'โลกร้อน' ไม่หยุด! กระทบแม่น้ำโขง - ไนล์ - มิสซิสซิปปี เสี่ยงจมหายใต้ทะเล
อีกหนึ่งผลกระทบจาก "โลกร้อน" คือ พื้นที่ลุ่มต่ำแถบแม่น้ำโขง แม่น้ำไนล์ แม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของโลกกำลังจมหายไป นักวิทย์คาดว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 8-29 เซนติเมตร ในปี 2030 และจะสูงขึ้นถึง 70 เซนติเมตร ในปี 2070
ปี 2566 กำลังจะผ่านพ้นไป แต่ปัญหาโลกร้อนก็ยังคงอยู่ และในปีต่อๆ ไปก็มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนก่อนมีรายงานข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานด้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก” ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประมาณการว่า ภายใต้สภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ทำให้ “ระดับน้ำทะเล” เฉลี่ยทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 8-29 เซนติเมตร ภายในปี 2030 โดยประเทศบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
โดยเฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ เช่น แม่น้ำมิสซิสซิปปี แม่น้ำโขง และแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของโลก กำลังจมลงใต้ทะเล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกนำมารายงานบนเวที Climate Ambition Summit 2023 หรือการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา
เดนนิส ฟรานซิส นักการทูตผู้มีประสบการณ์จากตรินิแดด และโตเบโก หนึ่งในบุคคลสำคัญในวงประชุมครั้งนี้ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การคาดเดาหรือเป็นเรื่องเกินจริง แต่มันกำลังเกิดขึ้นแล้ว และจะเห็นปรากฏการณ์นี้ในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะเล็กๆ หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำ ได้เร็วกว่าประเทศอื่นของโลก (อ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : IPCC)
- อู่ข้าวอู่น้ำของโลกกำลังจมหายไป กระทบ 900 ล้านคนทั่วโลก
เดนนิส เตือนว่า สถานการณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้ผู้คนจำนวน 900 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในเขตชายฝั่งทะเล (พื้นที่ลุ่มต่ำ) มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียบ้านเรือน เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และอาจเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ขยายพื้นที่ไปไกลเกินกว่าชุมชนชายฝั่ง อีกทั้งยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ครอบคลุมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่จะยิ่งร้อนขึ้นอีกเรื่อยๆ จนส่งผลให้ธารน้ำแข็งบนภูเขา และพื้นที่แผ่นน้ำแข็งหลายแห่งบนโลกละลายอย่างหนัก จึงมีการคาดการณ์ในอนาคตว่า ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นอีกถึง 70 เซนติเมตร ภายในปี 2070
“เราไม่เพียงเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน และบ้านเรือน แต่หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็จะทำให้มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานของเกาะ และภูมิภาคเหล่านี้ ซึ่งช่วยกำหนดอัตลักษณ์ของผู้คนหายไปจากโลกด้วย” เดนนิส กล่าว พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำทุกประเทศทั่วโลก ยกระดับการดำเนินงานทุกมิติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้จริงจัง และรวดเร็วมากกว่านี้
- "ระดับน้ำทะเล" หากยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ชายหาดทั่วโลกจมหายไป ภายในปี 2100
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2020 ก็เคยมีรายงานคาดการณ์เกี่ยวกับระดับน้ำทะเลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเป็นงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้ “หาดทราย” มากกว่า 1 ใน 3 ของโลกจมหายไป ภายในปี 2100
“เนื่องจากหาดทรายมักทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันพายุชายฝั่งและน้ำท่วม และหากไม่มีชายหาดเหล่านี้ ผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วก็อาจจะสูงกว่านี้” มิชาลิส วูดูคัส นักวิจัยจากศูนย์วิจัยร่วมของคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวผ่านสำนักข่าวเอเอฟพี
มิชาลิส ยังบอกอีกว่า ปัญหาเรื่องชายฝั่งทะเลกำลังจะจมหายไปนั้น สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังวางแผนระบบการป้องกันอย่างเต็มที่ แต่ในอีกหลายๆ ประเทศส่วนใหญ่ แผนการทางวิศวกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้อาจเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง และต้องใช้นวัตกรรมที่ล้ำหน้ามาก
ทั้งนี้ ผลการวิจัยระบุด้วยว่า “ออสเตรเลีย” อาจได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากมีแนวชายฝั่ง (พื้นที่ลุ่มต่ำ) ที่มีหาดทรายขาวยาวเกือบ 15,000 กิโลเมตร (มากกว่า 9,000 ไมล์) กำลังจะถูกคลื่นซัดหายไปในอีก 80 ปีข้างหน้า ตามมาด้วยชายฝั่งของประเทศแคนาดา ชิลี สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก จีน รัสเซีย อาร์เจนตินา อินเดีย และบราซิล
- ไม่ใช่แค่แม่น้ำสายหลักของโลกจะหายไป แต่กรุงเทพฯ ก็อาจไม่รอด!
ส่วนประเทศไทยนั้น มีรายงานจากเว็บโซต์ The Asean Post ที่ตั้งสมมติฐานว่า หากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส โดยไม่มีมาตรการเตรียมพร้อม คาดว่าประมาณ 40% ของพื้นที่กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมจากฝนตกชุก และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 15 เซนติเมตรในปี 2573
นอกจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากโลกร้อน จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมง่ายขึ้นแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุก็คือ "ผังเมืองที่แออัดของชุมชน" ในกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ มีพื้นที่สีเขียว และพื้นที่ชุ่มน้ำลดลง เมื่อมีน้ำเหนือไหลหลากมาหรือมีปริมาณน้ำฝนในพื้นที่มาก ก็จะทำให้ไม่มีพื้นที่รองรับน้ำไม่เพียงพอ
ขณะที่ข้อมูลจาก กรีนพีซ เอเชียตะวันออก ก็รายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า พื้นที่พักอาศัย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ มีความหนาแน่นสูง จึงทำให้เกิดอุทกภัยอุบัติซ้ำซากบ่อยครั้ง หากปล่อยไว้แบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่แก้ไข อาจมีผลให้ภายในปี 2573 พื้นที่กว่า 96% ของกรุงเทพฯ จะเจอน้ำท่วมใหญ่ จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในปริมาณมาก และความเข้มข้นรุนแรงของพายุที่มากขึ้น
ก็ได้แต่หวังว่าปีหน้า และปีต่อๆ ไป รัฐบาลนานาชาติทั่วโลกรวมถึงไทย จะเร่งดำเนินงานร่วมกันเพื่อหาทางลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนให้น้อยลงได้ในที่สุด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์