โจทย์ใหญ่ ‘ท่องเที่ยว’ ยกระดับเศรษฐกิจไทย!
เมื่อ “ภาคการท่องเที่ยว” ต้องรับบทเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ปั้นรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่อย่าง “ภาวะโลกรวน” เกิดความแปรปรวนทุกมิติ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในหนทางเอาตัวรอด ไม่ใช่การประนีประนอม
สร้าง “ความยั่งยืน” แบบขอไปที แต่ต้องลงมือทำทันที! หลักใหญ่ที่ต้องยึดให้มั่นคือต้องทำอย่างจริงจัง เป็นประจำ ให้วันเวลาช่วยสั่งสมจนผลิดอกออกผล และต้องเดินหน้าสร้างความยั่งยืนร่วมกันทั้งองคาพยพ ในฐานะที่ภาคการท่องเที่ยวพึ่งพาต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติและผู้คนในการขับเคลื่อนรายได้ ทะยานสู่เป้าหมายใหม่ สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาทในปี 2567 ตามโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ฉายภาพว่า การมุ่งสู่ความยั่งยืนแบบทันที “Sustainably NOW” เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของ ททท. ในการผลักดันยุทธศาสตร์ใหญ่ “ยกระดับประเทศด้วยการท่องเที่ยว” ผ่านการส่งเสริมตลาด ยกระดับสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สู่การทรานส์ฟอร์มเป็น “จุดหมายปลายทางที่มีคุณค่าสูงและความยั่งยืน” (High Value and Sustainable Tourism Destination) บนพื้นฐานการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ตามเป้าหมายในปี 2567
“ความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ แต่ต้องเดินเข้าหาอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถยืนอยู่บนโลกธุรกิจได้”
หลังต้นทุนของภาคการท่องเที่ยวถูกท้าทายด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการสร้างมลภาวะและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งภาคการท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการสร้างผลกระทบดังกล่าว เมื่อบรรยากาศไม่ดี ถูกมองว่าเป็นเดสติเนชันที่ไม่มีคุณภาพ นักท่องเที่ยวก็ไม่อยากมา
“โจทย์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นเดสติเนชันที่มีคุณภาพ จึงไม่ใช่แค่การเติมแม่เหล็กใหม่ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงเข้ามาจับจ่ายเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการยกระดับภาพลักษณ์เป็นเดสติเนชันแห่งการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและยั่งยืน (Safe and Sustainable Tourism) ระดับโลกด้วย”
ที่ผ่านมา ททท. ได้ผนึกความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้บรรลุ “เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” หรือ “Sustainable Tourism Goals” (STGs) 17 ประการ ต่อยอดจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ สนับสนุนผู้ประกอบการให้ก้าวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตามแผนพัฒนา BCG Model
หนึ่งในโครงการไฮไลต์คือ โครงการ “Sustainable Tourism Acceleration Rating” (STAR) เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค. 2566 เพื่อยกระดับมาตรฐานของ “สถานประกอบการ” ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้มีการนำ 17 เป้าหมายของ STGs ครอบคลุมทั้ง 4 มิติในระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ
โดยได้มีการมอบประกาศนียบัตร “ดาวแห่งความยั่งยืน” ซึ่งมีอายุคราวละ 2 ปี ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์การประเมินตนเอง
ประกอบด้วย 3 ระดับ ดังนี้ 1.ระดับ 3 ดาว สำหรับผู้ประกอบการที่ผ่าน STG 13 STG 16 และ STG 17 รวมทั้งหมด 3 เป้าหมาย 2.ระดับ 4 ดาว สำหรับผู้ประกอบการที่ผ่าน STG 13 STG 16 STG 17 และเป้าหมายใดก็ได้อีก 6 STGs รวมทั้งหมด 9 เป้าหมาย และ 3.ระดับ 5 ดาว สำหรับผู้ประกอบการที่ผ่าน STG 13 STG 16 STG 17 และเป้าหมายใดก็ได้ ไม่น้อยกว่า 9 STGs รวมทั้งหมด 12 เป้าหมายขึ้นไป
นอกจากนี้ ททท.ยังได้เปิดตัวโครงการ “STGs เที่ยว 4 ดี ดีต่อโลก ดีต่อเรา” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง STGs สร้างเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวสินค้าและบริการเชิงประสบการณ์สู่ความยั่งยืน พร้อมกระตุ้นให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตื่นตัวในการเข้าร่วมโครงการ STAR โดยกำหนดเป้าหมายให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้าร่วมโครงการนี้กว่า 80% ภายในปี 2568
ขณะเดียวกัน ททท.ยังได้จัดทำภาพยนตร์โฆษณาชุด STGs เที่ยว 4 ดี ดีต่อโลก ดีต่อเรา นำแสดงโดย “เจมส์ - จิรายุ ตั้งศรีสุข” ตัวแทนของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ มาสื่อสารชวนคนไทยทุกคนออกไปเที่ยวเมืองไทยแบบ “4 ดี” ได้แก่ “สิ่งแวดล้อมดี :D” ท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แบบ Low Carbon ลดการสร้างขยะ และทำกิจกรรมที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผู้ประกอบการชุมชนใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย เพื่อให้เกิด Zero Waste “วัฒนธรรมดี :D” เคารพวิถีชุมชน ร่วมงานประเพณีท้องถิ่น อวดอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป ผู้ประกอบการชุมชนนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้
“เศรษฐกิจดี :D” สนับสนุนสินค้าและบริการในท้องถิ่น เที่ยวเมืองรองเพื่อกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง ผู้ประกอบการชุมชนนำของดีท้องถิ่นเป็นจุดขาย มาทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่กระจุก และ “ชีวิตดี :D” ท่องเที่ยวอย่างเข้าใจชุมชนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ช่วยเติมเต็มความสุข และยังช่วยดูแลโลกใบนี้ให้สวยงามต่อไป ผู้ประกอบการดูแลบริการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างดี เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
ด้าน “ผู้ประกอบการ” ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ต่างเป็นหนึ่งในองคาพยพร่วมขับเคลื่อนนโยบายการท่องเที่ยวยั่งยืนให้สำเร็จ
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เล่าว่า พันธมิตรแบรนด์โรงแรมที่บริหารโรงแรมทั้ง 22 แห่งของ AWC ทั่วประเทศ มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปัญหาภาวะโลกร้อน และร่วมสร้างการท่องเที่ยวยั่งยืนให้ประเทศไทย โดยมุ่งสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวยั่งยืนให้กับแขกผู้เข้าพักในโรงแรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวคุณภาพสำหรับนักเดินทางที่มองหาทางเลือกการท่องเที่ยวที่ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ที่เข้าไปท่องเที่ยว
AWC จึงริเริ่มโครงการ “AWC Stay to Sustain” เมื่อเดือน ต.ค. 2566 หนึ่งในโครงการตามกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ AWC “3BETTERs” ผ่านความร่วมมือกับ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์” เพื่อร่วมฟื้นฟูดูแลผืนป่าในระยะยาว โดย AWC ตั้งเป้าสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นไม้ในแต่ละปีประมาณ 500,000 ต้น รวมกว่า 5,000 ไร่ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 2,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเท่ากับการเข้าพัก 1 คืน ร่วมดูแลต้นไม้ 1 ต้น จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สอดรับกับเป้าหมายระยะยาวของ AWC ในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573
“โครงการนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้แขกผู้เข้าพักโรงแรมในเครือได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนในประเทศไทย โดยทุกการเข้าพัก 1 คืน ภายในโรงแรมเครือ AWC จะร่วมดูแลต้นไม้ 1 ต้น อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน เพื่อสนับสนุนโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และรักษาผืนป่าในระยะยาว พร้อมส่งเสริมรายได้ให้ชุมชนที่จะเป็นผู้ดูแลป่า”
สอดคล้องกับแนวทางของ ททท. ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติของสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมองค์รวม นอกจากนี้ AWC ยังตั้งเป้าให้ทุกโรงแรมและศูนย์การค้าในเครือได้รับประกาศนียบัตร โครงการ STAR ดาวแห่งความยั่งยืน ของ ททท. อีกด้วย
และนี่คือส่วนหนึ่งของแนวทางจากทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชน ในการเร่งยกระดับ “ห่วงโซ่อุปทาน” ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย สู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน!