เตือนภัย กทม. ปี 73 หากไม่ทำอะไร คาร์บอนพุ่ง 53 ล้านตัน สูงขึ้น 23%

เตือนภัย กทม. ปี 73 หากไม่ทำอะไร  คาร์บอนพุ่ง 53 ล้านตัน สูงขึ้น 23%

“กรุงเทพฯ” เป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศไทย มีประชากรมากมายรวมถึงการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น และกิจกรรมการแข่งขันทางเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางกลับกันกรุงเทพฯ ก็เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประเทศ

KEY

POINTS

  • พ.ศ.2561 กรุงเทพฯ มีการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก เท่ากับ 43.73 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • กิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.การขนส่งทางถนน 2. การใช้พลังงานในธุรกิจการค้าและหน่วยงานรัฐ 3. การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง  4.การใช้พลังงานในที่พักอาศัย  5.การจัดการของเสียที่เกิดในพื้นที่ด้วยวิธีฝังกลบ
  • หากไม่มีการดำเนินการใดๆ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2573 จะเท่ากับ 53,935,683 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า การเติบโตทางด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 23%

พ.ญ.วนัทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร  กล่าวในงาน เวทีผู้นำ “Climate Action Leaders Forum รุ่น 3” หรือ CAL Forum #3 ว่า สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพฯ ใน พ.ศ.2561 ผลการรวบรวมข้อมูลกิจกรรม และประเมินข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพมหานครปี พ.ศ.2561 กรุงเทพฯ มีการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก เท่ากับ 43.73 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ซึ่งภาคพลังงาน (Stationary Energy) นั้นเป็นกลุ่มกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด

โดยกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 5 อันดับแรก (96.66%) คือ 1.การขนส่งทางถนน 28.58% 2.การใช้พลังงานในธุรกิจการค้า และหน่วยงานรัฐ 25.65% 3.การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง 18.37% 4.การใช้พลังงานในที่พักอาศัย 13.98% 5.การจัดการของเสียที่เกิดในพื้นที่ด้วยวิธีฝังกลบ และเป็นกิจกรรมที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพฯ ในอนาคต 10.08%

ทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการใดๆ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2573 จะเท่ากับ 53,935,683 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า การเติบโตทางด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 23%

ทาง กทม. ได้มีแผนแม่บทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564 - 2573 โดยกรอบทำงานคือ การกำหนดดังนี้ 

วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ และเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีระดับชาติ ระดับประเทศ และระดับเมือง โดยแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี รวมถึงแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวกำหนดโดยระบุว่าภายในปี พ.ศ.2575 คุณภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มคุณภาพดีขึ้น และ มีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ กรุงเทพมหานคร มีการบริหารจัดการมูลฝอยและของเสียอันตรายด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste management) โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) และทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุด และกำจัดที่เหลือ (residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล กรุงเทพมหานคร มีคุณภาพอากาศที่เหมาะสม ต่อการดำรงชีวิต มีฝุ่นละอองและสารเจือปน ไม่เกิน ค่ามาตรฐาน และระดับเสียงที่เกิดจากยานพาหนะ เครื่องจักรกล รวมถึงเสียงที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ใน ทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ไม่เกินค่ามาตรฐาน

เตือนภัย กทม. ปี 73 หากไม่ทำอะไร  คาร์บอนพุ่ง 53 ล้านตัน สูงขึ้น 23%

การรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพฯ และการคาดการณ์ จนถึงการประเมินความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564 - 2573 เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) 19 % ปีฐาน 2561ภายในปี 2573 จะเป็น Net Zero GHG Emission

มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในภาพรวม รายภาค และมาตรการที่ดำเนินการโดย กทม. โครงสร้างเชิงสถาบัน และการบริหารจัดการกลไกการกำกับ และขับเคลื่อนแผน 5 ภาคส่วน รวมถึงออกมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายภาค ดังนี้ ภาคพลังงานดำเนินการโดย กทม. 24 โครงการ ภาคการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6 มาตรการ ภาคขนส่ง และจราจร 14 มาตรการ และภาคการจัดการขยะและน้ำเสีย 8 มาตรการ

กลไกการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน 

ด้วยเป้าหมายการลดและดูดซับก๊าซเรือนกระจกใน พ.ศ.2573 จะลดคาร์บอน 10.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 19% แบ่งเป็น 1.ภาคจัดการขยะและน้ำเสีย 0.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 10% 2.ภาคขนส่งและจราจร 4.00 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 28% 3. ภาคพลังงาน 5.55 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 16% และ 4.ภาคการวางผังเมืองสีเขียว 0.01 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 16% 

ทั้งหมดนี้เป็นแผน และมาตรการที่จะทำให้เมืองหลวงของประเทศเป็นเมืองที่น่าอยู่ ในด้านของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และก้าวขึ้นสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” อย่างยั่งยืน 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์