“FAO” ชี้ 1/3 ผลผลิตประมงทิ้งให้สูญเปล่า แปลง ขยะจากปลา สู่ความมั่นคั่งอาหาร
“อาหารทะเล”เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยผลิตภัณฑ์ทั้งแช่แข็งและแปรรูป ปี2565 มีมูลค่าส่งออกมากถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์ และ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2566) มีมูลค่าส่งออกเป็นรายได้เข้าประเทศแล้ว 3.7 พันล้านดอลลาร์
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่มีแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญจากสัตว์น้ำในทะเล โดยเฉพาะปลาเป็นหลัก นับเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่น่าตกใจคือ สัตว์ทะเลที่จับขึ้นมาและเข้าสู่กระบวนการผลิตอาหารทั่วโลกนั้น มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ที่ต้องถูกทิ้งไปเป็น“ขยะ”
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ประมาณการว่าอาหารทะเลมากกว่า 1 ใน 3 สูญหายหรือสูญเปล่า ไปในกระบวนการทำประมงหรือในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเล ซึ่งสวนทางกลับการทำประมงทั่วโลกที่มากกว่า 92%ที่มุ่งจับสัตว์น้ำแบบเต็มศักยภาพหรือมากเกินความพอดี
"ความสูญเสียดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งจากในทะเลจากการแปรรูปสัตว์น้ำที่จับได้ขั้นต้นและบนบกจากการแปรรูปในโรงงานที่แม้ว่าโรงงานส่วนใหญ่สามารถส่วนเหลือของปลาไปใช้ในการผลิตปลาป่นหรือน้ำมันปลา ปัจจุบันการผลิตปลาป่นประมาณ 25-35% มาจากผลพลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล"
สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความต้องการพัฒนาและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านปริมาณและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูง โดยชิ้นส่วนสัตว์น้ำที่กำลังมีการพัฒนาคือ ผิวหนังและตับของสัตว์ทะเล และคาดว่าจะต้องเร่งการพัฒนาให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะ ความไม่มั่นคงด้านอาหารยังคงเป็นข้อกังวลอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะชุมชนชายฝั่งที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรทางทะเล สำหรับแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะสร้างโอกาสการจ้างงาน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการขยายขนาดของนวัตกรรมส่งผลไปถึงท้องถิ่น เพราะการเพิ่มมูลค่าโดยรวมของปลาคือการเพิ่มรายได้ให้คนจับปลานั่นเอง
ตัวอย่างความร่วมมือเพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้คุ้มค่า คือ กลุ่มมหาสมุทรไอซ์แลนด์ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรในไอซ์แลนด์และทั่วโลก เป็นผู้นำในการบรรลุการใช้ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของการประมงและสามารถสร้างงานประมาณ 700 ตำแหน่ง และเพิ่มมูลค่าตลาดของการประมงเป็นประมาณ 500 ล้านดอลลาร์
"สิ่งที่ทำคือสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านอาหารทะเลเพื่อเพิ่มการใช้และมูลค่าของปลาแต่ละตัว สนับสนุนโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มการจ้างงาน และลดของเสีย ผลิตภัณฑ์ใหม่"
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทสตาร์ทอัพ ที่ร่วมสนับสนุนแนวทางนี้ด้วยการใช้ชิ้นส่วนสัตว์น้ำมาเป็น วัสดุปิดแผล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องดื่มสไตล์โคล่าที่แซงหน้ายอดขายโคล่าแบรนด์ระดับพรีเมียมในไอซ์แลนด์ไปแล้ว ซึ่งนวัตกรรมผลพลอยได้จากปลากำลังได้รับความสนใจในประเทศชายฝั่งทะเลอื่นๆอีกมาก
ธอร์ ซีกฟุสสัน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Iceland Ocean Cluster กล่าวว่าการเคลื่อนไหวเพื่อลดการสูญเสียจากการประมงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจที่ดี การจัดการประมงที่ยั่งยืน และระบบอาหารที่เหมาะสมต่อโลก โดยภารกิจของกลุ่มคือการนำภาคส่วนอาหารทะเลนามิเบียและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นพันธมิตรมารวมกันในฟอรัมความร่วมมือที่ไม่มีการแข่งขัน ซึ่งเชื่อร่วมกันในการทำงานเพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์สูงสุดจากอาหารทะเล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การส่งเสริมโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ การวิจัย วิธีการ และการตลาด
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้ประโยชน์สูงสุดจากอาหารทะเลในประเทศไทยนั้นทำได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกทูน่ากระป๋องเป็นลำดับ 1 ของโลกประเทศไทยสามารถใช้ชิ้นส่วนของปลาไม่ว่าจะเป็นเกล็ดปลา กางปลาไปจนถึงเลือดปลา ที่เหลือจากการทำปลากระป๋องสามารถมาใช้ประโยชน์ทั้งหมดเพราะส่วนต่างๆเหล่านี้มีคุณค่าทางอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก
ชิ้นส่วนปลานำไปเปลี่ยนเป็น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สารสะกัดต่างๆในอาหารเสริม เป็นส่วนผสมอาหารสุนัขและแมว ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ 100% เป็นไปตามเป้าหมาย BCG ( เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ของไทยได้อย่างยั่งยืน
"ผลที่ได้คือ อุตสาหกรรมอาหารที่ไม่เหลือ Food Lost และสามารถสร้างอาชีพหรือการสร้างงานในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นจำนวนมากจากการใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนของปลาได้อีกด้วย"
เมื่อ“อาหาร”เริ่มหายาก แม้แต่“อาหารจากท้องทะเล” การจัดการอุตสาหกรรมประมงและอาหารแปรรูปที่ให้มีของเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด หรือไม่มีเลย เป็นแนวทางที่จะส่งผลระยะยาวต่อการ“ผลิตอาหารและความมั่นคงทางโภชนาการ”เพิ่มขึ้น เมื่อปลามีมูลค่าสูงขึ้น ผลก็ส่งมาที่เศรษฐกิจก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย