'เอสซีจี' ชู 'ESG 4 Plus' สร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ลดเหลื่อมล้ำ

'เอสซีจี' ชู 'ESG 4 Plus'  สร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ลดเหลื่อมล้ำ

เอสซีจี มุ่งสร้างสังคม Net Zero เร่งเครื่องพลังงานสะอาด - ปูนคาร์บอนต่ำ ชูกลยุทธ์ ESG 4 Plus มุ่ง Net Zero - Go Green - Lean เหลื่อมล้ำ - ย้ำร่วมมือจับมือ ชุมชนขยายผลฟื้นน้ำ สร้างป่า ลดฝุ่น PM 2.5 ลดเหลื่อมล้ำสร้างอาชีพ เติบโตยั่งยืนร่วมกัน

Key Point : 

  • เอสซีจี ดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ ESG 4 Plus เร่งสร้างสังคม Net Zero ที่น่าอยู่ ตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
  • จากพื้นที่ เอสซีจี ลำปาง 8,145 ไร่ ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรม ถูกเปลี่ยนเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ฟื้นระบบนิเวศให้กลับมาอีกครั้ง
  • เมื่อมี 'น้ำ' ผลที่ได้คือ ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น เพราะสามารถทำการเกษตรได้ ต่อยอดสู่ พลังชุมชน อบรมเปลี่ยนวิธีคิด สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นให้โดดเด่น และตอบความต้องการตลาด

 

กว่า 30 ปีของการก่อตั้ง เอสซีจี ลำปาง โดยการคำนึงถึงการอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม จนสามารถพลิกฟื้นพื้นที่โรงงาน 8,145 ไร่ จากป่าเสื่อมโทรม ที่มีไฟป่าเกิดขึ้นกว่า 100 ครั้งต่อปี สู่ป่าอุดมสมบูรณ์ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำกว่า 88,000 ฝาย ใน 60 ชุมชน

 

ปัจจุบัน เกิดการอนุรักษ์ป่า 235,000 ไร่ จดทะเบียนป่าชุมชน 16 แปลง สร้างแหล่งน้ำแก้ภัยแล้ง 113 แหล่งน้ำ สำหรับ 28 ชุมชน ปริมาณน้ำสำรอง 0.17 ล้าน ลบ.ม.สร้างความอุดมสมบูรณ์ สถิติการเกิดไฟป่าเหลือศูนย์ จำนวนชนิดของนกในพื้นที่ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดทางธรรมชาติ จากเดิม 78 ชนิดในปี 2541 เพิ่มขี้นเป็น 171 ชนิด ในปี 2566

 

\'เอสซีจี\' ชู \'ESG 4 Plus\'  สร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ลดเหลื่อมล้ำ

 

โอบบุญ แย้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี ดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ ESG 4 Plus เร่งสร้างสังคม Net Zero ที่น่าอยู่ ตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ทุกธุรกิจมุ่งใช้กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมรักษ์โลก และร่วมกับทุกภาคส่วนลดเหลื่อมล้ำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ได้แก่ 'โครงการรักษ์ภูผามหานที' เพื่อให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดปี ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งทำไปแล้วกว่า 120,000 ฝาย และ 'โครงการพลังชุมชน' อบรมให้ความรู้ เปลี่ยนวิธีคิด สร้างอาชีพ มีรายได้เพิ่มจากการเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นให้โดดเด่น และตอบความต้องการตลาด ปัจจุบันมีผู้ร่วมเข้าทั้ง 2 โครงการ กว่า 200,000 คน จาก 500 ชุมชน ใน 37 จังหวัด เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง

 

\'เอสซีจี\' ชู \'ESG 4 Plus\'  สร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ลดเหลื่อมล้ำ

 

บ้านสาแพะ ชุมชนยั่งยืน

บ้านสาแพะเหนือ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการเดินหน้าสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชน จากช่วงปี 2558 เกิดภัยแล้งรุนแรง ต้นข้าวยืนต้นแห้งตายเกือบทั้งหมู่บ้าน เพาะปลูกได้ปีละครั้งเป็นพืชผักทั่วไป และข้าวโพดสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ต่อมาในปี 2559 ชุมชนจึงเข้าร่วมโครงการรักษ์ภูผามหานที กับ เอสซีจี ลำปาง เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำควบคู่กับการดูแลป่าต้นน้ำ เช่น สร้างฝายชะลอน้ำ ฝายใต้ทรายพร้อมฝายน้ำล้น 9 ตัว วังเก็บน้ำ 13 วัง ประตูเปิด-ปิดน้ำ

 

ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำชุมชน 'อ่างห้วยแก้ว' ได้ถึง 80,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งยังลดการสูญเสียการจ่ายน้ำด้วยการทำบ่อพวงคอนกรีตตามสันเขา สามารถกักเก็บน้ำเพื่อเพาะปลูกได้ตลอดปี เน้นพืชมูลค่าสูง ขายได้ราคาดี เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วแระญี่ปุ่น ข้าวโพดหวาน และผลไม้ยืนต้น เช่น เงาะ ทุเรียน สร้างรายได้ให้ชุมชนเฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท

 

\'เอสซีจี\' ชู \'ESG 4 Plus\'  สร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ลดเหลื่อมล้ำ

 

 

มานพ ปั้นเหน่ง ชาวชุมชน 'บ้านสาแพะเหนือ' จ.ลำปาง เผยว่า แต่ก่อนชาวบ้านปลูกพืชผัก และข้าวได้แค่พอกิน โอกาสส่งลูกหลานเรียนหนังสือน้อย เมื่อมีน้ำ ทุกอย่างดีขึ้น น้ำสร้างชีวิต สร้างความอบอุ่น สร้างรายได้ พอมีรายได้ครอบครัวจะเริ่มสมบูรณ์ สามารถส่งลูกหลานไปเรียนได้สูงขึ้นเพราะมีเงินหมุนเวียน

 

“ขั้นแรกปลูกกินในหมู่บ้าน และอีกส่วนส่งขายในตัวเมืองลำปาง ขณะที่พืชเศรษฐกิจ เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วแระญี่ปุ่น จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ปัจจุบัน มีลูกหลานที่เรียนจบสูงกลับมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ทำให้ในชุมชนมีครบทั้ง 3 เจเนอเรชั่น ไม่ต้องไปทำงานไกล ขอให้ขยันก็มีรายได้หมุนเวียนตลอดปี เพราะปลูกพืชได้ 4 รอบ”

 

เรียกได้ว่า ปัจจัยความสำเร็จ มาจากการมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำซึ่งเป็นเป้าหมายของ “ชุมชนยั่งยืน” พร้อมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมภายในชุมชน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ มีการประชุมเป็นประจำเพื่อให้เห็นภาพเดียวกัน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

 

\'เอสซีจี\' ชู \'ESG 4 Plus\'  สร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ลดเหลื่อมล้ำ

 

สร้างงาน รักษ์สิ่งแวดล้อม

วรการ พงษ์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี ลำปาง ยึดหลัก 'สร้างงาน สร้างความเจริญ รักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นพลเมืองดีของลำปาง' คำนึงถึงการอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Manufacturing) โดยเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงทดแทน ร้อยละ 40 อาทิ ชีวมวล (Biomass) ขยะมูลฝอยจากชุมชน (RDF) วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด กิ่งไม้ใบไม้ จากโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ได้อย่างดี

 

เพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ร้อยละ 26 ด้วยการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ โซลาร์รูฟท็อป นำลมร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (Waste Heat Generator) อีกทั้ง ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกหินปูน - รถตัก - รถขุดไฟฟ้าในโรงงาน ขณะเดียวกันยังผลิตปูนคาร์บอนต่ำ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน 0.05 ตัน CO2 ต่อการผลิต 1 ตัน 

 

\'เอสซีจี\' ชู \'ESG 4 Plus\'  สร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ลดเหลื่อมล้ำ

 

และปีนี้เตรียมออกปูนคาร์บอนต่ำ รุ่นที่ 2 ซึ่งสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นแรกอีกร้อยละ 5 นอกจากนี้ ยังส่งเสริมองค์ความรู้ และเทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง ผ่านการสร้างฝายชะลอน้ำ การปลูกป่าชุมชน และต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ

 

การเดินหน้าสู่มิติความยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จ 'วรการ' มองว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้จาก 'คน' เชื่อว่าการแบ่งปัน จะเป็นกุญแจของความสำเร็จ โดยการเริ่มต้นจากตัวเราก่อนสำคัญที่สุด ปูนลำปาง ทุกวันนี้เราพยายามแบ่งปันความรู้ไปยังจังหวัดอื่นๆ รวมถึงผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม สร้างแรงบันดาลใจ แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกคนทำหน้าที่อย่างดีที่สุด และความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้

 

\'เอสซีจี\' ชู \'ESG 4 Plus\'  สร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ลดเหลื่อมล้ำ

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์