ประชุมสุดยอดผู้นำ Climate Action ยูเอ็นเรียกร้องกลุ่มจี 20 นำคุมอุณหภูมิโลก
ประธานาธิบดี “อิลฮัม อาลีเยฟ” แห่งสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานได้เชิญผู้นำประเทศกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมการประชุม World Leaders Climate Action Summit
การประชุมสุดยอดผู้นำโลกด้านการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันนี้ (อังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2567) ณ สนามกีฬาบากู Plenary Hall Nizami เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบากู ทั้งนี้ งานซัมมิทจะจัดถึงวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2567 มีหัวหน้ารัฐ และรัฐบาล, คณะผู้แทนพรรค, แขกที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน, หัวหน้าองค์กรสหประชาชาติ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วม
แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ผู้นำโลกจะต้องมีส่วนร่วม และเสริมสร้างความทะเยอทะยาน และดำเนินการเพื่อลดการปล่อยมลพิษ ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแก้ไขความสูญเสีย และความเสียหาย เพื่อนำไปปฏิบัติ และเปลี่ยนการตัดสินใจที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศให้กลายเป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรม และแผนที่น่าเชื่อถือ
ในพิธีเปิดมี 3 ผู้นำขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์ นำโดยนายอิลฮัม อาลีเยฟ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอาเซอร์ไบ ต่อด้วยนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ และปิดท้ายด้วยนางไมมูนาห์ โมฮัมหมัด ชารีฟ นายกเทศมนตรีกรุงกัวลาลัมเปอร์และอดีตผู้อำนวยการบริหารโครงการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งสหประชาชาติ นอกจากนั้น มีการแสดงด้านวัฒนธรรมในตอนท้ายของงาน
อาเซอร์ไบจาน จุดยุทธศาสตร์
“อิลฮัม อาลีเยฟ” ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน กล่าวว่า อาเซอร์ไบจานรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นเจ้าภาพการประชุม COP29 โดยได้รับการสนับสนุนจากเกือบ 200 ประเทศ ถือเป็นการแสดงความเคารพต่ออาเซอร์ไบจาน ตลอดจนชื่นชมบทบาทของเราบนเวทีระหว่างประเทศ
อาเซอร์ไบจานเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีทวีปตะวันออกและตะวันตก เหนือ และใต้มาบรรจบกัน เรายังประเทศได้สร้างสะพานทางการเมือง วัฒนธรรม พลังงาน และการขนส่งระหว่างประเทศต่างๆ โครงการขนาดใหญ่ที่อาเซอร์ไบจานริเริ่มได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านพลังงาน และการขนส่งของยูเรเซีย และนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศหลายชาติที่ประสบผลสำเร็จ
"แม้ว่าประเทศอาร์เมเนียจะยึดครองดินแดนของอาเซอร์ไบจานกือบ 20% ในเขตนากอร์โน-คาราบัค เป็นเวลา 30 ปี การกวาดล้างทางชาติพันธุ์ และการเนรเทศชาวอาเซอร์ไบจานกว่าหนึ่งล้านคน เราก็สามารถสร้างประเทศที่เข้มแข็งพร้อมเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเอง และนโยบายอิสระได้
สี่ปีที่แล้ว เราเฉลิมฉลองชัยชนะประวัติศาสตร์ในสงครามคาราบัค ครั้งที่สอง และหนึ่งปีที่แล้ว เราได้ฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยของเราอย่างเต็มที่ตามกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ และมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้บนกระดาษเป็นเวลา 30 ปี เราได้นำมติเหล่านี้ไปปฏิบัติด้วยตนเอง ฟื้นฟูกฎหมายระหว่างประเทศ และความยุติธรรม และยุติการยึดครอง”
ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ประธานาธิบดีอาลีเยฟ เน้นถึงบทบาทที่สำคัญของอาเซอร์ไบจานในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และองค์การความร่วมมืออิสลาม เป็นเวลา 4 ปีที่อาเซอร์ไบจานได้รับเลือกเป็นเอกฉันท์จาก 120 ประเทศให้เป็นประธานของขบวนการนี้
ซึ่งเป็นสถาบันระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสหประชาชาติ ที่รวมเกือบ 60 ประเทศ รวมถึงสมาชิกสหภาพยุโรป 10 ประเทศ การเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ และการสนับสนุนหลายฝ่ายของอาเซอร์ไบจานทำให้เป็นตัวแสดงสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนั้น อาเซอร์ไบจานมีวาระพลังงานสีเขียวที่ทะเยอทะยาน โดยเน้นถึงศักยภาพที่สำคัญของประเทศสำหรับพลังงานหมุนเวียน เมื่อเดือนที่แล้วได้เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคโดย Masdar จาก UAE และการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานลมที่กำลังดำเนินการโดย Aqua Power จากซาอุดีอาระเบีย
และในระหว่าง COP29 จะมีการลงนามข้อตกลงกับ BP จากสหราชอาณาจักรเพื่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเขต Jabrayil โดยภายในปี 2030 อาเซอร์ไบจานมีแผนที่จะสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และน้ำด้วยกำลังการผลิตรวมประมาณ 6 กิกะวัตต์
COP29 ถูกเรียกร้องให้บอยคอต
ประธานาธิบดีอาลีเยฟ กล่าวถึงภาคพลังงานน้ำมัน และก๊าซของอาเซอร์ไบจาน โดยเน้นถึงความเป็นจริงของการขุดเจาะน้ำมันในบากูปี 1846 ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลก และตำหนิการที่ถูกเรียกว่า "รัฐน้ำมันเผด็จการ" จากสื่อ และนักการเมืองตะวันตกบางกลุ่ม ที่ไม่เป็นธรรม และขาดความรู้ทางการเมือง
ในตอนท้าย เขาย้ำถึงความมุ่งมั่นของอาเซอร์ไบจานต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานสีเขียว พร้อมกับยอมรับความเป็นจริงของการพึ่งพาพลังงานน้ำมัน และก๊าซในช่วงเปลี่ยนผ่าน
แม้จะมีการเรียกร้องให้บอยคอต COP29 ประธานาธิบดีอาลีเยฟก็ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าการประชุมสุดยอดนี้มีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนถึง 72,000 คนจาก 196 ประเทศ
ห่วงโซ่อุปทานมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
"อันโตนิโอ กูเตอร์เรส" เลขาธิการสหประชาชาติ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชุม COP ครั้งนี้ ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5°C และเร่งการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้
กูเตอร์เรส กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมทั่วโลก ตั้งแต่พายุเฮอริเคนที่รุนแรง การเสียชีวิตในสภาพอากาศร้อนจัด ไปจนถึงความหิวโหยเนื่องจากภัยแล้ง ปัญหาเหล่านี้เพิ่มพูนขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ และไม่มีประเทศใดที่หลีกเลี่ยงได้
"ด้านเศรษฐกิจ ห่วงโซ่อุปทานมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกที่ การเก็บเกี่ยวที่ล้มเหลวที่ผลักดันราคาขึ้น และบ้านที่ถูกทำลายที่เพิ่มค่าเบี้ยประกันภัยปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องของความอยุติธรรมที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ว่าผู้ร่ำรวยสร้างปัญหาแต่คนยากจนมีราคาที่ต้องจ่ายสูง"
หาเงินทุนลดโลกร้อนนำโดยกลุ่ม G20
COP28 เมื่อปีที่แล้ว มีความก้าวหน้าหลังจากเรียกร้องให้ทุกประเทศตกลงที่จะเคลื่อนย้ายออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และมุ่งสู่ระบบพลังงานศูนย์การปล่อยก๊าซ การตั้งเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ และการปรับแผนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NDCs) ให้สอดคล้องกับขีดจำกัด 1.5°C
"กูเตอร์เรส" เรียกร้องให้ทุกประเทศมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน การปกป้องประชาชนจากผลกระทบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และการจัดหาเงินทุนสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เขาย้ำว่าทุกประเทศต้องทำหน้าที่ของตนเอง และกลุ่ม G20 ต้องเป็นผู้นำในการนี้
สุดท้ายเขาได้เน้นถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว โดยเน้นว่าการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งจำเป็น และเงินทุนสำหรับสภาพภูมิอากาศไม่ใช่การให้การช่วยเหลือ แต่เป็นการลงทุนในอนาคตที่มั่นคงสำหรับทุกประเทศบนโลก
ประชาชนมองหาผู้นำเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
"ไมมูนาห์ โมฮัมหมัด ชาริฟ" นายกเทศมนตรีกัวลาลัมเปอร์ และอดีตผู้อำนวยการบริหารโครงการที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ เล่าว่า ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะชุมชนที่เปราะบาง สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ชีวิตของคนกลายเป็นการต่อสู้ในแต่ละวัน และประชาชนกำลังมองหาให้ผู้นำระดับโลกดำเนินการเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
ในฐานะอดีตรองเลขาธิการ และผู้อำนวยการบริหารของ UN-Habitat "ไมมูนาห์" ขอบคุณประธานการประชุม COP29 สำหรับความร่วมมือในการสร้างความต่อเนื่องในการพัฒนาเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นในชาร์ม เอล ชีค และดูไบในครั้งก่อนหน้า
นอกจากนั้น เธอกล่าวถึงความท้าทายที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ และเมืองกำลังพัฒนาทั่วโลกต้องเผชิญ เช่น คลื่นความร้อนที่ยาวนานที่สุด และพายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และย้ำถึงความจำเป็นในการได้รับทุนประจำปีเพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียว และป่าในเมือง รวมถึงการลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
นอกจากนี้ ยังเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เน้นธรรมชาติ เช่น การขยายแนวคิดของเมืองสีเขียว และการสร้างศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง และยังเตือนถึงปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรที่คาดว่าจะมีถึง 1.3 พันล้านตันในปี 2040 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาหารและน้ำ
"ดิฉันขอเรียกร้องให้ทุกประเทศเสริมสร้างพหุภาคี และการสนับสนุนองค์กรพหุภาคี เช่น สหประชาชาติ เพื่อให้มีการดำเนินการที่ชัดเจนในการช่วยโลกเพื่อคนรุ่นปัจจุบัน และอนาคต
นอกจากนั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียวมีความสำคัญ และขอเรียกร้องให้ทุกประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันหาวิธีการในการดำเนินการทันที และจริงจัง เพื่อทำให้โลกเป็นที่ที่ดีขึ้น"
ที่มาภาพ : COP29 Azerbaijan/Flickr
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์