กสว. ปรับแผนวิจัยมุ่ง ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ แก้วิกฤติสิ่งแวดล้อม
บอร์ด กสว. อนุมัติปรับแผน ววน. ปี 2566 - 2570 เพิ่มเติมแผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบาย แก้ไขปัญหา 'วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม' และสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็น 'สังคมคาร์บอนต่ำ' และเป็นผู้นำอาเซียนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยมีวาระสำคัญคือ การอนุมัติการปรับปรุงแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ.2566 - 2570 สำหรับปรับปรุงคำของบประมาณปี 2567และคำของบประมาณปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจัดตั้งคณะทำงานทบทวนแผนด้าน ววน. โดย สกสว.ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการร่วมกับทีมวิจัย และทีมวิชาการของคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. หน่วยบริหารและจัดการทุน และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เสนอคณะอนุกรรมการจัดทำแผน ววน. ก่อนนำเสนอ กสว. โดยภาพรวมยุทธศาสตร์ได้ปรับปรุงวัตถุประสงค์ แผนงาน แผนงานย่อย และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (OKRs) ให้เหมาะสม ซึ่งจะมุ่งเน้นผลลัพธ์ผลกระทบจากการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์มากขึ้น
มุ่งเน้น 5 ประเด็นสำคัญ
ทั้งนี้ แผนงาน ววน. จะมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ 5 ประเด็นมากขึ้น ได้แก่
1. อาหารมูลค่าสูงและคุณค่าสูง
2. เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ระดับสูง
3. ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ปัญญาประดิษฐ์
4. พลังงาน
5. ระบบบริหารจัดการภาครัฐมากขึ้น
"โดยมีหน่วยงานขับเคลื่อนหลักที่รับผิดชอบคือ หน่วยบริหารและจัดการทุน และอาจจะหาผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับเข้ามาทำงานวิจัยมากขึ้น แต่ต้องมีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใส ปัจจัยสำคัญคือ การทำงานที่หลากหลายสาขาวิชาชีพ ความเชี่ยวชาญ และหลากหลายสถาบัน เป็นศูนย์กลางกำลังคนทักษะสูง ซึ่งทำให้เกิดความกระตือรือร้น และร่วมมือกันมากขึ้น เป็นจุดนำที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์” ประธาน กสว.ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘โลกสวย’ ด้วยมือเรา ร่วมเปลี่ยนผ่านสู่ 'สังคมคาร์บอนต่ำ'
- การท่องเที่ยว “คาร์บอนต่ำ” สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต
- โมเดล “ธุรกิจคาร์บอนต่ำ” เสริมขีดแข่งขันใหม่ทางการค้า
ประเด็นสำคัญคือ การเพิ่มเติมแผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบาย (Flagship) แก้ไขปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับถ้อยแถลง และเจตนารมณ์ของประเทศไทย ที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ และทุกวิถีทาง
ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และคำแถลงนโยบายรัฐบาลในการวางแผน และป้องกันวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม และสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำอาเซียนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ขณะที่สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้าน ววน. ปีงบประมาณ 2567 ได้กำหนดให้หน่วยงานให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อประเด็นมุ่งเน้นที่สำคัญ
ที่ประชุมยังเสนอแนวคิดศูนย์กลางของลูกค้า (Hub of customer) โดยให้มหาวิทยาลัยรวบรวมความต้องการจากภาคเอกชน โดยอาจตั้งชมรมอุตสาหกรรมรายสาขาในแต่ละพื้นที่ และจับคู่กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีความเข้มแข็งในการกำหนดทิศทาง และเสนอความต้องการแก่ภาครัฐ และภาควิชาการเพื่อตั้งโจทย์วิจัยได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น
สำหรับความก้าวหน้าในการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนหน่วยงาน กรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กสว. นั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการสรรหาที่คณะอนุกรรมการสรรหาฯ กำหนดเสร็จสิ้นแล้ว และจะรายงานต่อ อว. เพื่อพิจารณา และเสนอต่อ ครม. หรือสภานโยบายฯ เพื่อแต่งตั้งต่อไป ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาก่อน 90 วัน ตามระเบียบสภานโยบายฯ กำหนด
คาดว่าจะสามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กสว.ชุดใหม่ได้ก่อนการครบวาระของ กสว.ชุดปัจจุบันในวันที่ 6 มกราคม 2567 นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ประธาน กสว. และปลัด อว. เป็นผู้แทน กสว. ดำรงตำแหน่งกรรมการฯ เพื่อให้เห็นภาพรวมของงบประมาณดังกล่าว ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ใน อว.ทั้งหมด แต่มีจำนวนร้อยละ 80 ทั้งนี้จะนำเสนอรายชื่อต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
ขณะที่เสียงสะท้อนปัญหาการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานให้แก่นักวิจัย ซึ่งยังล่าช้าอยู่มากนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า สกสว.ควรติดตามผลว่ากระบวนการเบิกจ่ายของหน่วยงานว่าใช้เวลาเท่าไร และชี้แจงทำความเข้าใจเหตุผลในการเบิกจ่ายล่าช้า และขอให้ สกสว. ศึกษาวิธีการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเบิกจ่ายตรงผ่านระบบธนาคาร เมื่อรับเงินจากกองทุนไปแล้วสามารถเบิกจ่ายให้นักวิจัยทุกรายภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน โดยผู้แทนสำนักงบประมาณเสนอให้ประสานหน่วยงานเป็นลายลักษณ์อักษรเรื่องการเบิกจ่ายให้ทันแผนงาน เพื่อเตรียมข้อมูลชี้แจงกับฝ่ายนิติบัญญัติต้นปี 2567 ซึ่งผลการเบิกจ่ายจะนำไปสู่การเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2568 ด้วย ทั้งนี้ ประธาน กสว.ขอให้จัดทำเส้นทางการเงิน และเก็บสถิติในการส่งต่อให้หน่วยรับงบประมาณหรือมหาวิทยาลัย และนักวิจัย เพื่อให้เห็นช่องว่าง และดำเนินการแก้ไขต่อไปเพื่อให้เกิดวินัยทางการเงิน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์