ความมั่นคงด้านอาหารบทบาทไทยสู่เป้าหมายยุติความหิวโหยโลก

ความมั่นคงด้านอาหารบทบาทไทยสู่เป้าหมายยุติความหิวโหยโลก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (16 ม.ค.2567) มีมติเห็นชอบ และอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ (2024 Zero Draft Communique) ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน (Berlin Agriculture Ministers’ Conference) ครั้งที่ 16 โดยไม่มีการลงนาม

ในวันเสาร์ ที่ 20 ม.ค.2567 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ 

เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สาระสำคัญของเอกสารร่างแถลงการณ์ เป็นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน 

โดยร่างฯ ดังกล่าวให้ความสำคัญของการดำเนินการใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืน และยืดหยุ่นได้ และดำเนินการตามวาระ 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการยุติความหิวโหยด้วยการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ปรับให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อการผลิตทางการเกษตรที่เพียงพอและยั่งยืน ส่งเสริมการเลือกอาหารเพื่อสุขภาพลดการสูญเสียอาหาร และของเสียส่งเสริมวิธีการผลิตและพันธุ์พืชที่ยั่งยืน 

แนวทางการจัดการปศุสัตว์อย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและเกษตรอย่างยุติธรรม และเท่าเทียม

แนวทางการจัดการปศุสัตว์อย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและเกษตรอย่างยุติธรรม และเท่าเทียม

         2.ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น และยั่งยืน โดยเพิ่มบทบาทขององค์การการค้าโลก(WTO) ด้านกฎการค้าสินค้าเกษตรเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ระบบการค้าเปิดกว้าง ปลอดภัย และโปร่งใส บทบาทของระบบข้อมูลด้านการตลาดของสินค้าเกษตร (Agricultural Market Information System: AMIS) การดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ดี และการควบคุมเชิงป้องกันเพื่อต่อสู้กับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหาร โรคสัตว์ โรคและแมลงศัตรูพืช เตรียมความพร้อม และควบคุมที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อ และการดื้อยาด้านจุลชีพ (AMR) ในมนุษย์และสัตว์ เพื่อเสริมสร้างแนวทางด้านสุขภาพที่เป็นหนึ่งเดียว ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรที่ปราศจากการตัดไม้ทำลาย (deforestation-free) ความสัมพันธ์ทางการตลาดให้มีความเท่าเทียมสำหรับทุกคนในห่วงโซ่

         3.การลดอาหารเหลือทิ้ง โดยมุ่งที่จะลดการสูญเสียอาหารเหลือทิ้งตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG 12.3 ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีก และผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิต และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573 การกำหนดเป้าหมาย วัดความสูญเสียอาหารเหลือทิ้ง ขยายการลงทุนในการวิจัย และพัฒนา การบริจาคอาหารที่เหลือ หรืออาหารที่ใกล้หมดอายุ อาทิ นำไปเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค 

ความมั่นคงด้านอาหารบทบาทไทยสู่เป้าหมายยุติความหิวโหยโลก

         4.การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเปราะบาง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท บทบาทของสตรี โดยตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนในการได้รับอาหารที่เพียงพอ ตามแนวทางปฏิบัติโดยสมัครใจของ FAO ว่าด้วยสิทธิในอาหารซึ่งรับรองโดยคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) ตลอดจนบทบาทของเกษตรกรรายจ่าย และแรงงานในชนบท การปรับปรุงการเข้าถึงทรัพยากรการผลิต เช่น ที่ดิน น้ำ การเงิน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และทรัพยากรพันธุกรรม เน้นย้ำในการปกป้องที่ดินของชนเผ่าพื้นเมือง

          วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูป และอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า  ประเทศไทยนั้นยังมีข้อที่ยังต้องปรับปรุงเพื่อร่วมกับประชาคมโลกสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหาร ทั้งเรื่องการลดอาหารเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร 

ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการเข้าถึงอาหารทั้งแง่ปริมาณ และคุณค่าทางอาหาร ซึ่งภาครัฐอาจต้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องดังกล่าวเพราะไทยยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ทำให้อาหารนั้นมีสารอาหารได้ครบถ้วน ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย หากทำได้ไทยก็จะสามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นประเทศที่มีความยั่งยืนทั้งด้านอาหารโดยแท้จริง

“การกิน”เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้การจัดการจากศาสตร์เกือบทุกด้าน เพราะอาหารมีที่มาจากภาคเกษตร แต่สามารถนำมากิน และแจกจ่ายอย่างทั่วถึงได้ด้วยภาคอุตสาหกรรม และนวัตกรรมประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกจึงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านเพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายว่าด้วยการขจัดความหิวโหย และมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนให้ได้อย่างแท้จริง 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์