"GEd"คือเทคโนโลยีใหม่ตัดส่วนด้อยเติมส่วนเด่นพืชผลิตอาหาร
การผลิตอาหารมาจากรากฐานการทำการเกษตรเป็นสำคัญ แต่"ภาวะโลกเดือด" กำลังทำให้ความสามารถด้านการเกษตรเผชิญ“ข้อจำกัด”อย่างด้าน ทั้งจำนวนที่ดิน สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้“พืช”ที่จะทำการเพาะปลูกเพื่อผลิตอาหารต้องมีความเข้มแข็งมากพอที่จะเติบโตบนข้อจำกัดต่างๆให้ได้
Key Point
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งผลักดันส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Gene Editing( GEd)
- เทคโนโลยี GEd ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในระยะยาว เทคโนโลยีGEd จะทำให้ไทยผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืน
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการสัมมนาวิชาการ “เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ในการแก้ปัญหาภาวะวิกฤติโลกเดือด และศัตรูพืชอุบัติใหม่” ว่า เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วและรุนแรง ซึ่งสหประชาชาติ ได้ประกาศว่า “ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลง ยุคโลกเดือดมาถึงแล้ว” ซึ่งภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชอุบัติใหม่ที่สำคัญ อาทิ โรคใบด่างมันสำปะหลังโรคใบร่วงยางพารา ประกอบกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่และเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี การนำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง คุ้มค่า พัฒนาได้รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ จึงมีความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงปัญหาภาวะวิกฤติดังกล่าว จึงเร่งผลักดันส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Gene Editing( GEd) ให้ก้าวทันบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การนำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ Ged ในการแก้ไข หรือปรับแต่งยีนให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ต้านทานศัตรูพืช มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ที่สำคัญเทคโนโลยี GEd ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยเทคโนโลยี GEd ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO),
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มี 13 ประเทศประกาศสนับสนุนในที่ประชุม องค์การการค้าโลก(WTO) ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd เชิงการค้าและการบริโภคร่วมกัน และกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อาทิ
แคนาดา สหรัฐบราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย และออสเตรเลีย ประกาศใช้นโยบาย no transgene = not GMOs โดยถือว่าพืช GEd มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับพืชปกติทั่วไป ที่สำคัญองค์กรนานาชาติ และประเทศต่าง ๆ เร่งลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี GEd เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก
จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนการขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEd และกำหนดท่าทีที่ชัดเจนของประเทศไทยในทิศทางเดียวกัน กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก FAO และประเทศต่าง ๆ อาทิ อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ร่วมผลักดันและสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์และเป็นรูปธรรม
ด้านระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เทคโนโลยี GEd แตกต่างกับ GMOs รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd ในประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับภาวะวิกฤตโลกเดือดและศัตรูพืชอุบัติใหม่ โดยกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEd อย่างเป็นรูปธรรม
เทคโนโลยีใหม่ ย่อมมาพร้อมกับโอกาสและความเสี่ยงที่ต้องใช้ความรู้เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในวงกว้างว่า เทคโนโลยีอย่าง GEd จะสามารถทลายข้อจำกัดการผลิตอาหารหล่อเลี้ยงชาวโลกได้มากขึ้นและมีคุณภาพขึ้น ซึ่งไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากโลกเดือด ตามข้อมูลรายงานความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก ปี 2564 พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 9ของกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ดังนั้น การรับเทคโนโลยีใหม่และใช้ให้เป็นจึงเป็นการจัดวางบริบทให้ประเทศไทยในอยู่ในสถานะผู้ผลิตอาหารของโลกอย่างยั่งยืนได้ต่อไป