ค่ายรถจีนเริ่มผลิต 'อีวี' ในไทยปีนี้ 'เนต้า' กำลังการผลิตสูงสุด 2 แสนคัน

ค่ายรถจีนเริ่มผลิต 'อีวี' ในไทยปีนี้  'เนต้า' กำลังการผลิตสูงสุด 2 แสนคัน

สศช.เปิดรายงานการลงทุนอีวีในไทยแรงส่งการส่งเสริมการลงทุนปี 67 หลังตามมาตรการอีวี 3.0 กำหนดให้ค่ายรถที่นำเข้ารถอีวีมาจำหน่ายต้องเริ่มผลิตในปีนี้ เผยค่าย Neta กำลังการผลิตสูงสุด 2 แสนคัน แนะควรเร่งรัดการลงทุนของเอกชนให้เร็วขึ้น สร้างแรงขับเคลื่อนอุตฯอีวีต่อเนื่อง

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2566 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 โดยส่วนหนึ่งของรายงานดังกล่าวระบุถึงสถานการณ์การลงทุน โดยเฉพาะแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

สศช.ระบุว่าเมื่อพิจารณาจากข้อมูลยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ของไทยในปี 2566 ของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่รวมในปี 2566 อยู่ที่ 657,860 คัน เพิ่มขึ้น 4.6% จาก 628,722 คัน ในปี 2565 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) เป็นสำคัญ 

สำหรับยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 อยู่ที่ 76,538 คัน เพิ่มขึ้น 695.9% เมื่อเทียบกับ 9,617 คัน ในปี 2565 ขณะที่ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอยู่ที่ 481,609 คัน ลดลง 11.3% จาก 543,072 คัน ในปี 2565 ส่งผลให้สัดส่วนยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าต่อยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด อยู่ที่ 11.6% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี 2565 

ค่ายรถจีนเริ่มผลิต \'อีวี\' ในไทยปีนี้  \'เนต้า\' กำลังการผลิตสูงสุด 2 แสนคัน

ทั้งนี้หากพิจารณายี่ห้อรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ในปี 2566 เรียงตามลำดับ ได้แก่

  • BYD (สัญชาติจีน) 30,467 คัน
  • Neta (สัญชาติจีน) 12,777 คัน
  •  MG (สัญชาติจีน) 12,462 คัน
  • Tesla (สัญชาติสหรัฐ) 8,206 คัน
  • GWM (ORA) (สัญชาติจีน) 6,746 คัน 

โดยการที่ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นผลจากความสำเร็จของมาตรการกระตุ้นอุปสงค์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศของรัฐบาลภายใต้มาตรการ EV3.0 และ EV3.5 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ การลงทุนก่อสร้างโรงงานและไลน์การผลิตในประเทศ ดังนั้น รถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทยยังคงเป็นรถยนต์นำเข้าแทบทั้งสิ้น 

ค่ายรถจีนเริ่มผลิต \'อีวี\' ในไทยปีนี้  \'เนต้า\' กำลังการผลิตสูงสุด 2 แสนคัน

ค่ายจีนเริ่มผลิตรถอีวีในไทยปี 67 

ในขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่หรือยานยนต์ไฟฟ้าของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้า อาทิ 

อัตราส่วน 1:1 ในปี 2567 (นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 1 คัน) 

อัตราส่วน 1:1.5 ในปี 2568 (นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 1.5 คัน) 

Neta กำลังการผลิตสูงสุด 

สำหรับกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่ทั้งหมดเป็นบริษัทรถจากจีน จำแนกยี่ห้อ พบว่า

  • Neta มีกำลังการผลิต 200,000 คัน
  • Changan กำลังการผลิต 100,000-200,000 คัน (กำลังการผลิตระยะแรก 100,000 คัน)
  • BYD กำลังการผลิต 150,000 คัน
  • GM กำลังการผลิต 100,000 คัน
  •  GWM กำลังการผลิต 80,000 คัน
  •  GAC AION ยังไม่ระบุกำลังการผลิต

ทั้งนี้หากกำลังการผลิตของโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติต่าง ๆ สามารถผลิตได้ตามเงื่อนไขของมาตรการจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนไฟฟ้าที่สำคัญของโลกได้

สศช.ชี้การส่งเสริมการลงทุนโตต่อเนื่องปี 67 

นอกจากนี้ สศช.ประเมินว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 โดยปี 2566 มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI มีมูลค่ารวม 850,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี และขยายตัวในเกณฑ์สูงจากปีก่อน 43.4% เช่นเดียวกับยอดอนุมัติและยอดออกบัตรส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่า 750,000 ล้านบาท และ 490,000 ล้านบาท ตามลำดับ 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนในประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนระยะ 5 ปี (2566- 2570) ที่มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยโดยการส่งเสริมการลงทุนผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม

ทั้งนี้ มูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจด้านการลงทุน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.9 ในปี 2566 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวมกลับมาทรงตัวที่ระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง 

แนะเร่งรัดการลงทุนอีวีเพิ่มเติม

นอกจากนี้ สศช.เห็นว่าควรเร่งผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนช่วงปี 2564-2566 ควบคู่การเร่งรัดอนุมัติโครงการที่ได้เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งการเร่งรัดผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเริ่มประกอบกิจการให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต การจ้างงาน และการลงทุนใหม่