“กรุงเทพฯ” เหลือเวลาเพียง 13 ปี ก่อนจมน้ำถาวร!?
"กรุงเทพฯ" กับการรับมือ "อุทกภัย" ซึ่งเคยคาดการณ์ไว้ว่าเหลือเวลาเพียง 13 ปี สำหรับการเตรียมความพร้อม ไม่เช่นนั้นอาจจมน้ำถาวร!
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ขณะนี้ ที่เกิดขึ้นทั้งไม่ว่าจะเป็นในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางตอนบน โดยคาดว่าพื้นที่ปริมณฑลหรือบริเวณโดยรอบของกรุงเทพฯ จะต้องเจอกับมวลน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลลงมาจากทางตอนบนของประเทศ จนมีการตั้งข้อสงสัยกันว่า แล้วปีนี้ “กรุงเทพฯ” จะมีน้ำท่วมใหญ่ คล้ายกับช่วงมหาอุทกภัยในปี 2554 หรือไม่?
และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความกังวลทำนองนี้วนกลับมาอีกครั้ง แต่ไม่ว่า กรุงเทพฯ จะเอาตัวรอดในครั้งนี้ไปได้ ประเด็น “อุทกภัย” ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรเลิกให้ความสนใจ เพราะด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม และเป็นเมืองหลวงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น
ที่ผ่านมา ก็มีนักวิชาการหลายสำนักออกมาเตือนถึงประเด็น “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” หลายต่อหลายครั้ง
โดยเฉพาะมีการศึกษาทางวิชาการในปี 2552 ที่อ้างอิงโดยมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า “กรุงเทพฯ เหลือเวลาอีกเพียง 25 ปี ในการเตรียมแผนการป้องกันก่อนที่กรุงเทพฯ จะจมน้ำ”
จากการพยากรณ์ดังกล่าว หากเป็นไปตามนั้นจริง เมื่อนับมาถึงปัจจุบัน ในปี 2564 นี้ ก็เท่ากับว่า เราเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 13 ปี เท่านั้น!?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทั้งนี้ ปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ไม่ได้มาจาก "ปริมาณน้ำฝน" เพียงอย่างเดียว อีกปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ "การทรุดตัว" ที่รวดเร็วของพื้นที่ ซึ่งปัจจัยนี้จะมีผลทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลลงไปมากกว่าเดิม
สภาพพื้นที่ของกรุงเทพมหานครนั้นเป็นที่ราบลุ่ม หรือที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ มีความลาดเอียง จากทิศเหนือสู่อ่าวไทยทางทิศใต้ โดยบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้าเจ้าพระยาตอนล่างจะอยู่สูงกว่าระดับทะเลไม่เกิน 1.50 เมตร
กรมทรัพยากรธรณี และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เคยทำสำรวจช่วงปี 2521-2524 พบว่า มีการทรุดตัวมากกว่าปีละ 10 เซนติเมตร ขณะที่ ข้อมูลของการสำรวจโดยกรมแผนที่ทหารนั้น จะพบว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521-2551 กรุงเทพมหานคร มีระดับการทรุดตัวสะสมมากกว่า 1 เมตร โดยมีการทรุดตัวสะสมประมาณปีละ 2-3 เซนติเมตร
นอกจากนั้น สาเหตุของน้ำท่วมยังเกิดจากการที่โลกประสบกับปัญหา Climate change ทำให้ "ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น" เหตุการณ์นี้จะมีผลทำให้น้ำในอ่าวไทยอาจหนุนสูง ซึ่งปัจจัยนี้ คือ องค์ประกอบที่ทำให้เกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 มาแล้ว
จากเว็บโซต์ The Asean Post ได้มีการตั้งสมมติฐานว่า หากมีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 4 องศาเซลเซียส โดยไม่มีมาตรการเตรียมพร้อม คาดว่าประมาณ 40% ของพื้นที่กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมจากฝนตกชุก และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 15 เซนติเมตรในปี 2573
อีกประเด็นที่สำคัญที่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุ คือ "ผังเมืองและความแออัดของชุมชน" แนวโน้มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ชุ่มน้ำที่ลดลงของกรุงเทพฯ ทำให้เมื่อมีน้ำเหนือไหลหลากมาหรือมีปริมาณน้ำฝนในพื้นที่มาก มีผลให้ไม่มีพื้นที่รองรับน้ำไม่เพียงพอ
ข้อมูลจากรายงานของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออก ที่ระบุว่า ความหนาแน่นสูงของพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ใจกลางเมือง หากเกิดอุทกภัยอุบัติซ้ำ อาจมีผลให้ภายในปี 2573 พื้นที่กว่า 96% ของกรุงเทพฯ น้ำท่วม จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในปริมาณมาก และความเข้มข้นรุนแรงของพายุที่มากขึ้น
จาก 4 ปัจจัยทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เห็นได้ว่า กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงต่อการจมลงใต้มหาสมุทร และกรุงเทพฯ อาจจะมีเวลาเตรียมตัวที่น้อยกว่า 13 ปี หากปัจจัยทั้งหมดเอื้อให้เกิดการน้ำท่วมใหญ่บ่อยครั้ง
ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอแนวทางเตรียมพร้อมและรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยนักวิชาการจากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่ได้ทำการเสนอไว้ตั้งแต่ปี 2555 ดังนี้
- อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อบัญญัติ “พระราชกำหนด ระบบเตือนภัย ป้องกันภัย และบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะแบบมีส่วนร่วม”
- มาตรการหรือข้อกำหนดทางผังเมือง ที่บัญญัติขึ้นเพื่อจัดการและป้องกันภัยพิบัติ อันคำนึงคุณภาพชีวิตอันดีหรือความปลอดภัยของส่วนรวมสำคัญกว่าเหตุผลอื่นใด
- มาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง เช่น คันล้อมเมือง (Polder) เขื่อนและพนังกั้นน้ำ (Levees and Floodwalls) และคลองผันน้ำเลี่ยงเมือง (By-pass floodways) และมาตรการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง เช่น มาตรการเชิงสังคม เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2564 นี้ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงว่า “เขื่อนหลัก” 4 แห่งรอบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงสามารถรองรับน้ำได้อยู่ จากการคำนวณที่พบว่า สัดส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนต่อขนาดอ่างทั้งหมด ยังอยู่เพียงแค่ 47% เท่านั้น
ขณะที่ แผนรับมือน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครนั้น ข้อมูลจาก สำนักการระบายน้ำ ที่วิเคราะห์ความเสี่ยงน้ำท่วมของ กทม. มีด้วยกันทั้งสิ้น 3 ปัจจัยหลัก คือ
น้ำฝน ที่ผ่านมา กทม.ได้ใช้หลักการวิศวกรรมมาช่วยการระบายน้ำโดยสร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe Jacking) เพิ่มจากท่อระบายน้ำเดิมไหลลงสู่พื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดินให้เร็วขึ้น ก่อนจะไหลลงอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อระบายน้ำออกสู่คลองและแม่น้ำเจ้าพระยา
น้ำเหนือ ในช่วงฤดูฝนของทุกปีจะมีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองสายหลักทางฝั่งตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพฯ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองต่างๆ มีระดับสูงขึ้นจนล้นเข้าท่วมพื้นที่
กทม.ได้สร้าง "แนวป้องกันน้ำล้นตลิ่ง" ตามแนวริมฝั่งแม่น้ำ และสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นบริเวณปากคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันไม่ให้ "น้ำไหลย้อน" กลับเข้ามายังระบบคลอง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ช่วยสูบน้ำออกให้เร็วมากขึ้น
กระทั่ง น้ำหนุน ปรากฏการณ์ธรรมชาติ "น้ำขึ้น-น้ำลง" ในทะเล กทม.ได้เร่งก่อสร้างแนวทางป้องกัน "น้ำทะเลหนุน" ตามแนวป้องกันน้ำล้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาความยาวประมาณ 78 กิโลเมตร รวมถึงปรับ "ประตูระบายน้ำ" ปิดกั้นป้องกันน้ำที่น้ำไหลเข้าพื้นที่ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ช่วยสูบน้ำออกให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องคอยติดตามสถานการณ์ต่อไป และไม่ใช่สถานการณ์เพียงในช่วงระยะเวลานี้ แต่ยังคงต้องจับตาถึงการเตรียมพร้อมด้านนโยบายของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กับแนวโน้มอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งหลังจากนี้ เพราะไม่เช่นนั้นกรุงเทพฯ อาจจมน้ำโดยไม่ทันตั้งตัว
อ่านเพิ่มเติม
- การกำหนดมาตรการด้านผังเมือง โดย จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ และ สำราญ มีสมจิตร มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
- คาดพื้น ‘กรุงเทพ’ 96% เสี่ยงน้ำท่วมภายในปี 73 - กรุงเทพธุรกิจ
- วิเคราะห์ข้อแตกต่าง น้ำท่วมปี 54 และ 64 - ข่าว 3 มิติ
- Bangkok Is Sinking Fast - The Asean Post