‘หมีรัสเซีย’ เดินมึนง่วงซึมไปทั่ว เหตุ ‘โลกร้อน’ เกินกว่าจะจำศีลได้?
จะเป็นอย่างไร เมื่ออากาศร้อนเกินไปจน “หมีรัสเซีย” ส่วนใหญ่ไม่สามารถจำศีลได้ตามธรรมชาติ ? นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าสภาพอากาศแปรปรวนจาก “โลกร้อน” ในปัจจุบัน กำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสัตว์ขั้วโลก
Key Points:
- “หมี” หลากหลายสายพันธุ์ใน “รัสเซีย” กำลังเผชิญปัญหาจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้พวกมันไม่สามารถจำศีลในฤดูหนาวได้ตามวงจรชีวิตปกติที่เคยเป็น
- การที่หมีจำนวนมากไม่สามารถใช้ชีวิต “ช่วงจำศีล” ในที่อยู่ของมันได้ ส่งผลให้พวกมันออกมาเดินในสภาพ “กึ่งหลับกึ่งตื่น” อยู่รอบๆ รังของมัน
- ไม่ใช่แค่รัสเซียเท่านั้น แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปัญหา “หมีนอนไม่หลับ” กำลังลุกลามไปยัง “หมีในรัฐอะแลสกา” ของสหรัฐด้วยเช่นกัน
เกิดเหตุการณ์ที่แปลก และไม่สู้ดีเท่าไรนัก เมื่อหมีหลากหลายสายพันธุ์ในภูมิภาคอามูร์ (Amur Region) ของรัสเซีย ออกมาเดินไปมาในสภาพ “กึ่งหลับกึ่งตื่น” เนื่องจากอุณหภูมิในรัสเซียช่วงนี้สูงขึ้นจนทำให้พวกมันไม่สามารถจำศีลได้ตามปกติ และน่าเป็นห่วงว่าพวกมันอาจนอนหลับได้ไม่เต็มอิ่มในฤดูกาลจำศีลนี้
ทั้งนี้ ภูมิภาคอามูร์ เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตไซบีเรียที่กว้างใหญ่ และมีอากาศหนาวเย็น ตามปกติแล้วพื้นที่นี้ในช่วงเดือนพ.ย. ของทุกปีจะเป็นเดือนที่มีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการ “จำศีล” ของบรรดาหมีในไซบีเรีย พวกมันจะหลบหนีความหนาวเย็นอันทารุณไปอยู่ในถ้ำ และนอนหลับยาวๆ อย่างอบอุ่น ก่อนที่จะออกมาใช้ชีวิตตามปกติในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
มีรายงานของกระทรวงคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งภูมิภาคอามูร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ตอนนี้จะยังอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงก่อนจะเข้าสู่ฤดูหนาวเต็มตัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มสะสมไขมันสำรองในร่างกายของหมีให้มากพอสำหรับการพักผ่อนระยะยาวใน “ช่วงจำศีล” แต่ในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา อุณหภูมิในบริเวณดังกล่าวยังค่อนข้างอบอุ่นมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ จึงอาจส่งผลให้พวกหมีไม่สามารถจำศีลได้ตามธรรมชาติ
- สะสมไขมันให้อ้วน เพื่อเพิ่มความอบอุ่นช่วงจำศีลตลอดฤดูหนาว
ก่อนที่จะมาดูรายละเอียดของปัญหาหมีง่วงนอนที่กำลังทำลายวงจรการใช้ชีวิตของพวกมัน กรุงเทพธุรกิจ ขอพาไปทำความเข้าใจในพฤติกรรมของหมีที่อาศัยอยู่ในเขตอาการหนาวเย็นกันว่า เพราะอะไรพวกมันจึงต้องสะสมไขมันในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เพื่อนำไปใช้ในช่วงจำศีลตอนฤดูหนาว
ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก BBC ระบุว่า ตามธรรมชาติแล้วหมีจะต้องจำศีลในฤดูหนาว ที่อาจยาวนานถึง 6 เดือนในแต่ละปี หมายความว่าพวกมันต้องกินอาหารให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค. - ก.ย. เพื่อสะสมไขมันให้พอกับการผ่านพ้นฤดูหนาวที่ยาวนาน และมีชีวิตรอดไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาผสมพันธุ์
สอดคล้องกับข้อมูลของ World of Animals ที่กล่าวถึงรายละเอียดของหมีเหล่านี้ว่า พวกมันเป็นสัตว์นักล่าที่มีขนาดใหญ่ และโดดเด่นที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ส่วนมากจะอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ป่า และภูเขาในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย โดยในยุโรปจะพบมากในพื้นที่ป่าบนภูเขา ส่วน “หมีไซบีเรีย” จะชอบอยู่ในป่าดง
สำหรับลักษณะทางกายภาพนั้น หมีเหล่านี้จะมีความสูงตั้งแต่ประมาณ 152-244 เซนติเมตร หนักได้ตั้งแต่ 300-500 กิโลกรัม จึงไม่แปลกที่พวกมันเป็นสัตว์ที่กินเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงมาถึงพวกหมีจะเริ่มกินเยอะขึ้นกว่าปกติ เพื่อสะสมอาหารโดยเฉพาะ “ไขมัน” เข้าสู่ร่างกายมากที่สุด ซึ่งพวกมันจะกินทั้งพืชและสัตว์ โดยพวกมันสามารถกินได้มากถึงวันละ 40 กิโลกรัมเลยทีเดียว
และเมื่อ “ฤดูจำศีล” มาถึงพวกมันจะมีน้ำหนักสูงสุดถึง 500 กิโลกรัม เพื่อเตรียมร่างกายให้มีความพร้อมในการจำศีลช่วงฤดูหนาว ที่โดยทั่วไปแล้วจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ ลบ 37 องศาเซลเซียส (-37 °C) และมันก็จะไม่กินอะไรไปจนกว่าช่วงจำศีลจะจบลง แต่ล่าสุดก็เกิดปัญหาที่ไม่ค่อยดีกับตัวหมีเท่าไรนัก เมื่อโลกร้อนเป็นเหตุให้พวกมันไม่สามารถจำศีลได้
- เมื่อหมีจำศีลไม่ได้ พวกมันเลยเดินมึนง่วงซึม สะลึมสะลือไปทั่ว
พอถึงช่วงเดือนพ.ย.- ธ.ค. ของทุกปีจะเข้าสู่ช่วงจำศีลของหมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ปีนี้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ ทำให้พวกมันไม่มีความพร้อมที่จะจำศีล โดยในวันที่ 21 พ.ย.66 ที่ผ่านมา กระทรวงคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งภูมิภาคอามูร์ เปิดเผยว่า สภาพอากาศช่วงรอยต่อระหว่างปลายฤดูใบไม้ร่วงและต้นฤดูหนาวของปีนี้ มีความอบอุ่นกว่าปกติ จนหมีในบางพื้นที่พากันเดินไปมาอยู่รอบๆ รังของมัน ทั้งที่ควรจะเริ่มเข้าจำศีลตั้งแต่ปลายเดือน
ด้านเจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่าระบุว่า หมีส่วนใหญ่ที่มีอาการนอนไม่หลับมักเป็นตัวผู้ ในขณะที่ตัวเมียยังพาลูกๆ เข้าสู่ช่วงจำศีลได้ตามปกติ ทางเจ้าหน้าที่จึงสันนิษฐานว่าที่หมีตัวผู้ออกมาเดินไปมาแบบ “กึ่งหลับกึ่งตื่น” เพราะร่างกายลดอัตราการเผาผลาญ การใช้พลังงานลงมากแล้ว แต่ด้วยความที่อากาศร้อนเกินไป พวกมันก็ยังไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติอยู่ดี
ส่วนหนึ่งที่หมีมีการจำศีลที่ไม่เหมือนสัตว์ประเภทอื่นก็คือ พวกมันจะตัดสินใจเองว่าควรเริ่มนอนตอนไหน และตื่นตอนไหน ด้วยการพิจารณาจากสัญญาณต่างๆ ของธรรมชาติ เช่น ปริมาณอาหารที่เหลืออยู่ และระดับอุณหภูมิในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว
นอกจากนี้ BBC ยังเปิดเผยถึงงานวิจัยก่อนหน้านี้มีข้อบ่งชี้ว่า ความเชื่อมโยงของฤดูหนาวที่สั้นลง ทำให้ระยะเวลานอนหลับในช่วงจำศีลของหมีสั้นลงตามไปด้วย โดยอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส จะทำให้หมีตื่นจากการจำศีล และออกจากรังเร็วขึ้นโดยเฉลี่ย 3.5 วัน
ในส่วนของหนังสือพิมพ์รัสเซีย (The Moscowtimes) รายงานว่าสภาพอากาศในฤดูใบไม้ร่วงของภูมิภาคอามูร์ในปีนี้มีความร้อนผิดปกติจนมีระดับอุณหภูมิสูงทำลายสถิติในเดือนต.ค. และพ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้หมีเกิดความสับสนด้านอุณหภูมิได้
ทั้งนี้ ออยวินด์ ทูเอน (Oivind Toien) ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาของสัตว์ จากมหาวิทยาลัยอะแลสกาแฟร์แบงค์ส (UAF) ให้สัมภาษณ์ผ่าน Live Science ว่า เขาพบสภาพรังหมีที่ชื้นแฉะ เพราะอุณหภูมิของพื้นดินสูงกว่าจุดเยือกแข็ง ขณะที่เริ่มมีหิมะตกลงมา อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้หมีไม่สบายตัว เลยตัดสินใจไม่เข้าไปนอนในรังนั่นเอง
ไม่ใช่แค่ “หมีในรัสเซีย” เท่านั้น ที่ต้องพบกับปัญหาในช่วงจำศีล แต่ผู้เชี่ยวชาญทูเอน ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้มีความร้อนกว่าปกติ ก็อาจทำให้หมีในรัฐอะแลสกาของสหรัฐนอนไม่หลับด้วยเช่นกัน
แม้ว่าการจำศีลของหมีสายพันธุ์ต่างๆ อาจยังเหมือนเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัวสำหรับ “มนุษย์” แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อธรรมชาติเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง ก็ย่อมเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก แน่นอนว่าไม่ช้าก็เร็วมนุษย์เองก็จะได้รับผลกระทบทางใดทางหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นหากทุกคนหันมาใส่ใจและช่วยกันแก้ปัญหา “ภาวะโลกร้อน” ให้ทันท่วงที ก็อาจทำให้เรายังมีหวังว่าธรรมชาติจะกลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิม
อ้างอิงข้อมูล : BBC (1), BBC (2), World of Animals, The Moscowtimes, Live Science, Explorersweb, Popular Mechanics และ Spring News
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์