‘พะยูน’ ในไทยหายไปไหน? เรื่องเล่าจากผู้ดูแล ‘มาเรียม’

‘พะยูน’ ในไทยหายไปไหน? เรื่องเล่าจากผู้ดูแล ‘มาเรียม’

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ สุวิทย์ สารสิทธิ์ เจ้าหน้าที่กู้ชีพทางน้ำเกาะลิบง ตัวแทนชุมชนผู้ดูแล “มาเรียม” พะยูนน้อยที่เคยเป็นขวัญใจของคนไทยทั้งประเทศเกี่ยวกับปัญหาการหายไปของ “พะยูน” ในประเทศไทย และรวมถึงความผูกพันที่คนในพื้นที่มีกับพะยูน

KEY

POINTS

  • สุวิทย์ สารสิทธิ์ เจ้าหน้าที่กู้ชีพทางน้ำเกาะลิบง ตัวแทนชุมชนผู้ดูแล “มาเรียม” พะยูนน้อยขวัญใจของคนไทยทั้งประเทศ กล่าวว่าปัจจุบัน พะยูนที่เกาะลิบงลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจาก “หญ้าทะเล” ที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูนลดลง
  • หญ้าใบมะกรูด” (Halophila ovalis) เป็นหญ้าใบสั้น มีรากสั้น อยู่ร่วมกับ “หญ้าคาทะเล” เมื่อหญ้าคาทะเลตายลง ก็ทำให้หญ้าใบมะกรูดตายไปด้วย จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูหญ้าคาทะเลก่อน หญ้าชนิดอื่น ๆ ก็จะฟื้นตัวตามมา แต่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าหญ้าทะเลจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานเพียงใด
  • เมื่อมีพะยูนตัวเดิมว่ายเข้ามาในพื้นที่ของชาวบ้านซ้ำ ๆ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาตรวจสอบและประเมินสภาพร่างกายของพะยูน เพราะนี่ไม่ใช่พฤติกรรมปรกติของพะยูน แสดงว่าต้องมีบางอย่างผิดปรกติ 

กลายเป็นข่าวใหญ่ในวงการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากของไทย เมื่อโลกโซเชียลได้เผยภาพ “พะยูน” ผอมโซและล้มตายลงในทะเล จ.ตรัง เนื่องจาก “หญ้าทะเล” แหล่งอาหารสำคัญของพะยูนเสื่อมโทรมและล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความกังวลว่าพะยูนอาจจะกำลังสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลไทย

กรุงเทพธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ สุวิทย์ สารสิทธิ์ เจ้าหน้าที่กู้ชีพทางน้ำเกาะลิบง ตัวแทนชุมชนผู้ดูแล “มาเรียม” พะยูนน้อยที่เคยเป็นขวัญใจของคนไทยทั้งประเทศเกี่ยวกับปัญหาการหายไปของ “พะยูน” ในประเทศไทย และรวมถึงความผูกพันที่คนในพื้นที่มีกับพะยูน

พะยูนในไทย

 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ออกสำรวจพะยูนในพื้นที่จังหวัดตรัง
เครดิตภาพ: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

การปลูก “หญ้าทะเล” จำเป็นสำหรับ “พะยูน”

สุวิทย์กล่าวว่าที่จริงจำนวนของพะยูนที่เกาะลิบงลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจาก “หญ้าทะเล” ที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูนลดลง ทำให้พะยูนอพยพย้ายไปอยู่ที่อื่นที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์มากกว่า 

อาหารหลักของพะยูน คือ “หญ้าใบมะกรูด” หรือ หญ้าอำพัน (Halophila ovalis) เป็นหญ้าใบสั้น มีรากสั้น อยู่ร่วมกับ “หญ้าคาทะเล” ซึ่งเป็นหญ้าทะเลขนาดใหญ่และมีรากยาวยึดกับพื้นทะเลได้ดี แต่ปัจจุบันหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรังลดลงไปจนน่าใจหาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปล่อยน้ำเน่าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและครัวเรือนลงสู่ทะเล

นอกจากนี้ “ภาวะโลกร้อน” ก็เป็นอันตรายต่อหญ้าทะเลเช่นกัน อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมามีระยะเวลาน้ำลงนานกว่าเดิม หญ้าทะเลได้รับแสงแดดนานขึ้น ทำให้หญ้าอ่อนแอ แห้งตายและติดโรคได้

หญ้าใบมะกรูด หญ้าใบมะกรูด
เครดิตภาพ: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สำหรับปัญหาหลักของทะเลตรัง เกิดขึ้นจากการขุดลอกร่องน้ำ บริเวณอ่าวกันตัง ซึ่งเมื่อเกิดพายุก็จะพัดพาตะกอนดินทับถมหญ้าทะเล จนล้มตายไปในที่สุด และยังไม่มีทีท่าที่จะฟื้นตัว

ชาวบ้านและภาครัฐกำลังร่วมมือกันฟื้นฟูหญ้าทะเลเพื่อให้พะยูนกลับมา เริ่มจากการปลูกหญ้าคาทะเลก่อน ซึ่งเมื่อหญ้าคาทะเลเจริญเติบโตได้ดี หญ้าใบมะกรูดและหญ้าชนิดอื่น ๆ ก็จะสามารถเติบโตตามขึ้นมา สุวิทย์ยืนยันว่าการปลูกหญ้าทะเลยังเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่จะต้องทำให้ถูกวิธี

“ที่ผ่านมาจะนำเมล็ดหญ้าทะเลมาเพาะกล้าแล้วนำมาปลูก ซึ่งต้นหญ้าทะเลประเภทนี้จะตายง่าย เพราะไม่ทนต่อสภาพอากาศในทะเล แต่ตอนนี้เราจะนำเศษของหญ้าทะเลที่รอดตายจากช่วงมรสุมมาพักฟื้นและเพาะปลูกใหม่” สุวิทย์เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจ

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ พื้นที่ในการเพาะปลูก “การปลูกหญ้าทะเลให้ได้ผลดี จำเป็นต้องปลูกในพื้นที่ที่มีโคลน กระแสน้ำไม่แรง เมื่อมีน้ำลงแล้วจะต้องมีแอ่งน้ำเล็ก ๆ หล่อเลี้ยงด้วย”

หากมีพื้นที่เหมาะสม และมีหญ้าคาทะเลเติบโตได้ดีเพียงไม่กี่ต้น ก็จะทำให้ระบบนิเวศกลับมาดีดังเดิมได้ เพราะหญ้าคาทะเลจะแตกหน่อขยายอาณาเขตไปทั่วบริเวณ หญ้าชนิดอื่น ๆ ก็จะขึ้นแซม หอยและสัตว์ต่าง ๆ ก็จะมาอยู่อาศัย แต่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าหญ้าทะเลจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานเพียงใด 

“มาเรียม” พะยูนตัวน้อยที่ทำให้ทุกคนหันมาสนใจ

พะยูนเป็นสัตว์ที่อยู่คู่ทะเลไทยมาอย่างยาวนาน สามารถพบได้ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย สุวิทย์กล่าวว่าตั้งแต่เขาเกิดมาเกือบ 50 ปีก็เห็นพะยูนอยู่แล้ว ซึ่งมนุษย์และพะยูนก็อยู่ร่วมกันได้ดีมาเสมอ ไม่มีการล่าพะยูน มีแต่คอยช่วยเหลือเมื่อพะยูนเกยตื้น

สุวิทย์เล่าว่าโดยปรกติแล้วพะยูนจะไม่ชอบเสียงดัง แต่พะยูนเกยตื้น พะยูนเด็กที่กำพร้าแม่ หรือพะยูนบางตัวที่ว่ายเข้าพื้นที่ของมนุษย์แสดงว่าพวกมันกำลังมีปัญหา 

ที่ผ่านมามีลูกพะยูนหลายตัวที่กลายเป็นขวัญใจคนในท้องที่ ในอดีตชาวบ้านเคยช่วย “เจ้าโทน” พะยูนวัย 2 ปีที่เกยตื้นที่หาดเจ้าไหม ในจังหวัดตรัง จนคุ้นเคยและที่รักของชาวบ้าน แต่หลังจากปล่อยมันคืนสู่ธรรมชาติ มันก็ว่ายเข้าไปติดเครื่องมือประมงจนตาย

ในปี 2562 ก็มี “มาเรียม” ลูกพะยูนอีกตัวพลัดหลงกับแม่และเข้ามาเกยตื้นที่กระบี่ หลังจากการให้การช่วยเหลือทางทีมสัตวแพทย์และผู้ดูแลได้ตัดสินใจย้ายมาเรียมมาที่เกาะลิบง เนื่องจากมีสภาพที่เหมาะสมกว่า มีหญ้าทะเลเป็นจำนวนมากและมีฝูงพะยูนอาศัยอยู่ ซึ่งหวังว่ามาเรียมจะสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฝูงพะยูนนี้ได้

แต่ด้วยสัญชาตญาณสัตว์ป่าของพะยูนที่เป็นสัตว์หวงถิ่นที่อยู่อาศัย จึงทำให้พะยูนฝูงดังกล่าว ไม่ต้อนรับและทำร้ายมาเรียม ทำให้มาเรียมว่ายขึ้นมาเกยตื้นอีกครั้ง 

สุวิทย์เป็นคนแรกที่เข้าไปหามาเรียม ในระยะแรกมาเรียมไม่ให้ใครเขาใกล้เลยนอกจากสุวิทย์ ทำให้เขาเป็นคนเดียวที่สามารถอุ้มและให้อาหารได้ ต้องรอให้มาเรียมคุ้นชินกับกลิ่นก่อน คนอื่น ๆ ถึงจะเข้าหาได้ สุวิทย์เล่าด้วยแววตาเปร่งประกายเมื่อพูดถึงมาเรียม

มาเรียมอยู่ในการดูแลของสุวิทย์และทีมแพทย์อย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 3 เดือน 11 วัน แล้วก็กลับดาวพะยูนไป เนื่องจากเผลอกินพลาสติกที่อยู่ในทะเล

“ตอนที่มาเรียมเสีย ผมแอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาล มารู้ข่าวตอนเช้า ผมใจสลาย มันเป็นความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกสาว เราอยู่ด้วยกันตลอด ป้อนนมให้กินจนหลบไปด้วยกัน เวลาหิวก็มาอ้อน พอกินเสร็จจะนอน บางทีก็มีกรน เขาเหมือนกับเด็กน้อย” 

ทั้งโทนและมาเรียมเป็นพะยูนกำพร้า โดยปรกติแล้วลูกพะยูนจะอยู่กับแม่นานถึง 2 ปี เพื่อเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ทั้งวิธีการหาอาหาร การว่ายน้ำ และการเอาตัวรอด ดังนั้นพะยูนเด็กที่พลัดหลงกับแม่จึงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

มาเรียม

พะยูนน้อย "มาเรียม"
เครดิตภาพ: คลังความรู้ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง

 

“พะยูน” สัญลักษณ์ของลิบง ที่กำลังจะหายไป?

ตรังมีพะยูนเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด แต่ในตอนนี้พะยูนมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ สุวิทย์ชี้ว่าต้องเร่งฟื้นฟูแหล่งอาหารให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ และต้องรักษาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาขยะพลาสติกด้วย

นอกจากนี้ เมื่อมีพะยูนตัวเดิมว่ายเข้ามาในพื้นที่ของชาวบ้านซ้ำ ๆ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาตรวจสอบและประเมินสภาพร่างกายของพะยูน เพราะนี่ไม่ใช่พฤติกรรมปรกติของพะยูน แสดงว่าต้องมีบางอย่างผิดปรกติ 

“ตัวผมเองเป็นอีเอ็มเอสกู้ชีพทางน้ำ สามารถปฐมพยาบาลให้พะยูนได้เบื้องต้น ต้องรอหน่วยงานมาเคลื่อนย้ายและส่งต่อให้สัตวแพทย์ช่วยรักษา”

แม้เกาะลิบงจะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีพะยูนมากที่สุด และเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม แต่ลิบงกลับไม่มีสถานที่สำหรับอนุรักษ์หรืออาคารพักฟื้นสัตว์ทะเล

“เป็นเรื่องน่าแปลกที่ไม่มีสถานที่พักฟื้นบนเกาะที่เป็นระบบนิเวศเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของสัตว์ทะเล เวลาจะเคลื่อนย้ายสัตว์แต่ละทีก็ต้องรอเจ้าหน้าที่จากต่างจังหวัดเข้ามา แต่ถ้ามีศูนย์ที่นี่ก็จะได้ประเมินอาการและรักษาได้ทันท่วงที และจะศึกษาพฤติกรรมของพะยูนได้ด้วย” สุวิทย์กล่าว

แม้มาเรียมจะอยู่ที่ลิบงหลายเดือน แต่กลับไม่มีอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงเธอเลย คงจะดีไม่น้อยหากลิบงมีสถานที่ พิพิธภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างที่ไว้ระลึกถึงพะยูนที่ทุกคนตกหลุมรัก ให้สมกับเป็นเกาะที่มีพะยูนเป็นจุดเด่น และเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม

นอกจากนี้ สุวิทย์ยังกล่าวว่า นักวิจัยหรือโครงการต่าง ๆ ที่เข้ามาทำการศึกษาเกี่ยวกับพะยูนควรให้ความรู้และสื่อสารกับชาวบ้านให้รับรู้ด้วย เพราะชาวบ้านก็อยากมีส่วนร่วม อยากช่วย พวกเขาไม่มีความรู้ ก็ทำเท่าที่ทำได้ 

ดูเหมือนการจากไปของพะยูนตั้งแต่ “เจ้าโทน” ไล่มาถึง “มาเรียม” และพะยูนผอมโซที่เพิ่งตายไป จะกลายเป็นเหมือนภาพเดิมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เมื่อเป็นข่าวทีหนึ่ง ก็จะได้รับความสนใจเพียงชั่วครู่ และสุดท้ายก็เลือนหายไปตามกาลเวลา เหมือนเป็นคลื่นที่กระทบเข้าชายฝั่ง ซึ่งหากไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นตอได้เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอีก และในวันหนึ่งก็อาจจะไม่มีพะยูนที่แหวกว่ายอยู่ในท้องทะเลไทยอีกเลย

‘พะยูน’ ในไทยหายไปไหน? เรื่องเล่าจากผู้ดูแล ‘มาเรียม’ พะยูนน้อย "มาเรียม"
เครดิตภาพ: คลังความรู้ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง