'ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค' ชูศักยภาพ 'ผู้หญิง' สร้างความเสมอภาคในองค์กร
ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร “DE&I” ชู ความหลากหลาย (Diversity) ความเสมอภาค (Equity) และ การอยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก (Inclusion) สอดคล้องค่านิยม “Growing for Good” ตอบโจทย์ SDG เป้าหมายที่ 5 การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ
บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้ แบรนด์สินค้าของซันโทรี่และเป๊ปซี่โคในประเทศไทย ร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากลประจำปี 2567 วันที่ระลึกถึงความสำเร็จและความก้าวหน้าของผู้หญิง ซึ่งธีมหลักในปีนี้ คือ “Inspire Inclusion” พร้อมเป็นองค์กรที่สร้างแรงบันดาลใจและโอกาสให้กับพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม ตอกย้ำเป้าหมายขององค์กร “เพื่อจุดประกายความสดใสของชีวิต โดยการสร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย ให้ผู้คนได้อยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล”
วัฒนธรรมองค์กร “DE&I”
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร “DE&I” ซึ่งประกอบด้วยความหลากหลาย (Diversity) ความเสมอภาค (Equity) และการอยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก (Inclusion) ด้วยตระหนักดีว่าการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความเสมอภาคและการยอมรับในความแตกต่างนี้ จะช่วยก่อให้เกิดพลังบวกในการทำงาน
ขับเคลื่อนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และพนักงานสามารถแสดงศักยภาพของตนออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เพียงสร้างคุณค่าให้กับตนเองเท่านั้น แต่พนักงาน ทุกคนยังมีส่วนร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับองค์กร สอดคล้องกับค่านิยม “Growing for Good”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'เมทเธียร์' บริหารคนต่างเจน ชูหลักคิด 'Empathy & Honesty'
- องค์กรสุขภาพดี แหล่งชาร์ตพลัง 'หมอตั้ว' @เอเดลไวซ์ เดนทัลเฮ้าส์
- “ทรู” ชู 4C หลอมรวมองค์กร สร้างคนดิจิทัล สู่ Telco-Tech Company
ตอบโจทย์ SDG เป้าหมายที่ 5
ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ให้ความสำคัญและส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างและพร้อมสนับสนุนให้ผู้หญิงก้าวสู่ตําแหน่งผู้บริหารมากขึ้น ข้อมูลในปี 2566 ที่ผ่านมาระบุว่า บริษัทฯ มีพนักงานระดับผู้จัดการที่เป็นผู้หญิงกว่า 49% ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับจำนวนพนักงานระดับผู้จัดการที่เป็นผู้ชาย โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มอัตราพนักงานใหม่ที่เป็นผู้หญิงให้สูงขึ้นทุกปี
และสัดส่วนของพนักงานระดับผู้จัดการทั้งชายและหญิงจะต้องเท่ากันภายในปี 2568 ถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นเพื่อสร้างสถานที่ทำงานบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDG) เป้าหมายที่ 5 การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ
เพียงจิต ศรีประสาธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด บอกเล่าประสบการณ์ในฐานะผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการทรัพยากรบุคคล มากว่า 25 ปี และเป็นหนึ่งในผู้หญิง ที่ประสบความสำเร็จด้านการทำงานและก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ
โดยล่าสุด ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของประเทศไทย ประจำปี 2567 (Thailand's most influential HR leaders, The HR Icons list 2024) โดย ETHRWorld Southeast Asia ว่า ในปัจจุบันความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมภายในองค์กรมีความสำคัญมากและถือเป็นความท้าทายของงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
สร้างองค์กร เสมอภาค
ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ถือว่าพนักงานทุกคนเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร บริษัทฯ จึงมุ่งสร้างสถานที่ทำงานที่เปิดกว้าง มีความเสมอภาค ทุกคนต่างเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผ่านการส่งเสริมวัฒนธรรม ‘ความหลากหลาย เสมอภาค และการอยู่ร่วมกันโดย ไม่แบ่งแยก’ (Diversity, Equity, Inclusion: DE&I)
"เพราะเราเชื่อว่าการยอมรับในความหลากหลายจะช่วยให้พนักงานสามารถแสดงศักยภาพและความคิดเห็นของตนได้อย่างเต็มที่ ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ผ่านการเรียนรู้ และยอมรับความแตกต่างอย่างเข้าใจ ภายในสถานที่ทำงานที่ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งจะเอื้อต่อการทำงานเพื่อผลักดันองค์กรสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
“การสร้างองค์กรที่มีความเสมอภาคนั้น ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงใจจากทุกคนในองค์กรโดยไม่แบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ คนในองค์กรจึงจะรู้สึกปลอดภัยและมีพลังใจในการทำงาน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าทุกคนคือส่วนสำคัญในความสำเร็จขององค์กร ไม่ว่าพวกเขาจะมีเชื้อชาติใด นับถือศาสนาอะไร และมาจากวัฒนธรรมใด หรือเป็นเพศอะไร เพราะความหลากหลายและความแตกต่างคือจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้คนในองค์กรเรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน” เพียงจิต กล่าวทิ้งท้าย
สถานที่ทำงานนับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่าง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความเสมอภาคและจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม