สื่อสารอย่างไร? ให้คนช่วยทำงาน | บวร ปภัสราทร
พูดให้เสียพรรคพวก มีตัวอย่างให้ดูมากมายในวันนี้ มีมากจนกระทั่งจดจำกันไปใช้กับคนรอบตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ ถามอะไรมาดี ๆ ก็ตอบกวนประสาทกลับไป ทั้ง ๆ ที่เป็นคนใหญ่คนโตที่ผู้คนอยากพึ่งพาหาคำตอบเพื่อให้ได้ทางออกในยามยาก
ถามดีตอบเลวกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่หลายคนทำไปโดยไม่รู้ตัว ทุกวันนี้หลายคนจึงหาพรรคพวกช่วยการงานอย่างเต็มอกเต็มใจยากขึ้น ถ้าใหญ่โตหน่อยก็ได้คนจำใจทำงานให้มากกว่าทุ่มเททำงานด้วยความเต็มใจ
ดั่งเดิมนั้นใครจะนั่งเก้าอี้ผู้บริหารมักได้เห็นตัวอย่างที่ดีในการสื่อสารให้ได้ใจคนร่วมงาน แต่วันนี้ตัวอย่างดี ๆ ให้เรียนรู้มีน้อยเต็มที ควรมาตั้งหลักทบทวนกันสักหน่อยว่า
ถ้าวันนี้ได้นั่งเก้าอี้ใหม่ที่ต้องมีบทบาทสำคัญในการนำองค์กร ซึ่งแน่นอนว่าการงานทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้กระทำอยู่เพียงคนเดียว แต่มีมากมายหลายคนช่วยกันทำให้เกิดการงานนั้นขึ้น
ท่านจะสื่อสารกับพรรคพวกร่วมงานของท่านอย่างไรให้ได้ใจพวกเขา จนพวกเขายอมเหนื่อยสู้งานยามยากไปกับท่านด้วยความเต็มอกเต็มใจ
ได้เป็นผู้นำองค์กรแล้วจะสื่อสารให้ได้ใจคนทำงานในวันนี้ต้องเริ่มต้นจากการพยายามละทิ้งความทรงจำเกี่ยวกับวิธีการสื่อสาร ที่ไม่ได้เรื่องของผู้นำบางคนที่ได้พบเห็นแทบทุกวันผ่านหลากหลายช่องทางติดต่อกันมายาวนาน
ในทำนองเดียวกับที่เราร้องเพลงตามเพลงโฆษณาที่ได้ยินเป็นประจำได้โดยไม่รู้ตัว จะละทิ้งความทรงจำแย่ๆที่ฝั่งหัวมานานหลายปีกระทำได้โดยการหาตัวอย่างดี ๆ มาดูให้มากกว่าที่ถูกยัดเยียดให้พบเห็นตัวอย่างเลว ๆ
ช่องทางไหนมีตัวอย่างของผู้นำที่สื่อสารแบบเลว ๆ ให้เห็นบ่อย ๆ ก็พยายามห่าง ๆ ไปบ้าง จะหาตัวอย่างผู้นำดี ๆในโลกนี้ยังพอหาได้ อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมช่วยได้ไม่น้อย พยายามใช้เวลากับตัวอย่างที่ดีในแต่ละวันให้มากกว่าตัวอย่างเลว ๆ จะได้ลบความทรงจำที่ฝั่งลงใต้สำนึกออกไป
เพื่อป้องกันไม่ให้ทำตามไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งผลที่ตามมาจากการเลียนแบบการสื่อสารแบบถามดีตอบเลวไปใช้กับพรรคพวกโดยไม่รู้ตัวเองนั้น มีความเสียหายที่แก้ไขความสัมพันธ์ให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ยากเย็นยิ่งนัก
ในวันที่นั่งเก้าอี้ผู้นำต้องมีสติมากขึ้นทุกครั้งที่ต้องสื่อสารเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้ามีปัญหาใด ให้พยายามสื่อสารคำตอบในการขจัดปัญหา อย่าสื่อสารปัญหา อย่าทำให้การสื่อสารกลายเป็นการตำหนิใครต่อใครที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น
ในหนึ่งชั่วโมงคนปกติทนฟังปัญหาได้แค่สองสามนาที ส่วนอีกห้าสิบกว่านาทีคนอยากฟังหนทางในการแก้ปัญหานั้นมากกว่า ผู้นำบอกหนทางแก้ปัญหา ไม่ตำหนิจนเป็นปัญหา
ผู้นำที่ดีพูดเมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องพูด อย่าหิวแสงจนเจอใครก็พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อย พูดเมื่อถึงเวลาต้องให้ความกระจ่างในการงานว่าใครต้องทำอะไร ต้องการให้เสร็จเมื่อไหร่ และพูดในเวลาที่คนร่วมงานพร้อมจะฟัง ไม่ใช่เวลาที่ตัวผู้นำอยากจะพูด
การเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการสื่อสารในเรื่องต่าง ๆ มีผลต่อจิตใจของคนร่วมงานมาก ยิ่งถ้าเป็นเรื่องสำคัญแล้วรีรอจนถึงเส้นตายค่อยมาบอก พรรคพวกคงตั้งตัวทำใจไม่ทันกับเรื่องสำคัญนั้น สื่อสารเรื่องเดียวกันผิดกาละ ผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกันมาก
สื่อสารโดยตรงกับคนที่ต้องสื่อสารเรื่องนั้น อย่าฝากผ่านคนอื่น เรื่องใดเกี่ยวกับคนไหนก็คุยกับคนนั้นโดยตรง ชอบหน้าคนนี้ ไม่ชอบหน้าคนนั้น เลยฝากคนที่ชอบหน้าไปบอกคนที่ไม่ชอบหน้าอีกต่อหนึ่ง ถ้าไม่กล้าพอจะบอกตรง ๆ กับคนที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่ฝากคนอื่นไปบอก เครดิตในการเป็นผู้นำจะหดหายไปหมด
คนร่วมงานส่วนใหญ่จะวางตัวห่างจากผู้นำที่สื่อสารแบบนี้ เหลือแต่ทีมขี้ประจบเท่านั้นที่เข้ามาล้อมรอบท่านผู้นำ แล้วทีมขี้ประจบนี่แหละที่จะไปเพิ่มความไม่ไว้วางใจในตัวผู้นำในหมู่คนทำงานให้มากขึ้น
เพราะคนทำงานเข้าไม่ถึงตัวผู้นำ มีอะไรเกิดขึ้นก็มโนกันไปต่าง ๆ จนผู้นำกลายเป็นคนไม่น่าทำงานด้วยในที่สุด
ถ้อยคำที่แสดงความเข้าใจคนทำงานเพียงสองสามคำให้คุณค่ามากกว่าคำเยินยอยืดยาวที่ไม่ตรงประเด็น ถ้าไม่เข้าใจว่าเขาทำอะไรกันอยู่แค่ขอบคุณที่เขาช่วยดีกว่าไปเพ้อเจ้ออะไรก็ไม่รู้.
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]