโลของการทำงานกลายเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใส่ใจแก้ไข
ความคิดของการทำงานแบบไซโลไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่ได้เริ่มต้นเกิดขึ้นจากคนทำงาน แต่ไซโลเริ่มขึ้นจากความไม่ไว้วางใจในระหว่างผู้นำระดับสูง
ที่มีผลให้เกิดการส่งเสริมให้การที่องค์กรมีโครงสร้างการทำงานที่แบ่งแยกบทบาทไปตามหน้าที่ หรือแบ่งแยกพื้นที่ทำงาน หรือแบ่งแยกกันดูแลแต่ละผลิตภัณฑ์
การบูรณาการทำงานจึงไม่เกิดขึ้น เพราะผู้นำต่างคนต่างไม่ไว้ใจกัน สรุปคือฉันทำของฉัน แกทำของแก เขตใครเขตมัน
ถ้าทรัพยากรที่ต้องใช้ในการทำการงานมีอย่างจำกัด และไม่มีแนวทางที่ทุกกลุ่มยอมรับได้ในการแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น หรือมีบางกลุ่มต้องการได้รับทรัพยากรมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยปราศจากเหตุผลสนับสนุนที่ดีเพียงพอ เมื่อเดินหน้าไปพร้อมกันทุกกลุ่มทุกพวกไม่ได้ ก็ต้องเลือกเดินหน้าเฉพาะการงานของฉันไปก่อน
ไซโลการงานจึงเกิดขึ้น และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามการแย่งชิงให้ได้รับการจัดสรรทรัพยากรในระหว่างกลุ่มต่างๆ
ถ้าองค์กรใดติดอยู่กับความไร้ประสิทธิภาพอย่างยาวนาน จะมีแนวโน้มที่จะยอมให้การงานกลายเป็นไซโลมากขึ้น ยอมให้มีการงานที่ซ้ำซ้อนเพื่ออำพรางความไร้ประสิทธิผลขององค์กรในภาพรวม ที่ไหนมีไซโล ที่นั่นมีการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพมาอย่างยาวนานแล้ว
ถ้าองค์กรใดมีการต่อสู้แย่งชิงที่จะเป็นผู้ดำเนินการงานใดงานหนึ่ง แย่งชิงเพื่อให้ได้ดูแลโครงการใดโครงการหนึ่ง การแย่งชิงกันนั้นจะถูกกลบเกลื่อนด้วยการแบ่งการงานออกเป็นไซโล ต่างคนต่างไปเป็นใหญ่เป็นโต ทำนั่นทำนี่ได้ดั่งใจในไซโลของตนเอง
ไซโลมุ่งเน้นการยกย่องความสำเร็จของปัจเจกบุคคล แทนที่จะมุ่งมั่นไปที่การยกย่องความสำเร็จของการร่วมทีมทำงาน หรือยกย่องความสำเร็จโดยรวมขององค์กร ไซโลก็จะเกิดขึ้นเพื่อเป็นกลไกส่งเสริมความสำเร็จให้เกิดขึ้นกับตนเองและกลุ่มของตน
ถ้าเลิกร้องเรียกหาแต่อัศวินม้าขาว หันมาเรียกหาทีมแชมป์แทน ไซโลก็จะเกิดขึ้นได้ยากขึ้น
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]