ESG Bond กับโอกาสผลตอบแทน ดีต่อใจ ดีต่อพอร์ตลงทุนปี 2567
ในปี 2567 นี้ SCB CIO มองว่า ตราสารหนี้ยังเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดี โดยผู้ที่ต้องการลงทุน ในตลาดตราสารหนี้ที่มีส่วนสร้างผลกระทบเชิงบวก ก็มีตราสารหนี้ที่คำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG Bond ให้เลือก
จากข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ไทย ระบุว่า ESG Bond แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1) ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) - เงินจะถูกใช้ลงทุนหรือชำระคืนหนี้ (re-finance) ในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Bond) ก็อยู่ในตราสารหนี้ประเภทนี้
2) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) - เงินจะถูกใช้ลงทุนหรือ re-finance ในโครงการเพื่อสังคม
3) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) - เงินจะถูกใช้ลงทุนหรือ re-finance ในโครงการที่เกิดประโยชน์ทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม
4) ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) - กำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทน ขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดหรือเป้าหมายที่ผู้ออกตราสารกำหนดไว้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม กรณีดำเนินการไม่สำเร็จตามตัวชี้วัดในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ออกตราสารต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (coupon) ให้ผู้ลงทุน
ทั้งนี้ Moody's ระบุว่า ปี 2566 ทั่วโลกออก ESG Bond ประมาณ 9.46 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2565 ขณะที่ ปี 2567 คาดว่าอยู่ที่ 9.5 แสนล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับปี 2566
ในส่วนของไทย จากสถิติของสมาคมตราสารหนี้ไทย ปี 2566 พบว่า มีการออก ESG Bond 179,866 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ที่ออก 214,029 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าคงค้าง ESG Bond คิดเป็น 4% ของตลาดตราสารหนี้ไทย แบ่งเป็น Sustainability Bond 67% Green Bond 21% Sustainability-Linked Bond 8% และ Social Bond 4%
นอกจากตราสารหนี้ 4 ประเภท ยังมี Transition Bond ที่ออกแบบมาช่วยบริษัทในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสมาคมตราสารหนี้ไทยให้คำจำกัดความว่า เป็นตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสาร ยังไม่ได้เป็นธุรกิจสีเขียว แต่ต้องการระดมทุนปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหรือกระบวนการผลิตให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สิ่งที่น่าสนใจในปี 2567 คือ บริษัทต่างๆ ลงทุนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ซึ่งจะผลักดันให้ความสนใจลงทุนใน ตราสารหนี้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน หรือ Transition Bond มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ S&P Global เคยคาดการณ์ว่า การระดมทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการออก Transition Bond จะมีสัดส่วน 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากการลงทุนประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเงินลงทุนประจำปีที่จำเป็นต่อการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 2°C ภายในปี 2593
ผมมองว่า Transition Bond ช่วยให้ผู้ลงทุนที่สนใจ ESG Bond มีทางเลือกลงทุนมากขึ้น ทั้งในไทยและต่างประเทศ ยังมีกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่เข้าข่ายธุรกิจสีเขียว ต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่มาก ขณะที่ ESG Bond โดยรวมน่าสนใจในยุคนี้ เพราะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลทั่วไป มีผลตอบแทนน่าสนใจในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และช่วยให้ผู้ลงทุนมีส่วนร่วมลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม
อย่างไรก็ดี อย่าลืมพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ ESG Bond ที่ลงทุน นอกเหนือจากพิจารณาผลตอบแทน และระยะเวลาลงทุน รวมทั้งพิจารณาด้วยว่า ESG Bond ที่สนใจ เป็นตราสารหนี้ประเภทใด มีสิทธิเรียกร้องในลำดับขั้นไหน กรณีเกิดปัญหาชำระหนี้ไม่ได้ โอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืนเป็นอย่างไร และมีหลักประกัน ที่นำมาชำระคืนหนี้ได้หรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคตครับ
กรณีมีเงินลงทุนจำนวนมาก ท่านควรลงทุนตราสารหนี้หลายๆ ตัว โดยที่แต่ละตัวมีสัดส่วนไม่มาก เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนกระจุกตัวในตราสารหนี้ตัวใดตัวหนึ่ง กรณีเงินลงทุนมีจำนวนไม่มาก ต้องการลงทุน ESG Bond และท่านอยู่ในกลุ่มที่สามารถลงทุนลดหย่อนภาษีได้ กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ที่มีนโยบายลงทุนใน ESG Bond ด้วยก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจครับ