สุดช็อก! นักวิจัยพบ ‘ไมโครพลาสติก’ ใน ‘รกเด็ก’
นักวิทยาศาสตร์ช็อก พบ “ไมโครพลาสติก” ในชิ้นส่วนเนื้อเยื่อของ “รก” ของ “เด็กแรกเกิด” ทุกตัวอย่างที่นำมาตรวจ ซึ่งทำให้นักวิจัยเป็นกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์ยุคปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ในอนาคต
KEY
POINTS
- การศึกษาใหม่พบ ทุกตัวอย่าง “รก” ของ “เด็กแรกเกิด” ทุกตัวอย่างที่นำมาตรวจ มีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในความเข้มข้นตั้งแต่ 6.5-790 ไมโครกรัมต่อเนื้อเยื่อหนึ่งกรัม
-
หากสามารถพบไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อรก ที่ใช้เวลาก่อตัวและเจริญเติบโตภายในระยะเวลาเพียงแปดเดือน แสดงว่าไมโครพลาสติก็สามารถสะสมอยู่ในอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะสะสมอยู่ชั่วชีวิตของเรา
-
“ไมโครพลาสติก” ที่มองไม่เห็นและปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เป็นเศษซากพลาสติกจากหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้นพลาสติกจำนวนมากที่ผลิตตอนนี้จะเริ่มส่งผลกระทบในอีกหลายสิบปีข้างหน้า
นักวิทยาศาสตร์ช็อก พบ “ไมโครพลาสติก” ในชิ้นส่วนเนื้อเยื่อของ “รกเด็กแรกเกิด” ทุกตัวอย่างที่นำมาตรวจ ซึ่งทำให้นักวิจัยเป็นกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์ยุคปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ในอนาคต
“ไมโครพลาสติก” เศษพลาสติกขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ที่เกิดจากการแตกตัวของ “พลาสติก” ชนิดต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ขวดน้ำ ถุงพลาสติก แพร่กระจายอยู่ในทุกที่ทั่วโลก ทั้งในอากาศ แหล่งน้ำ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิด รวมถึงมนุษย์เอง
การศึกษาของ แมทธิว แคมเปน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพนิวเม็กซิโก ที่ทำการวิเคราะห์ตัวอย่าง “รก” 62 ตัวอย่างโดยละเอียดพบว่า ทุกตัวอย่างรกมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในความเข้มข้นตั้งแต่ 6.5-790 ไมโครกรัมต่อเนื้อเยื่อหนึ่งกรัม
“หากมองแบบผิวเผินอาจจะคิดว่าปริมาณไมโครพลาสติกในร่างกายไม่ได้มากมายอะไร แต่ในสภาพแวดล้อมที่มีไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงในระยะยาว” แคมเปนกล่าว
“ไมโครพลาสติก” เศษซากปัญหาจากหลายสิบปีก่อน
เครื่องที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ ใช้เครื่องปั่นเหวี่ยงความเร็วสูงยิ่งยวดและกระบวนการซาพอนนิฟิเคชัน เพื่อให้สามารถหาค่าไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อของมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งโพลีเมอร์ที่พบมากที่สุดคือโพลีเอทิลีน คิดเป็น 54% ของพลาสติกทั้งหมดที่ตรวจพบ ตามมาด้วยโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) และไนลอน มีสัดส่วนเท่ากันประมาณ 10% ของทั้งหมด นอกจากนี้จะเป็นส่วนผสมของโพลีเมอร์อื่น ๆ อีก 9 ชนิด
พลาสติกมีประโยชน์ สร้างความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ แต่ขณะเดียวกันขยะพลาสติก โดยเฉพาะ “พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” เริ่มสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ยุค 1950 และแทรกซึมเข้าสู่ระบบนิเวศเรื่อยมา ขยะเหล่านี้ได้ท่วมพื้นที่ฝังกลบ มหาสมุทร แม่น้ำ แม้แต่พื้นที่ป่าห่างไกล
พลาสติกมีความทนทานมาก บางชนิดจะใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 300 ปี นั่นหมายความว่า “ไมโครพลาสติก” ที่มองไม่เห็นและปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เป็นเศษซากพลาสติกจากหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ในบางครั้งสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้รับไมโครพลาสติกเข้าร่างกายผ่านการกลืนกิน หรือสูดดมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
“ตอนนี้ไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายมนุษย์ สัตว์ พืชที่เป็นอาหารของเรา ไมโครพลาสติกอยู่ทุกที่” มาร์คัส การ์เซีย หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าว
“ไมโครพลาสติก” เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
หากเราสามารถพบไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อรก ที่ใช้เวลาก่อตัวและเจริญเติบโตภายในระยะเวลาเพียงแปดเดือน แสดงว่าไมโครพลาสติก็สามารถสะสมอยู่ในอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะสะสมอยู่ชั่วชีวิตของเรา
ยิ่งในอนาคตที่จะมีไมโครพลาสติกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เราควรต้องแก้ปัญหา และตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกใบนี้
แคมเปนและคณะวิจัยกำลังวางแผนทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสำรวจผลกระทบด้านสุขภาพของไมโครพลาสติก นอกเหนือจากการเพิ่มโอกาสเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคลำไส้อักเสบ มะเร็งลำไส้ใหญ่ในคนอายุน้อย และจำนวนอสุจิที่ลดลง
แม้จะมีการรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกมากขึ้น แต่การผลิตพลาสติกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นสองเท่าในทุก ๆ 10-15 ปี
“สถานการณ์จะย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ แม้เราจะหยุดการผลิตพลาสติกตั้งแต่วันนี้ แต่ในปี 2050 เราจะมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่าตอนนี้ถึง 3 เท่า และแน่นอนว่าวันนี้เรายังคงไม่ได้หยุดใช้พลาสติก” แคมเปนกล่าว
ที่มา: Earth, Tech Explorist, WION