“การบิน” กับ “ความยั่งยืน” คือการจัดการ และพลังงานทางเลือก

“การบิน” กับ “ความยั่งยืน”  คือการจัดการ และพลังงานทางเลือก

“เครื่องบิน” 1 ลำทำการบิน 1 ครั้ง ต้องใช้น้ำมันหลายหมื่นลิตร นับเป็นระบบขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิงสูงมาก แต่หากคำนวณจำนวนผู้โดยสาร และระยะทางขนส่งจะพบว่า อัตราสูญเสียเชื้อเพลิงหรือปล่อยของเสียถือว่าไม่ได้สูงมาก

แต่ถ้าสามารถปรับการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมการบินได้ โลกอาจกำลังเข้าใกล้เป้าหมายความยั่งยืนได้อีกนิด 

สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เล่าว่า มีแนวโน้มในการใช้พลังงานสะอาดหรือกลุ่ม Renewable energy เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า Fossil Fuel base ซึ่งในปัจจุบันภาคการบินมีการใช้ SAF หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สะอาดกว่าปัจจุบันในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในอากาศที่จะมาแทนที่เชื้อเพลิงแบบเดิมๆ อย่าง Hydrogen Fuel cell battery ซึ่งประสิทธิภาพมีประสิทธิภาพสูง

มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการบิน ตามแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงาน และการลดก๊าซเรือนกระจกภาคการบินโดย กพท.แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. Aircraft Technology เพื่ออัตราการใช้ พลังงานต่อหน่วยผลผลิตมีประสิทธิภาพดีขึ้น 2. Air Traffic Management Improvements  เพื่อส่งเสริมให้เกิดอัตราการใช้น้ำมันอากาศยานต่อหน่วยผลผลิตมีประสิทธิภาพดีขึ้น 3. Airfield Improvements) ปรับปรุงการจัดการ การจราจรของอากาศยานภายในสนามบิน  เพื่อให้เวลาที่อากาศยาน ต้องใช้ในช่วงปฏิบัติการบิน Taxi Phase ลดลง  4. Operational Improvements เช่น มาตรการลดน้ำหนักการบรรทุกในเที่ยวบิน 

นอกจากเชื้อเพลิงแล้ว ในแต่ละเที่ยวบินก็ยังสร้างขยะ และใช้ทรัพยากรที่สูงมากเพื่อบริการผู้โดยสารนับหลายร้อยคนที่ทำการบินในแต่ละครั้ง  

 

 

 

 

ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ปัจจุบันการบินไทยอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050)     

“แผนพัฒนาให้เที่ยวบินของการบินไทยเป็นเที่ยวบินรักษ์โลกที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้ริเริ่มจากการจัดใช้อุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินทำมาจากวัสดุธรรมชาติ อาทิ Travel Kit Bag แก้วน้ำที่ใช้บริการผู้โดยสารเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย รวมไปถึงแนวคิดในการนำช้อนส้อมอะลูมิเนียมกลับมาใช้ทดแทนช้อนส้อมพลาสติก และการนำน้ำมันจากครัวมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นนํ้ามัน SAFด้วย” 

“การบิน” ให้ "สูงขึ้น" ไปเป็นความปรารถนาของทุกคนอุตสาหกรรมการบินก็เช่นกัน ก็ต้องการขับเคลื่อนธุรกิจให้สูงขึ้นทั้งผลประกอบการ และเทคโนโลยี แต่เป้าหมายสูงกว่านั้นคือ “ความยั่งยืน” ที่วันนี้ได้ลงมือทำแล้ว 

“การบิน” กับ “ความยั่งยืน”  คือการจัดการ และพลังงานทางเลือก

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์