‘ลูกหมีสีน้ำตาล’ ในญี่ปุ่นกว่า 80% ‘อดตาย’ เพราะไม่มีอาหารกิน

‘ลูกหมีสีน้ำตาล’ ในญี่ปุ่นกว่า 80% ‘อดตาย’ เพราะไม่มีอาหารกิน

ผลกระทบจาก “ภาวะโลกร้อน” ยังทำร้ายสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด “ลูกหมีสีน้ำตาล” ในญี่ปุ่น อดตายไปกว่า 80% เพราะขาดแคลน “แซลมอนสีชมพู” ที่เป็นอาหารหลัก

Key Points:

  • ผลเสียจาก “ภาวะโลกร้อน” ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด “ลูกหมีสีน้ำตาล” บริเวณเกาะฮอกไกโดที่เพิ่งเกิด เริ่มทยอยตายไปแล้วกว่าร้อยละ 80 โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาขาดแคลนอาหาร
  • “แซลมอนสีชมพู” คือ อาหารหลักของ “หมีสีน้ำตาล” แต่เมื่อแหล่งน้ำธรรมชาติมีอุณหภูมิสูงขึ้นจึงทำให้ปลาแซลมอนลดลงอย่างมาก
  • ปัจจุบันหมีสีน้ำตาลถือเป็นสัตว์ที่พบเจอได้ยากตามธรรมชาติ เนื่องจากพวกมันเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ส่วนใหญ่คนเราจะพบเห็นมันได้ตามศูนย์อนุรักษ์พันธุ์หมีสีน้ำตาล

เมื่อโลกร้อนขึ้นน้ำทะเลก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นสาเหตุทำให้สัตว์น้ำเริ่มมีจำนวนน้อยลง ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลเท่านั้น แต่สัตว์บกที่ต้องกินปลาเป็นอาหาร ก็ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ เนื่องจากขาดแคลนแหล่งอาหาร ล่าสุด “ลูกหมีสีน้ำตาล” ที่เกิดใหม่ในญี่ปุ่นตายไปแล้วถึงร้อยละ 70-80 เนื่องจากขาดแคลน “แซลมอนสีชมพู” ที่เป็นอาหารหลัก

คาบสมุทรชิเรโตโกะในฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” ที่โด่งดังของยูเนสโก เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม ทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดรวมถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่าง “หมีสีน้ำตาล” ด้วย

  • “หมีสีน้ำตาล” ตัวแทนเทพเจ้าที่ใกล้สูญพันธุ์

สำหรับ “หมีสีน้ำตาล” มีถิ่นกำเนิดบนเกาะฮอกไกโด และไซบีเรีย ปัจจุบันพวกมันพบเห็นได้ยากตามธรรมชาติและมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ทางการญี่ปุ่นจึงได้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์หมีสีน้ำตาล ขึ้นมาบนยอดเขาโนโบริเบ็ทสึ ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์ และป้องกันไม่ให้พวกมันมีจำนวนน้อยลงไปกว่านี้ โดยจำลองบรรยากาศในศูนย์ฯ ให้มีความใกล้เคียงกับบ้านตามธรรมชาติของหมีสีน้ำตาลมากที่สุด

นอกจากนี้หมีสีน้ำตาลยังมีความผูกพันกับคนท้องถิ่นในเรื่องความเชื่อโบราณอีกด้วย ว่ากันว่าชนพื้นเมืองของฮอกไกโด หรือ “ชาวไอนุ” ได้เปรียบหมีสีน้ำตาลเสมือนเป็นเทพเจ้าเลยทีเดียว

เมื่อหมีสีน้ำตาลโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม สูงประมาณ 150 เซนติเมตร แต่ถ้าพวกมันยืนสองขาจะสูงถึง 2 เมตร แต่ก็มีความเป็นไปได้อันน่าเศร้าว่า พวกมันอาจจะไม่มีชีวิตอยู่รอดไปจนถึงช่วงโตเต็มวัย เพราะปัจจุบันพวกมันประสบกับปัญหาขาดแคลนอาหารอย่าง “ปลาแซลมอนสีชมพู” ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้พวกมัน “สูญพันธุ์” เร็วขึ้น โดยเฉพาะ “ลูกหมีสีน้ำตาล” ที่เกิดมาได้ไม่นานก็ต้องอดตายเสียแล้ว

  • เมื่อ “โลกร้อน” ทำลายล้างเผ่าพันธุ์หมีสีน้ำตาล

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า ปัจจุบันน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติมีอุณหภูมิสูงขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และพืชต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงทำให้เกิดการอพยพของสัตว์บางชนิดที่อาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ในพื้นที่นั้นๆ ต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นจำนวนปลาที่ลดลง เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในพื้นที่บางส่วนของโลก เป็นต้น

อ่านข่าว : 

อุณหภูมิพื้นผิว ‘มหาสมุทร’ ร้อนสูงขึ้นประวัติการณ์ 20.96 องศา

ดังนั้นเมื่อปลาในทะเลลดน้อยลง ย่อมส่งผลให้สัตว์บกที่กินปลาเป็นอาหารหลัก มีจำนวนน้อยลงตามไปด้วย เนื่องจากพวกมันกำลังอดตาย โดยเฉพาะ “ลูกหมีสีน้ำตาล” แห่งเกาะฮอกไกโด

ปลาแซลมอนสีชมพู” คือ แหล่งอาหารที่สำคัญของ “หมีสีน้ำตาล” กว่า 500 ตัว ที่อาศัยอยู่ในแถบคาบสมุทรชิเรโตโกะในฮอกไกโด แต่ด้วยความที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น จึงทำให้ปลาแซลมอนสีชมพูต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น ทำให้หมีสีน้ำตาลต้องพบกับปัญหาขาดแคลนอาหาร สิ่งที่ตามมาก็คือ “ลูกหมีสีน้ำตาล” มากถึง 8 ใน 10 ตัวที่เกิดใหม่ บริเวณพื้นที่ห่างไกลทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ตายตั้งแต่อายุยังน้อย

ข้อมูลจาก The Guardian รายงานว่า เจ้าหน้าที่พบลูกหมีสีน้ำตาลรูปร่างผอมแห้งที่กำลังหิวโหยบริเวณชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทร พวกมันกำลังพลิกหิน และคุ้ยกองสาหร่ายเกยตื้นเพื่อดูว่ามีอะไรหลงเหลือให้พวกมันกินบ้าง เพราะตามธรรมชาติแล้วพวกมันจะจับปลาแซลมอนสีชมพูตามแหล่งน้ำธรรมชาติมากินเป็นอาหาร แต่เมื่อปลาแซลมอนสีชมพูอพยพไปที่อื่น พวกหมีสีน้ำตาลจึงไม่มีอาหารกิน

มาซามิ ยามานากะ นักวิจัยจากมูลนิธิธรรมชาติชิเรโตโกะ กล่าวว่า การขาดแคลนปลาแซลมอนสีชมพูกำลังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อลูกหมีสีน้ำตาล และที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นก็คือ “ลูกหมีประมาณ 70% ถึง 80% ที่เกิดในปีนี้ตายไปแล้ว”

ด้าน คัตสึยะ โนดะ พนักงานเรือทัวร์ที่ล่องเรือไปใกล้บริเวณที่อยู่อาศัยของหมีสีน้ำตาลเล่าว่า หมีบางตัวที่เขาเห็นมีรูปร่างผอมมาก พวกมันกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเพราะปีนี้ไม่มีปลาในน้ำ

นอกจากปัญหาขาดแคลนอาหารแล้ว หมีสีน้ำตาลยังต้องพบเจอภัยคุกคามจาก “มนุษย์” อีกด้วย จากข้ออ้างที่ว่าพวกมันสร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร และทำร้ายมนุษย์ เนื่องจากพวกมันบุกเข้าไปในชุมชนเพื่อหาอาหาร

มีข้อมูลระบุว่า “หมีสีน้ำตาล” ทั้งหมด 1,056 ตัว ถูกจับและฆ่าในฮอกไกโดตั้งแต่เดือนเม.ย.2021 ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดในประวัติการณ์ แต่ก็มีผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหมีถึง 14 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน

  • สาเหตุที่ “แซลมอนสีชมพู” กำลังหายไป ไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่มาจากฝีมือมนุษย์ด้วย

ปริมาณ “แซลมอนสีชมพู” ตามธรรมชาติที่ลดลงอย่างมาก ไม่ได้มีสาเหตุจากภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งมาจากการทำประมงของมนุษย์ด้วย 

ข้อมูลจากสมาคมประมงแซลมอนฮอกไกโดระบุว่า ปีที่แล้วจับปลาแซลมอนสีชมพูในฮอกไกโดได้เพียง 23,298 ตัวเท่านั้น ขณะที่ในช่วงเดือนก.ค. - ก.ย. ปี 2020 สามารถจับแซลมอนได้ถึง 482,775 ตัว ที่แม่น้ำในฮอกไกโด

ในขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนก็เป็นเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้พวกมันจำเป็นต้องพากันย้ายไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณนอกเกาะฮอกไกโดสูงมากกว่า 20 องศาเซลเซียส มาตั้งแต่ปี 2021 และคาดว่าจะร้อนขึ้นอีกถึง 10  องศาเซลเซียส ทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ “แซลมอนสีชมพู” ก็เช่นกัน

ปกติแล้วปลาแซลมอนจะว่ายทวนกระแสน้ำจากมหาสมุทรกลับไปยังแม่น้ำบ้านเกิด ในช่วงเดือนก.ย. - พ.ย. เมื่อไปถึงมันจะมองหาหินที่อยู่ในร่องน้ำเพื่อวางไข่

หลังจากนั้นสองเดือนต่อมาเมื่อไข่ฟักออกมา ลูกปลาแซลมอนเหล่านั้นก็จะว่ายกลับไปใช้ชีวิตที่มหาสมุทรเนื่องจากเป็นแหล่งอาหารหลักของพวกมัน และเจริญเติบโตต่อไป ก่อนจะว่ายกลับไปวางไข่ที่บ้านเกิดอีกครั้งในหนึ่งถึงสองปีต่อมา

ตามธรรมชาติแล้วแซลมอนสีชมพูจะวางไข่ และฟักไข่แถบแม่น้ำในฮอกไกโดในช่วงฤดูหนาว และกลับไปใช้ชีวิตตามคาบสมุทรชิเรโตโกะในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยหมีสีน้ำตาลจะมาดักรอกินแซลมอนสีชมพูเป็นอาหาร แต่ปัจจุบันเมื่อไม่มีแซลมอนพากันย้ายไปอยู่ที่อื่น ทำให้หมีสีน้ำตาลเริ่มทยอยอดตาย โดยเฉพาะลูกหมีที่มีภูมิต้านทาน และทักษะการเอาชีวิตรอดไม่มากนัก

นอกจากนี้ในช่วงที่หมีจำศีลช่วงฤดูหนาว พวกมันจำเป็นต้องสะสมอาหารไว้ในร่างกายเป็นจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับสภาพอากาศหนาวเย็น แต่ในอนาคตคงเป็นเรื่องยากที่พวกมันจะเอาชีวิตรอดท่ามกลางอากาศที่เลวร้ายได้

สุดท้ายแล้วตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” ก็ยังคงมาจากมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ ถ้าหากยังปล่อยไว้ต่อไปในอนาคตทั้ง “หมีสีน้ำตาล” และ “แซลมอนสีชมพู” ก็คงเหลือเพียงแค่ชื่อเท่านั้น

อ้างอิงข้อมูล : The Guardian, Sky News และ TK Park อุทยานการเรียนรู้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์