'เอ็กโก' ชู 'หลักสิทธิมนุษยชน' เติบโตบนความเสมอภาค และยั่งยืน
เอ็กโก กรุ๊ป ชูนโยบาย 'สิทธิมนุษยชน' สิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ ทั้งด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การไม่เลือกปฏิบัติ การต่อต้านการล่วงละเมิด และความหลากหลายในสังคม
การเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ที่ต้องให้ความสำคัญไม่เพียงแค่พนักงานในองค์กรเท่านั้น แต่ยังต้องครอบคลุมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม คู่ค้า ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สะท้อนถึงนโยบาย ขององค์กร รวมถึง การตัดสินใจของนักลงทุน ที่มองเรื่องความยั่งยืนเป็นสำคัญ
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป (EGCO) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพลังงานมากกว่า 31 ปี การเคารพสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ถือเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลกิจการ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ และถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร
ทั้งนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดทำนโยบายสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับกฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน และหลักปฏิบัติทั้งต่อพนักงาน และคู่ค้า ตามแนวทางปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีกระบวนการตรวจสอบสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านอย่างสม่ำเสมอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'ไอ.ซี.ซี.' ผุดสถานีชาร์จ Shell Recharge เอาใจพนักงานใช้รถอีวี
- “eTree” แพลตฟอร์มป่าปลูก ล้อมรักษ์ป่าไม้เพื่อเป้าหมายความยั่งยืน
- BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดชุบชีวิตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย
ความเสมอภาคที่ทุกคนควรได้รับ
'อุรุวสี สุประกอบ' ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ให้สัมภาษณ์กับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า เอ็กโก กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางธุรกิจ ดังนั้น นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน จึงครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกด้านทั้งบริษัทในเครือ บริษัทร่วม คู่ค้า ในการรับทราบนโยบายและนำไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน เพราะการเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาค ทั้งด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การไม่เลือกปฏิบัติ การต่อต้านการล่วงละเมิด และความหลากหลายในสังคม
นโยบายสิทธิมนุษยชนของ 'เอ็กโก กรุ๊ป' สอดคล้องกับกฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นหลักการชี้แนะนำว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (United Nations Universal Declaration of Human Rights: UNDHR) อนุสัญญาหลักด้านสิทธิแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization Conventions: ILO Conventions)
และกรอบการร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Principles of the United Nations Global Compact: UNGC) โดยมุ่งมั่นปกป้อง และต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการล่วงละเมิดอื่นๆ อย่างเคร่งครัด ตลอดจนไม่สนับสนุนการเลือกปฏิบัติ การห้ามการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้พนักงานสามารถแสดงสิทธิเสรีภาพในการสมาคม และเจรจาต่อรองได้ในสถานที่ทำงาน สนับสนุนค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับพนักงานทุกคน และสนับสนุนสิทธิอื่นๆ อาทิ การกำหนดชั่วโมงการทำงานอย่างเป็นธรรม
หนุนความหลากหลายในองค์กร
ทั้งนี้ การให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน จากจะสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ยังเพิ่มศักยภาพในการบริหารความเสี่ยง ดึงดูดนักลงทุน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้ง การเคารพในความหลากหลาย และไม่เลือกปฏิบัติจะลดทอนความไม่เท่าเทียมในสังคม สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ความปลอดภัย สุขอนามัยที่ดีภายในองค์กร
อุรุวสี กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของพนักงาน นอกจากจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานแล้ว ยังเสริมสร้างประสิทธิภาพของการทำงาน เมื่อบริษัททำการสรรหาว่าจ้าง ในการสมัครจะไม่มีการระบุเพศ อายุ ส่วนสูง เชื้อชาติ ศาสนา เมื่อมีตำแหน่งว่าง จะประกาศเพียงคุณสมบัติ อายุงาน ไม่จำกัดว่าต้องเฉพาะผู้หญิงหรือผู้ชาย โดยมีการสื่อสารเรื่องนี้โดยตรงกับหัวหน้างาน
ขณะเดียวกัน ยังมีการส่งต่อแนวคิดดังกล่าวไปสู่พนักงาน โดยจัดการอบรมสื่อสารให้พนักงานทราบเป็นระยะ ที่ผ่านมา มีการจัด ESG101 ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน สื่อให้เข้าใจเรื่อง DEI คือ Diversity (ความหลากหลาย) Equity (ความเท่าเทียม) และ Inclusion (การเปิดรับความหลากหลาย) ผ่านทั้งออนไลน์ ออนไซต์ กิจกรรมเวิร์กชอป และ E-Learning สำหรับคนที่ไม่ได้เข้าอบรม
รวมถึง สื่อสารกับคู่ค้าเพื่อให้รับทราบแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับ เอ็กโก กรุ๊ป นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนในการตรวจประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านเป็นประจำทุก 3 ปี และจะมีการทบทวนประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานเป็นประจำทุกปี เพื่อให้แน่ใจว่าแผนงาน และมาตรการป้องกันความเสี่ยงฯ มีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
5 ขั้นตอน การดำเนินงาน
เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินกระบวนการตรวจสอบสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
1) การสื่อสารและประกาศความมุ่งมั่นด้านสิทธิมนุษยชนเชิงนโยบาย
2) การประเมินความเสี่ยง และผลกระทบ ด้านสิทธิมนุษยชน
3) บูรณาการผลการประเมินกับการบริหารภายในองค์กร
4) การติดตามผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน
5) การเยียวยา และกำหนดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน
“ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเศรษฐกิจ การมีวัฒนธรรม ค่านิยมองค์กรที่ดี เช่น เคารพในเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือการไม่เลือกปฏิบัติ นโยบายเรื่องเหล่านี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกจากภายในองค์กรสู่ภายนอกองค์กร ในภาคธุรกิจเราสามารถส่งเสริมความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจของธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เป็นธรรม และมีการเติบโตร่วมกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุดท้าย สร้างความเชื่อมั่นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลดความขัดแย้งระหว่างองค์กรธุรกิจ นำไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน” อุรุวสี กล่าวทิ้งท้าย
องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน
ล่าสุด EGCO คว้ารางวัล 'องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566' ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ระดับดี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยชูการพัฒนานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านและครอบคลุม เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) และต่อต้านการล่วงละเมิด (Anti-harassment)
สำหรับการพิจารณามอบรางวัล 'องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน' ดำเนินการโดย คณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาชนสังคม ที่ดำเนินงานตามภารกิจโดยเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่นๆ ในการส่งเสริมสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน โดยมีองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลฯ ประจำปี 2566 รวมทั้งสิ้น 109 รางวัล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์