ขยะในทะเลคือปลายทางผลิตภัณฑ์พลาสติก
ทะเล คือแหล่งอาหารและทรัพยากรที่สำคัญกับทุกชีวิตบนโลก แต่ตอนนี้ทะเลกำลังเป็นแหล่งของขยะซึ่งขยะที่พบมากที่สุดคือ "ขยะพลาสติก"
ภาพสมาชิกความร่วมมือ Seecleanersเมื่อปีก่อน ที่กำลังเก็บขยะจากท้องทะเลในเมื่อชายทะเล Viviersทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งปัญหาขยะในท้องทะเลไม่เพียงแต่เป็นเรื่องใหญ่ในต่างประเทศเท่านั้น สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)เสนอรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ เมื่อพ.ศ. 2564 ที่ระบุว่า ขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 443,987 กิโลกรัม
ขยะที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม ขวดเครื่องดื่มแก้ว นอกจากนี้พบขยะที่ไหลผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด จำนวนเฉลี่ย 52.65 ล้านชิ้น/ปี
อย่างไรก็ตาม ความพยายามจัดการปัญหาขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกก็มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระบุถึงโครงการงานบำรุงถนนทางหลวงชนบทสาย อย.2039 แยก ทล.33 - บ้านไก่จ้น อำเภอภาชี ท่าเรือ และหนองแค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการสร้างถนน พร้อมติดตามพฤติกรรม และสมรรถนะทางวิศวกรรมในการพัฒนาผิวทางชนิดดังกล่าว
ปัจจุบันโครงการฯ ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ โดยปรับปรุงโครงสร้างพื้นทาง และไหล่ทางเดิม ด้วยวิธีCement Stabilized In - Place พร้อมปูผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีตผสมขยะพลาสติก โดยใช้ขยะพลาสติก 5 ตัน ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตรช่วง กม. ที่ 10+100 - 15+200 ระยะทางรวม 5.1 กิโลเมตรใช้งบประมาณ 21 ล้านบาทเพื่อช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของประชาชนให้สะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สำหรับการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบผิวทางแอสฟัลท์ติกคอนกรีตผสมขยะพลาสติกกับผิวทางแอสฟัลท์ติกคอนกรีตในสภาพแวดล้อม และสภาพการจราจรเดียวกัน เพื่อวิจัย และพัฒนางาน ซึ่งเป็นนวัตกรรมผิวถนนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้