‘เทพรัตน์’ ผู้ว่าฯ คนที่ 16 โชว์แผนดัน 'กฟผ.' รุกพลังงานใหม่

‘เทพรัตน์’ ผู้ว่าฯ คนที่ 16 โชว์แผนดัน 'กฟผ.' รุกพลังงานใหม่

“เทพรัตน์” ผู้ว่า กฟผ.คนที่ 16 ลุย 5 ภารกิจ ทุ่มงบปีนี้ 3-4 หมื่นล้าน ชูเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ หนุนความมั่นคงระบบไฟฟ้า รับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน ยันไม่สนับสนุน Net Metering ชี้คนได้ประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟมากกว่า แนะรัฐเคาะค่าไฟปีละครั้ง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงานที่ทำหน้าที่ผลิตและจัดหาไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งได้ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่หลังจากที่เข้าสู่กระบวนการสรรหามาตั้งแต่ ก.พ.2566 

รวมทั้งล่าสุดหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ยืนยันชื่อนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนที่ 16 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2567 และเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2567 จะมีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 1 ปี 4 เดือน

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ภาระกิจแรกที่โฟกัสจะเป็นเรื่องความมั่นคงด้านไฟฟ้า เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ ถือเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศ โดยนักลงทุนจะให้ความสำคัญเรื่องความเสถียรมากที่สุด จากเหตุการณ์วันที่ 18 มี.ค.2521 ไทยเกิดปัญหาไฟดับทั้งประเทศ กฟผ.จึงต้องเร่งปรับปรุงจนกลายเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพระดับต้นของโลก และจากนี้จะเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ 

1.การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ กฟผ.ต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้ทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงระบบไฟฟ้าหลัก

สำหรับแนวทางดำเนินงานจะปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ให้ยืดหยุ่น การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยใช้ AI มาช่วยเรียนรู้ความคลาดเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่อัจฉริยะ และจะเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำต่อไป 

รวมถึงศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (DCC) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือนในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากมองในช่วงปี 2573 สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% และความต้องการใช้ไฟฟ้า (พีค) สูงสุดจะเริ่มไปแตะโรงไฟฟ้าที่ควบคุมได้จะมีความเสี่ยง เมื่อทุกคนต้องการใช้พลังงานจากโซลาร์หรือลม ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าใหม่ต้องดีด้วย ซึ่ง กฟผ.มีระบบแบตตอรีสำรองใน 2 โรงไฟฟ้า เมื่อแสงแดดหายจะเข้ามาเสริม ยอมรับว่าวันนี้ก็ไม่พอจึงต้องนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงให้ดิจิทัลมากขึ้น

กฟผ.รับมือ“อีวี”ดันพีคไฟช่วงหัวค่ำ

2.บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่สนับสนุนระบบ Net Metering หรือ ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง จากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟที่ใช้จากการไฟฟ้า มองว่ายังไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมกับไทยเวลานี้ เพราะเป็นภาระประชาชนที่ไม่ติดตั้งโซลาร์ แต่ต้องมารับภาระการลงทุนระบบไฟฟ้าทั้งหมด เพราะสุดท้ายหากผู้ใช้ระบบดังกล่าวเกิดปัญหาก็ต้องกลับมาใช้ไฟจากระบบสายส่งหลัก แต่ไม่ต้องรับภาระส่วนนี้ จึงสนับสนุนให้ใช้ระบบ Net Billing ต่อไป

“วันนี้ภาคนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะมีผู้ใช้สูงขึ้นแค่เปิดไฟ เปิดทีวี ไฟหัวค่ำก็พีคแล้ว ถ้าทุกบ้านมีอีวีตามนโยบาย 30@30 พีคหัวค่ำจะสูงพีคสูงไปอีกจะเป็นอีกปัญหา เพราะราคาค่าไฟเท่ากัน แต่โรงไฟฟ้าเดินเครื่องตามต้นทุน โรงถูกจะเดินก่อน หากพีคสูงจะทำให้โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงจะต้องเดินเครื่อง”

รวมทั้งหากปรับโครงสร้างค่าไฟอาจจะเสนอว่าถ้าชาร์จไฟช่วงหัวค่ำต้องจ่าย 7 บาท อยากจ่ายถูกไปชาร์จตี 1 เป็นต้น ซึ่งต้องทำทั้งระบบ เช่น หากต้องการขายไฟคืนระบบอาจชาร์จตี 1 แล้วขายไฟช่วงหัวค่ำ

นอกจากนี้ กฟผ.สนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้

เร่งแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

3.การให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน กฟผ.และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น โดยเฉพาะไฮโดรเจนที่เป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติและเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell)

รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) มาใช้ด้วย

4.สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ.ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ในเบื้องต้นจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง

ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที

5.กฟผ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ.ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

“กฟผ.เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยช่วงที่ไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”

แนะภาครัฐเคาะค่าไฟฟ้าปีละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐพิจารณาปรับรูปแบบการคำนวณค่าไฟของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุก 4 เดือน ทำให้ค่าไฟขึ้นลงผันผวน กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน การคำนวณต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปกติเอกชนจะโควทต้นทุนที่สูงที่สุดของปีและเมื่อค่าไฟถูกลงก็ไม่ได้ลดราคาสินค้าลง 

ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรกำหนดค่าไฟให้ต่ำและนิ่งอาจคำนวณทุก 1 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ต้นทุนระยะยาว เพราะราคาพลังงานขึ้นลงเป็นปกติ สามารถหักลบกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศแน่นอน

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าไฟแทนประชาชนอยู่ที่ 99,689 ล้านบาท คาดว่าค่าไฟงวดใหม่ เดือน พ.ค.-ส.ค.2567 ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชนจะสรุปตัวเลขที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กฟผ.จะได้เงินคืน 7 งวดงวดละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย 

ทั้งนี้ คาดหวังอัตราค่าไฟหลังจากนี้ กฟผ.จะได้เงินคืนรูปแบบนี้ทั้ง 7 งวดเพื่อบริหารสภาพคล่อง กฟผ.โดยปี 2567 กฟผ.ตั้งงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท เน้นลงทุนปรับปรุงระบบสายส่ง และโซลาร์ลอยน้ำ และปัจจุบันกฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าประมาณ 30% ของการผลิตทั้งประเทศ