“เวิลด์แบงก์”เตือนไทยรับมือภัยธรรมชาติ ห่วงเสียหายเเรงขึ้น2 เท่า
ปัจจุบันพื้นที่ที่อยู่ของประชาชน รวมถึงพื้นอุตสาหกรรมส่งออกโดยรอบยังคงมีความเสี่ยงที่ ต้องเผชิญกับอุทกภัยแม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการควบคุมแล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการลงทุนของต่างประเทศรวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนได้ในอนาคต
ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่า การรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศไทย และหลายประเทศในอาเซียนมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านอุทกภัยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก รองจากเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา
โดยความเสี่ยงดังกล่าวสะท้อนจากดัชนีการบริหารความเสี่ยง (INFORM Index) ที่ระบุว่าเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 680 ราย ส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ 13 ล้านคน และสร้างความเสียหายและความสูญเสียต่อ เศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6 % ของ GDP
สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) ระบุว่าเมื่อ2563ได้ประเมินความสูญเสียจากอุทกภัยเฉลี่ยต่อปี คิดเป็นมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์
โดยในปัจจุบันกรุงเทพฯ และพื้นที่อุตสาหกรรมส่งออกโดยรอบยังคงมีความเสี่ยงที่ จะต้องเผชิญกับอุทกภัยแม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการควบคุมแล้ว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากการขาดแคลนปริมาณน้ำฝน การลดลงของปริมาณน้ำในแม่น้ำผิวดินและใต้ผิวดิน รวมทั้งการจัดการที่ดินที่ไม่มี ประสิทธิภาพ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มความถี่และความรุนแรงของปัญหาอุกทกภัยมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่า แบบจำลองจะยังมีความไม่แน่นอน แต่การคาดการณ์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝนต่อปี นอกจากนี้ ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวต่อปัญหา อุทกภัย และค่าความผิดปกติของฝนในปี 2560 ที่สูงเกินกว่าในปี 2554 แล้ว
สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานน้ำแห่งชาติทรัพยากร (สทนช.) กล่าวในงาน Workshop on Lower Chao Phraya River Flood Risk Management and Mitigation จัดโดย ธนาคารโลกแห่งประเทศไทย ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารของโลก ผลกระทบของน้ำท่วมในไทยโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มตอนล่าง ใกล้ทะเล ที่ต้องการการจัดการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ
มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในหลายๆด้าน รวมถึงการสร้างความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ การร่วมมือกันของภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้นได้มีการเตรียมพร้อมการรับมือผ่านแผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ซึ่งสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืนและเตรียมรับมือภัยแล้งและน้ำท่วม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความสำคัญต่อสุขภาพความเป็นอยู่ เศรษฐกิจและสังคมของประชาชนด้วย
ด้าน สาโรจ กุมาร จา ผู้อำนวยการ Water Global ธนาคารโลก กล่าวว่า ในปี 2570 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำ เช่น น้ำท่วมก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนของประเทศอย่างมหาศาลด้วย
“การกักเก็บน้ำทั่วโลกนั้นมีอยู่ประมาณ 27,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าประชากร 50 เท่า แต่ในอนาคตจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โอกาสเกิดปัญหาขาดแคนน้ำจึงมีอยู่และจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ได้ จึงต้องเตรียมแผนรับมือไว้อย่างรัดกุมและครบถ้วน”
ชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยมักจะเกิดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้นทุกปี ดังนั้นแนวคิดการบรรเทาอุทกภัยด้วยมาตรการเชิงโครงสร้างและไม่ใช่เชิงโครงสร้างที่จะมาช่วยบรรเทาอุทกภัยแบ่งออกดังนี้
1. ปรับรูปแบบการปลูกพืชในพื้นที่ราบต่ำเพื่อลดความเสียหายและชะลอน้ำท่วม 2. ส่งเสริมให้ประชาชนปรับตัวรับมือน้ำท่วม (ยกชั้นใต้ดิน, พื้นที่อพยพ / สะพานเดิน/ส้วมลอยน้ำ) 3. การเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ เช่น บริเวณ แม่น้ำที่คอขวด การใช้คลองผันน้ำบางบาล-บางไทร เพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของระบบชลประทานที่มีอยู่ และ 4.ลดการปล่อยน้ำท่วมไปยังพื้นที่เป้าหมาย
มีการประเมินว่า กรณีที่ไม่มีมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยที่จะเกิดกับประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะรุนแรงกว่าเป็นสองเท่าของปี 2554 ดังนั้นการรู้เท่าทันและปรับตัวแต่ตอนนี้ด้วยการจัดการกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ให้ได้มากที่สุด