'สนพ.' เผยปี 66 ภาค 'พลังงาน' ปล่อยคาร์บอนลดลง 2.4% อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน
"สนพ." เผยการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคพลังงานปี 2566 ลดลง 2.4% อยู่ที่ระดับ 243.6 ล้านตันคาร์บอน โดยน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุด 43% รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วน 33% และ 24% ตามลำดับ
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน ปี 2566 พบว่า การปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 243.6 ล้านตันคาร์บอน ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง อุปสงค์ในตลาดโลกมีความต้องการสินค้าลดลง ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกชะลอตัวทำให้การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้พลังงานของประเทศไทยที่ลดลงเล็กน้อย
สำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2566 พบว่า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอน อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน ลดลง 2.4% โดยการปล่อยคาร์บอนจากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ 43% รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วน 33% และ 24% ตามลำดับ
ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และน้ำมันสำเร็จรูป ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลง 15.0% และ 1.1% ตามลำดับ ในขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 7.5% ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ในปี 2566 ที่ลดลง ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจในปี 2566 พบว่า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอน อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน ลดลง 2.4% โดยภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 81.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.1% ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 95.2 ล้านตัน ลดลง 9.7% ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 89.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.8%
และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ มาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนรวม 13.2 ล้านตัน ลดลง 3.5%
“หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อการใช้พลังงานเฉลี่ย อยู่ที่ 2.05 พันตัน ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.27 2.28 2.13 และ 2.85 พันตันคาร์บอนต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ"
ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนิงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้