ถอดรหัสดีเอ็นเอคน 'เอสซีจี' ผ่าน CEO ‘รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส’
‘คนสร้างองค์กร องค์กรสร้างคน’ คำกล่าวนี้เกิดขึ้นจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อ 110 ปีก่อน จากธุรกิจปูนซีเมนต์ สู่วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ และปิโตรเคมี โดยมีหลักใจความสำคัญยึดมั่นอยู่เสมอ คือ ‘การพัฒนาประเทศ’ ให้ดียิ่งขึ้น
ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา เอสซีจีผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤตมาหลายต่อหลายครั้ง ทั้งระดับประเทศและระดับโลก แต่สิ่งที่ทำให้เอสซีจียังคงแข็งแกร่งยืนหยัดมาได้นับร้อยปี คือ ‘ศักยภาพของคน’ ที่ถูกบ่มเพาะจากรุ่นสู่รุ่นให้เป็น ‘คนเก่งและดี’ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ
ดีเอ็นเอ ของคน เอสซีจีถูกฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจน ผ่านผู้นำคนล่าสุด และกำลังจะเกษียณอายุในสิ้นปี 2566 ‘รุ่งโรจน์ รังสิโยกาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี คนที่ 11’
ตลอด 36 ปีของเส้นทางการทำงานของ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เริ่มต้นในตำแหน่งวิศวกร ก่อนขยับไปทำงานในฝ่ายขายและได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท การบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้เข้าทำงานในตำแหน่งประธานบริษัท TileCera ธุรกิจเซรามิก ที่เอสซีจีไปลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา ในวัยเพียง 31 ปี ซึ่งทำให้ได้สั่งสมประสบการณ์ทำงาน ผ่านความท้าทายทางธุรกิจมานับครั้งไม่ถ้วน
รุ่งโรจน์ เล่าว่า ช่วงปี 2540 วิกฤตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย ทำให้บริษัท TileCera มียอดขาย 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีหนี้สิน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากและบริษัทไม่สามารถใช้คืนได้ จนต้องบินกลับประเทศไทยเพื่อขอความช่วยเหลือจากบริษัทแม่เพื่อรีไฟแนนซ์ ในเวลาเดียวกัน คณะกรรมการบริหารบริษัทกำลังทบทวนเรื่องการถอนธุรกิจนี้ออกจากตลาดสหรัฐฯ หลายสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน กลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ เพราะไม่ง่ายที่จะจัดการการเงินของบริษัท ภาระหนี้ก้อนใหญ่และการขายธุรกิจในเวลาเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขกุญแจความสำเร็จ 'แสนสิริ' องค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย
- 'พญาไท-เปาโล' ส่งเสริม 'นวัตกร' สร้างคน ฟันเฟืองขับเคลื่อนองค์กร
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น 3 ปี ก็สามารถขายบริษัท TileCera ให้กับพันธมิตรจากอิตาลีได้สำเร็จ
นั่นคือเรื่องราวของความสำเร็จที่เกิดท่ามกลางวิกฤตของคุณรุ่งโรจน์ ในวัย 31 ปี ที่ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและสู้ไม่ถอย ซึ่งเป็นสปิริตแบบเอสซีจี ที่เขาถูกหล่อหลอมตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานที่นี่
รุ่งโรจน์ เล่าว่า “ชีวิตจริงแตกต่างจากในหนังสือ วิกฤตที่เกิดขึ้นตรงหน้าไม่เคยมีทางแก้บอกไว้ในตำรา และไม่เคยถูกสอนในวิชาใดในหลักสูตร มีหลายสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็เป็นจุดที่ทำให้ได้เรียนรู้การก้าวข้ามความท้าทายท่ามกลางอุปสรรคที่ถาโถมหลายด้าน และพัฒนาตัวเองให้เปิดรับความเปลี่ยนแปลง พร้อมรับมือทุกสถานการณ์
“คนที่สู้ คือ คนที่รอดวิกฤต” รุ่งโรจน์ ย้ำ “ถ้าไม่มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ก็แพ้ตั้งแต่เริ่มต้น”
อีกปัจจัยสำคัญที่จะพาองค์กรฝ่าวิกฤตได้ คือการสื่อสารที่ต้องทำให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ และทิศทางที่องค์กรกำลังมุ่งหน้าไป
รุ่งโรจน์ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจีในปี 2559 และนำพาให้เอสซีจีในปี 2563 มีรายได้ 399,939 ล้านบาท แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด 19ที่ตลาดทั่วโลกซบเซา
“หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของซีอีโอ คือการสร้างและรักษาพลังในตัวของทุกคน”
อย่างไรก็ตาม การรักษาพลังเชิงบวกเหล่านี้ ไม่ใช่การเลี่ยงสถานการณ์ไม่ปกติที่กำลังเกิดขึ้น แต่ผู้บริหารต้องเข้าใจ และอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่ละทิ้งความหวัง แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม
วิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน อาทิ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ราคาพลังงานพุ่งสูง ย้ำเตือนถึงบทบาทของผู้นำ
“ผู้นำต้องเอาใส่ใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวและมองอนาคต ถึงไม่สามารถทำนายได้ แต่สามารถมองแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นได้”
ปัจจุบัน เอสซีจี ก้าวสู่ปีที่ 111 พร้อมกับวิกฤตที่ท้าทายที่สุดของมวลมนุษยชาติ ‘สภาวะโลกเดือด’ ที่ทุกภาคส่วนต่างต้องเร่งร่วมมือกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โจทย์นี้ ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนดีเอ็นเอของคนเอสซีจีได้เป็นอย่างดี
“เอสซีจีเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ซึ่งเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกเดือด เราจึงต้องรับผิดชอบ และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา”
หลังจากกลับจากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 เมื่อปี 2564 เอสซีจี ประกาศแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero 2050 – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเชื่อมั่น โปร่งใส) ทันที และกลายมาเป็นแก่นการทำงานของเอสซีจีในปัจจุบัน เพื่อร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
ท้ายนี้ รุ่งโรจน์ เชื่อมั่นว่า เอสซีจีกำลังมุ่งหน้าไปอย่างถูกทิศทาง “ทีมผู้บริหารใหม่และพนักงานเอสซีจีทุกคนมีศักยภาพและความสามารถ ซึ่งจะนำพาเอสซีจีให้เจริญเติบโตต่อไปแน่นอน” เพราะสปิริตเหล่านี้ เป็นดีเอ็นเอ เป็นวัฒนธรรมของเอสซีจีที่หล่อหลอมกันมาทุกรุ่นทุกสมัย และจะถูกถ่ายทอดต่อไป ไม่ว่าจะอีกกี่ปีก็ตาม ด้วยความ ‘เชื่อมั่นในศักยภาพของคน’