ทรัมป์ชนะวาระ 2 ส่งออกสหรัฐน่าห่วง ท้าทายภายใต้กลไก CBAM ยุโรป

ทรัมป์ชนะวาระ 2 ส่งออกสหรัฐน่าห่วง ท้าทายภายใต้กลไก CBAM ยุโรป

ชัยชนะวาระที่ 2 ของ "ทรัมป์" เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้นำประเทศต่างๆ กำลังพบปะกันที่อาเซอร์ไบจานใน COP29 เพื่อหารือเป้าหมายใหม่ในการลดอุณหภูมิโลก นานาประเทศจับตามองท่าทีของทรัมป์ เพราะเขามักจะปฏิเสธว่า เรื่องโลกร้อนไม่มีอยู่จริง หรือเพิกเฉยต่อผลกระทบของสิ่งแวดล้อม

ชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 47 อาจทำให้ผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ต้องเปิดแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการกลับมาของพรรครีพับลิกัน และคาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในภูมิทัศน์ของการส่งออกของสหรัฐ ไปยังยุโรป ผ่านกลไกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM)

เพราะเขาได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะปล่อยการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดกฎระเบียบด้านมลพิษ ล้มล้างวาระด้านสภาพภูมิอากาศของ “โจ ไบเดน” และจะถอนสหรัฐ ออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกครั้ง

ทั้งนี้ ระยะเปลี่ยนผ่านในการใช้กลไก CBAM ได้เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2023 และจะมีการนำไปปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2026 โดยมีเป้าหมายสร้างความเท่าเทียมกันด้านการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ด้วยการกำหนดภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสำหรับการนำเข้า ซึ่งหมายความว่าผู้ส่งออกของสหรัฐ จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเหล่านี้ และอาจส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าที่มีคาร์บอนสูง นอกจากนั้น อาจจะทำให้สหรัฐ มีความสามารถในการแข่งขันน้อยลงในตลาดยุโรปเนื่องจากต้นทุนคาร์บอนที่เพิ่มขึ้น

 

 

สหรัฐถือว่าเป็นพันธมิตรการค้ารายใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป โดยสถิติการส่งออกไปยังยุโรปช่วงปี 2021-2023 ซึ่งเป็นช่วงที่ “โจ ไบเดน” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ข้อมูลจาก Statista) มีรายละเอียดดังนี้

  • ปี 2021 ปริมาณ 3.69 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2022 ปริมาณ 3.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2023 ปริมาณ 2.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยปี 2021 สหรัฐถูกจัดจัดอันดับให้เป็นประเทศชั้นนำที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมากที่สุด

เมื่อเปรียบเทียบกับยุคที่ “ทรัมป์” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 สถิติส่งออกไปยังประเทศในยุโรป ช่วงปี 2017-2020 มีดังนี้

  • ปี 2017 ปริมาณ 2.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2018 ปริมาณ 3.19 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2019 ปริมาณ 3.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2020 ปริมาณ 2.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

การบริหารของทรัมป์เป็นที่รู้จักในด้านนโยบายปกป้องการค้า รวมถึงการกำหนดภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้า ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจากยุโรป ทำให้สหภาพยุโรปตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีศุลกากรเช่นกัน ความตึงเครียดทางการค้านี้อาจขัดขวางการไหลเวียนของการส่งออกของสหรัฐ ไปยังยุโรป ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานบริหารการค้าระหว่างประเทศ (ITA) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ระบุว่า CBAM ทำให้ผู้ส่งออกของสหรัฐ ต้องวางแผน และปฏิบัติตามมาตรฐานของสหภาพยุโรปได้ยากขึ้น ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบนี้อาจทำให้กระบวนการส่งออกซับซ้อนขึ้น

โดย CBAM ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐ ไปยังยุโรปในภาคอุตสาหกรรมเหล็ก อะลูมิเนียม ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน เป็นต้น เนื่องจากภาคส่วนเหล่านี้มีการปล่อยมลพิษสูง และมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของคาร์บอน

สหภาพยุโรปจึงประเมินว่า หากควบคุมภาคส่วนเหล่านี้จะช่วยควบคุมการปล่อยมลพิษได้ 50% และในที่สุด CBAM จะขยายไปยังภาคส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังนั้น ผู้ส่งออกของสหรัฐ จะต้องปรับตัวให้เข้ากับกลไกการกำหนดราคาคาร์บอน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดยุโรป

ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ ได้แสดงความกังวลหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย CBAM โดยผู้ส่งออกของสหรัฐ ต้องการความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับข้อการรวบรวมข้อมูลคาร์บอนจากซัพพลายเออร์รายย่อย และความรับผิดที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์ที่ไม่สามารถให้ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนได้ครบถ้วน ขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาระผูกพันของตนในฐานะตัวแทนศุลกากรทางอ้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย

รายงานล่าสุดของสหประชาชาติ (United Nations : UN) เตือนว่า การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของโลกกำลังดำเนินไปอย่างล่าช้าเกินไป และหากผู้นำโลกไม่เร่งดำเนินการอย่างจริงจังในทันที ก็ “แทบจะไม่มีทาง” ที่จะบรรลุเป้าหมายระหว่างประเทศในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ

ขณะเดียวกัน “แซม ริคเกตส์” นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ และอดีตผู้ช่วยของเจย์ อินสลี ผู้ว่าการรัฐวอชิงตันจากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า "ชัยชนะของทรัมป์เป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับสำหรับคนที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่มีสุขภาพดี และคนที่ต้องการโลกที่ปลอดภัย และน่าอยู่สำหรับลูกหลาน"

ขณะที่ “ร็อบ แจ็คสัน” นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และประธานโครงการคาร์บอนโลก (Global Carbon Project) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศต่างๆ กล่าวว่า

"ก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริกาได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดหมุนเวียนแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นหลัก ผมหวังว่า เมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เราจะไม่ลืมประโยชน์ของพลังงานสะอาด เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับชีวิต และสุขภาพของเราด้วย”

หากสหรัฐ ยอมรับนโยบาย “ปล่อยคาร์บอนฟรี” ภายใต้การนำของทรัมป์ อาจทำให้ผู้ส่งออกของสหรัฐ เผชิญความท้าทายมากขึ้นในการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปเนื่องจากต้นทุนคาร์บอนที่เพิ่มขึ้น

 

 

 

อ้างอิง : ITA, StatistaCSISPolitico, Wtop News

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์