บีโอไอ ระบุไทยพร้อมรับลงทุนสีเขียว ชูมาตรการพร้อม - นโยบายชัด
บีโอไอ เผยทิศทางลงทุนโลกขยับภายใต้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ชี้ไทยเร่งเตรียมกลไกพลังงานสะอาดป้อนอุตสาหกรรม เสริมนโยบายอีวีหนุนไทยเป็นฮับผลิตของภูมิภาค
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ นโยบายลงทุนไทย ภายใต้บริบทใหม่ ในงานสัมมนา "Go Thailand 2024 : Green Economy - Landbridge โอกาสทอง?" จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการแนวโน้มการลงทุนในอนาคต ซึ่งการเดินทางไปโรดโชว์ในประเทศต่างๆ ร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรีได้สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทชั้นนำของโลกต่างพูดถึงเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเรื่องหลักขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสีเขียว การใช้พลังงานสะอาด และการลดปล่อยคาร์บอนในสโคปต่างๆ
ปัจจุบันรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีการออกกฎระเบียบเพื่อผลักดันเรื่องเหล่านี้ อาทิ European Green Deal ในยุโรปเพื่อผลักดันเป้าหมายเน็ตซีโร่ในปี 2050 รวมทั้งมาตรการคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า Inflation Reduction Act ของสหรัฐ Green New Deal ของเกาหลีใต้ และ Green Growth Strategies ของญี่ปุ่น
"เมื่อมองกลับมาที่ไทยเองเรามีจุดแข็งหลายด้านที่สอดคล้องกับเทรนด์นี้ จึงมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชน บุคลากร นโยบายที่สนับสนุนการลงทุนสีเขียว รวมทั้งความพร้อมของพลังงานสะอาด"
นายนฤตม์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังเร่งผลักดันเรื่อง Utility Green Tariff (UGT) ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะป้อนพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตได้อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ผ่านการรับรอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน
นอกจากนี้ บีโอไอยังเดินหน้าในการกำหนดทิศทางการลงทุนเชิงรุกในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสีเขียวก็เป็น เป้าหลักทั้งในด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย และในเชิงนโยบาย
ซึ่งที่ผ่านมามีคำขอรับการส่งเสริมกับบีโอไอกิจการกลุ่ม BCG อาทิ ไบโอเทค พลาสติกชีวภาพ ผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร พบว่าตั้งแต่ปี 2558 - ก.ย.2566 มากกว่า 3,759 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 782,367 ล้านบาท
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายที่ชัดเจน และครอบคลุมในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ และส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพื่อให้ไทยรักษาตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ปี 2567-2570 สนับสนุนให้ดีมานด์รถอีวีในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 30@30 หรือ มีการผลิตรถ ZEV 30% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ
ขณะเดียวกันบอร์ดอีวีก็ยังมีโจทย์ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนในระยะต่อไป อาทิ เรื่องการกำหนดค่าไฟที่เหมาะสมสำหรับสถานีชาร์จ มาตรการสนับสนุนกลุ่มรถอีวีเชิงพาณิชย์ รวมถึงมาตรการสนับสนุนลงทุนแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์