‘ยูเออี’ ใช้เกลือทำ ‘ฝนเทียม’ แก้ปัญหา ‘ขาดแคลนน้ำ’
“สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” หรือ “ยูเออี” หันใช้ “ฝนเทียม” ที่มี “เกลือธรรมชาติ” เป็นองค์ประกอบหลัก เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ที่เป็นผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อีกทั้งมีต้นทุนที่ถูกกว่าการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
KEY
POINTS
- สหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ผู้คน 1,800 ล้านคนทั่วโลก จะเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่จะกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำมากกที่สุด ประชากรประมาณ 83% ในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหา “ความเครียดน้ำ” (Water Stress) ซึ่งเป็นภาวะขาดแคลนน้ำจืดในระดับสูง
- “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” หรือ “ยูเออี” กำลังแก้ปัญหาภัยแล้งนี้ด้วยการทำ “ฝนเทียม” (Cloud Seeding) ซึ่งเป็นการใช้สารเคมีช่วยสร้างเมฆจนก่อให้เกิดเป็นฝน นับเป็นวิธีที่ถูกกว่าและได้ผลทันตา
- ปรกติแล้วการทำฝนเทียมมักจะใช้สารเคมีหลากหลายประเภท แต่การทำฝนเทียมที่ในยูเออีนั้นไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายใด ๆ ในการดำเนินงาน มีเพียงแต่ “เกลือ” เป็นองค์ประกอบหลัก
“สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” หรือ “ยูเออี” หันใช้ “ฝนเทียม” ที่มี “เกลือธรรมชาติ” เป็นองค์ประกอบหลักเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ที่เป็นผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อีกทั้งมีต้นทุนที่ถูกกว่าการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
“ตะวันออกกลาง” เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากผลกระทบของ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่ยิ่งทำให้ทั้งภูมิภาค “ขาดแคลนน้ำ” และพบกับแห้งแล้งเร็วยิ่งขึ้น แต่ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” หรือ “ยูเออี” กำลังแก้ปัญหานี้ด้วยการทำ “ฝนเทียม”
ในแต่ละปีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่า 200 มิลลิเมตร ซึ่งต่ำมากเทียบกับเมืองอื่น ๆ เช่น ค่าเฉลี่ยของลอนดอนที่ 1,051 มิลลิเมตร ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 3,012 มิลลิเมตร และค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยปี 2566 อยู่ที่ 1,520.6 มิลลิเมตร ตามข้อมูลจากศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา
ในช่วงฤดูร้อนของยูเออีอาจมีอุณหภูมิอาจสูงถึง 50 องศาเซลเซียส เนื่องจากภูมิประเทศกว่า 80% ของประเทศเป็นภูมิประเทศแบบทะเลทราย ดังนั้นความร้อนจัดอาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงขึ้นและพืชผลทางการเกษตรไม่สามารถเจริญเติบโตได้
สหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ผู้คน 1,800 ล้านคนทั่วโลก จะเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่จะกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำมากกที่สุด ประชากรประมาณ 83% ในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหา “ความเครียดน้ำ” (Water Stress) ซึ่งเป็นภาวะขาดแคลนน้ำจืดในระดับสูง
“ฝนเทียม” กำจัดความแห้งแล้ง
ในปี 1960 ยูเออีมีน้ำสำรองเพียงพอสำหรับการใช้บริโภคในประเทศมีประชากรต่ำกว่า 100,000 คน แต่ตอนนี้ยูเออีกลายเป็นประเทศมีประชากรเกือบ 10 ล้านคน ทำให้ “ปัญหาขาดแคลนน้ำ” จึงเป็นปัญหาหลักสำหรับเมืองที่อยู่กลางทะเลทรายแห่งนี้ ปัจจุบันผู้อยู่อาศัยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใช้ประมาณ 147 แกลลอนต่อคนต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่เพียง 47 แกลลอน ตามรายงานการวิจัยปี 2021 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเอมิเรตส์
แม้ว่าในประเทศจะมีโรงงานแยกเกลือออกจากน้ำทะเล เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้น้ำแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งในการสร้างโรงงานแต่ละแห่งต้องใช้เงินอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ และต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาลในการเดินเครื่อง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหาหนทางอื่นที่ถูกกว่าและได้ผลทันตา นั่นก็คือ “การทำฝนเทียม”
ในทศวรรษ 1990 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เสนอ “การทำฝนเทียม” (Cloud Seeding) ซึ่งเป็นการใช้สารเคมีช่วยสร้างเมฆจนก่อให้เกิดเป็นฝน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในประเทศ และทุ่มเม็ดเงิน 20 ล้านดอลลาร์ในการศึกษาวิจัยการทำฝนเทียม โดยร่วมมือกับศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐและนาซาเพื่อหาวิธีการทำฝนเทียมที่เหมาะสมกับยูเออีโดยเฉพาะ
รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่าศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ หรือ NCM ในกรุงอาบูดาบี สำหรับเป็นหน่วยงานที่นำหน้าที่สร้างฝนเทียมมากกว่า 1,000 ชั่วโมงในแต่ละปี เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้แก่ประเทศพร้อมมีเครือข่ายเรดาร์ตรวจอากาศและสถานีตรวจอากาศมากกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ สำหรับติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด
นักพยากรณ์อากาศที่ศูนย์สามารถสังเกตรูปแบบการตกตะกอนของเมฆ และระบุเมฆที่เหมาะสมในการทำฝนเทียม เมื่อสภาพอากาศและความชื้นเหมาะสมสำหรับการทำฝนเทียม นักบินจะขึ้นไปทำปฏิบัติการสร้างฝนเทียมทันที โดยจะยิงพลุทำความชื้นเข้าไปในก้อนเมฆที่เหมาะสม ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 นาที
หลังจากที่สารถูกฉีดเข้าไปในก้อนเมฆ ไอน้ำจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ทันทีที่หยดน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น ก้อนเมฆก็จะไม่สามารถรับน้ำหนักได้ เกินที่จะต้านทานต่อแรงโน้มถ่วง ตกลงมากลายเป็นฝนในที่สุด
“ฝนเทียม” ของยูเออี ใช้แค่ “เกลือ”
ปรกติแล้วการทำฝนเทียมมักจะใช้สารเคมีหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือ “ซิลเวอร์ไอโอไดด์” ซึ่งเป็นมีรูปร่างคล้ายผลึกคริสตัลที่ใช้ทำฝนหลวงเมฆเย็น เมื่อเข้าไปในเมฆแล้วแตกตัวเป็นแกนควบแน่นในก้อนเมฆ ทำให้เกิดความกังวลในวงกว้างว่าสารเคมีที่ใช้ในการทำฝนเทียมจะสร้างผลกระทบอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนโดยรวม
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ในปัจจุบันว่าสารดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตราย
ขณะที่อับดุลลา อัล มันโดส ผู้อำนวยการทั่วไปของ NCM กล่าวกับสำนักข่าว CNBC ว่าการทำฝนเทียมในยูเออีนั้นไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายใด ๆ ในการดำเนินงาน
“เราใช้เกลือธรรมชาติเท่านั้น และไม่มีสารเคมีอันตราย” อัล มันโดส บอกกับ CNBC
นอกจากนี้เขายังกล่าวเสริมว่า ทางศูนย์แห่งนี้เริ่มผลิตสารทำฝนเทียมที่เรียกว่า “วัสดุนาโน” เป็นเกลือละเอียดที่เคลือบด้วยไททาเนียมออกไซด์ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
“มันจะให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพลุดูดความชื้นถึงสามเท่า” เขากล่าว
ปัจจุบันวัสดุนาโนอยู่ระหว่างการทดลองและทดลองในบรรยากาศต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหรัฐ
ที่มา: Alarabiya, CNBC, The New York Times