นัดกันคืนนี้! กทม. ชวนลดโลกร้อน ร่วมปิดไฟ 1 ชั่วโมง 23 มีนาคม 2567
นัดกันคืนนี้ กทม. ชวนลดโลกร้อน ปิดไฟ 1 ชั่วโมง 60+ Earth Hour 23 มีนาคม 2567 เวลา 20.30 - 21.30 น. ผลปิดไฟปี 2566 กรุงเทพ ลดปริมาณใช้ไฟฟ้า 36 เมกะวัตต์ ลดค่าไฟฟ้า 61,324 บาท - ชวนโลกออนไลน์ติดแฮชแท็ก #EarthHour #BiggestHourForEarth #MyHourForEarth เชื่อมโยงทั่วโลก แสดงศักยภาพชาวไทย
นายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการรณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อ ลดโลกร้อน ปี 2567 (60+ Earth Hour 2024) โดยมี ภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 สำนักสิ่งแวดล้อม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงได้ร่วมกับองค์การ WWF ประเทศไทย (องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล) และภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อกระตุ้นและรณรงค์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นัดกันวันนี้ ด้วยการเชิญชวนทุกภาคส่วน “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour)” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 17 ปี โดยรณรงค์ให้ประชาชนปิดไฟที่ไม่จำเป็น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ร่วมกับ 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคมของทุกปี ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของแต่ละเมือง
ผลจากการจัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour)
ผลจากการจัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour) เมื่อปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 36 เมกะวัตต์ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 5.2 ตัน ลดค่าไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่า 61,324 บาท
สำหรับในปี 2567 นี้ กรุงเทพมหานครได้เชิญชวนประชาชน ผู้ประกอบการ ร้านค้า และทุกภาคส่วนร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ในกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2024)” คืนนี้ ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น.
เพื่อร่วมแสดงพลังในการปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการใช้พลังงาน และลดปัญหาภาวะโลกร้อน
นอกจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว กรุงเทพมหานครยังได้ประสานสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ เข้าร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
- พระบรมมหาราชวัง (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)
- วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
- สะพานพระราม 8
- เสาชิงช้า
- ภูเขาทอง (วัดสะเกศราชวรมหาวิหาร)
แนวทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย โลกออนไลน์ "ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2024)"
โดยแนวทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียนั้น ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมกิจกรรมจะสื่อสารในทิศทางเดียวกันกับที่องค์การ WWF กำหนด คือใช้แฮชแท็ก #EarthHour #BiggestHourForEarth #MyHourForEarth เพื่อร่วมเชื่อมโยงคนทั่วโลกและแสดงให้เห็นศักยภาพของชาวไทย
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างความร่วมมือให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
พร้อมได้มีการรวบรวมผลการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน นำข้อมูลมาวิเคราะห์ สรุป และแสดงผลการดำเนินงานเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อแบ่งปันข้อมูลผลการดำเนินงานให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและเป็นตัวอย่างในการดำเนินกิจกรรมต่อไปในอนาคต
โดยผลการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ 25 หน่วยงาน ในปี 2564 เท่ากับ 23,828.7 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) และในปี 2565 มีภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็น 30 หน่วยงาน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 26,975.9 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
การการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก "ลดโลกร้อน" 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.) ด้านการขนส่งมวลชน
2.) ด้านพลังงาน
3.) ด้านพื้นที่สีเขียว
4.) ด้านการจัดการขยะมูลฝอย
เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมปิดไฟ
“ในการนี้ กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมปิดไฟ หรือปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ในอาคารสำนักงานและในบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น.
เพื่อร่วมแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ในการลดการใช้พลังงานและลดปัญหาภาวะโลกร้อนไปพร้อมกับ 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟภายในบ้าน ช่วยชาติประหยัดพลังงาน ประหยัดงบประมาณ และช่วยรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน” รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าว
อ้างอิง : กรุงเทพมหานคร