เปิดตัว CBSquare Application สะสม คาร์บอนเครดิต
วิกฤติโลกร้อน โลกเดือดส่งผลกระทบไปทั่วโลก หลายภาคส่วน อาทิ ภาคธุรกิจ องค์กรเอกชน ไปจนถึงวงการอุดมศึกษา ต่างเร่งพัฒนา ส่งเสริมเพื่อสร้าง Model เพื่อสังคมยั่งยืน คาร์บอนเครดิต มาตรการช่วยลดภาวะโลกร้อน เรื่องใกล้ตัวที่ทุก Gen ช่วยโลกให้ดีขึ้นได้
Key Point :
- จุฬาฯ เปิดตัว CBSquare แอปพลิเคชั่น ด้านสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้บันทึก คาร์บอนเครดิต เป็นครั้งแรกของประเทศ
- เป็นการนำเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์ใช้บันทึกสะสมคะแนนการลดการใช้คาร์บอน
- กระตุ้น จูงใจให้คนหันมาทำกิจกรรมที่ลดการใช้คาร์บอน ซึ่งเป็นต้นแบบการบูรณาการร่วมกันระหว่างการศึกษา เกษตรและนวัตกรรม
เมื่อความรู้ที่ไม่ได้อยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น แต่ความรู้ที่ดีที่สุด คือ การปฏิบัติจริง บทบาทของมหาวิทยาลัยในยุคนี้จึงต้องบูรณาการนำนิสิต นักศึกษาให้ได้มาทำงานปฏิบัติจริงกับชุมชนเกษตรกรจริง โดยอาศัยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเชื่อมโยงไปถึงเรื่องคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนเป็นตัวอย่างที่ดีในการก้าวออกมาสร้างการเรียนรู้ และเป็น Real Business in the school
เมื่อเร็วๆนี้ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), กระทรวงพาณิชย์ และสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ เปิดตัว CBSquare ซึ่งเป็น Application ด้านสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้บันทึก คาร์บอนเครดิต เป็นครั้งแรกของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- CBS โชว์ต้นแบบ Sustainable Business Model
- Audio Guide ทำลายกำแพงภาษา ยกระดับท่องเที่ยวชุมชน อย่างยั่งยืน
- 'CBS' ปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้นำแห่งอนาคต เติบโตอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) เปิดเผยว่า CBSquare Application เป็นโครงการพัฒนา ‘แผนธุรกิจใหม่’ นำโดยทีมนิสิต บริษัท Chula Business Enterprise จำกัด (CBE) ภายใต้แนวคิดความยั่งยืน Sustainable Business Model ใช้ Technology ด้านสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้บันทึกสะสมคะแนนการลดการใช้คาร์บอน เพื่อกระตุ้น จูงใจให้คนหันมาทำกิจกรรมที่ลดการใช้คาร์บอน ซึ่งเป็นต้นแบบการบูรณาการร่วมกันระหว่างการศึกษา เกษตรและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
CBSquare ได้เปิดตัวภายในงาน ‘บัญชี แฮปปี้ Farm Fair’ส่งฟาร์มสุขรับปีใหม่แบบยั่งยืน’ ซึ่ง CBS จัดทำขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงเกษตรกรและนิสิตในการทำธุรกิจ ในรูปแบบของ The Real Farmer Business in the school โดยเปิดโอกาสให้มีการเชื่อมโยงเกษตรกรท้องถิ่น ที่ต้องการหาช่องทางในการพัฒนาแบรนด์สินค้าของตนเองในอนาคต และพาร์ทเนอร์สำคัญอย่าง Cero มาร่วมต่อยอดแอพลิเคชัน สร้างระบบ Sustainable CRM ที่ทุกการซื้อสินค้าเกษตร และกิจกรรมที่สมาชิกทำเพื่อลดการก่อคาร์บอนในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ถุงผ้า การเอาแก้วมาเอง สามารถสแกนผ่านแอพเพื่อสะสม CBS Credit
แอปพลิเคชัน CBSquare
เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกคนได้เข้าถึงเรื่องคาร์บอนเครดิต ทำให้ เกิดการตระหนักรู้ ผ่านทุกกิจกรรมการใช้จ่ายสินค้าทุกครั้ง ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาให้โลกดีขึ้น เพียงใช้แอปพลิเคชัน CBSquare ทำการสะสม CBS Credit เพื่อรับของต่าง ๆ และแอป CBSquare ยังเป็นเครื่องมือช่วยสร้างพฤติกรรมให้ทุกคนได้ลงมือทำ ได้เกิดการตระหนักรู้ในการลดการเกิดคาร์บอนไม่ว่าจะเป็น ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก พกแก้วน้ำส่วนตัวมาเอง ฯลฯ”เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างการรับรู้ เรื่องคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มที่ให้ทุกคนเข้าใจ และเข้าถึงในการช่วยให้โลกดีขึ้นได้ จากทุกการซื้อสินค้า การใช้จ่าย การบริจาคสิ่งของ เรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่ทุกคนทำได้เลยทันที
Sustainable Business Model
การสร้าง ธุรกิจยั่งยืน ไม่ได้มองมิติเดียวเท่านั้น ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ อธิบายความหมายของความยั่งยืนที่มาจาก 3 ข้อด้วยกัน นั่นคือ 'พอใจ กำไร ยั่งยืน' พอใจ คือการที่ลูกค้าพอใจในระยะยาว ยอดขายต้องเกิดจากแรงจูงใจที่ชอบคุณภาพ ความไว้วางใจ ความผูกพันที่เป็นระยะยาว เพราะฉะนั้น ความพอใจของลูกค้า จึงทำให้เกิดความยั่งยืน เป็นความผูกพันระยะยาว กำไร เกิดจากความสุขของลูกค้า ความยั่งยืน แม้ว่าเจ้าของธุรกิจไม่อยู่โลกนี้แล้ว แต่ธุรกิจยังอยู่
ดังนั้น แบรนด์ต้องอายุยืนกว่าคนสร้างแบรนด์ ธุรกิจต้องอายุยืนกว่าเจ้าของธุรกิจ ไม่มองความยั่งยืนในแง่มิติสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมองถึงมูลค่า คุณภาพ ลูกค้าชอบ มีประโยชน์เชิงสังคมด้วย การจัดงานเป็น Chula Carbon Neutral Fair จึงยึดหลัก SDGs ตั้งแต่รูปแบบการจัดงานที่เป็นงานกลางแจ้งเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าให้น้อยที่สุด และการหา Partnership และพัฒนา Business Model ใหม่ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีมาช่วยกันต่อยอดสินค้าจากเกษตรกร โดย CBE และชุมชนท้องถิ่น โดยชุมนุม SIFE ให้เกิดการซื้อขาย สร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน
ซึ่งสินค้า และของที่ใช้ในงานยังเป็นของที่รีไซเคิลมาจากเศษวัสดุตามแนวคิดของ Circular Economy ทุกกิจกรรมในงานตั้งแต่การรับถุงรีไซเคิล, ซื้อสินค้าเกษตร ชุมชนท้องถิ่น ไปจนถึงการนำแก้วมาเองสามารถเริ่มต้นสะสมเป็น CBS Credit ผ่านแอปฯ CBSquare และขยะที่แยกอย่างเป็นระบบในงานนี้จะถูกส่งต่อไปรีไซเคิลหมุนเวียนใช้ต่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีกด้วย
จุดเริ่มต้นชุมนุม SIFE
ชุมนุม SIFE หรือ Students In Free Enterprise คือชุมนุมของนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เข้าไปร่วมวางแผนธุรกิจกับชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านการนำองค์ความรู้ด้านธุรกิจในห้องเรียนและศาสตร์แขนงต่าง ๆ มาประยุกต์และปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนทั่วประเทศไทย ให้เกิดการซื้อขาย สร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน
การทำงานมีชุมชนเป็นที่ตั้ง โดยนำปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นกรอบการทำงาน เพราะชุมนุม SIFE เชื่อว่าความยั่งยืนเกิดจากหลักความคิด “เราอยากทำ เขาอยากทำ และเขาจะทำ” สิ่งที่จะลงมือไปพัฒนาชุมชนนั้น ต้องเริ่มจากการที่มีจิตอาสาอยากพัฒนาชุมชนให้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ไปมอบให้กับชุมชนนั้น ชุมชนเองต้องอยากที่จะทำด้วยเช่นกัน และสำคัญที่สุดลำดับสุดท้าย คือ ชุมชนจะต้องเป็นกำลังสำคัญในการลงมือปปฏิบัติ โดยมีชุมนุม SIFE เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจยั่งยืนอย่างใกล้ชิด ในวันที่ SIFE ก้าวออกมา ชุมชนจะต้องสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน