กรมพัฒนาที่ดิน. ชู สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ทำปุ๋ยหมักใช้เอง แถม ลด ฝุ่น PM 2.5
กรมพัฒนาที่ดิน ชวน เกษตรกร ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ทำปุ๋ยอินทรีย์ จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ปรับปรุงดินสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาล ปี 67 แถม ลดปัญหาหมอกควัน ลดฝุ่น PM 2.5
มลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาที่สำคัญกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลให้เพิ่มปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 การเปลี่ยนเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนำมาทำปุ๋ยหมัก ปรับปรุงบำรุงดิน ลดต้นทุน และลดปัญหามลพิษทางอากาศ ด้วย
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายรณรงค์ให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการกำจัดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากการเผาไปเป็นวิธีอื่นๆ เช่น การทำปุ๋ยหมัก หรือการไถกลบตอซังพืชเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้นำองค์ความรู้ในการทำปุ๋ยหมัก โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดิน คือ สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 และน้ำหมักชีวภาพ เผยแพร่สู่เกษตรกร นำไปใช้ประโยชน์และสามารถขยายผลในพื้นที่ทำการเกษตรตนเองได้ และเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรหันมาตื่นตัว ทำปุ๋ยหมักใช้เองเป็นการลดต้นทุนการผลิต อนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้ส่งเสริมกิจกรรมการไถกลบงดเผา และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ได้จัดกิจกรรม “โครงการรณรงค์การทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และลดปัญหาหมอกควัน และ PM 2.5” ขึ้น ณ บ้านต่อเรือ หมู่ที่ 2 ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 2.98 ล้านไร่ มีเศษเหลือของวัสดุจากการเกษตร เช่น เศษซังข้าวโพด ตอซังข้าว และอื่นๆ กว่า 1.16 ล้านตันต่อปี หากเกษตรกรนำเศษวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่มาทำปุ๋ยหมักในการปรับปรุงดิน จะทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 20–30 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร
นายสมบูรณ์ ธิจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กล่าวว่า ได้จัดเตรียมสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 สำหรับทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ในการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และช่วยในการเร่งย่อยสลายเศษซากพืชได้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพถึง 8 สายพันธุ์ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสารประกอบเซลลูโลส สามารถย่อยสลายน้ำมัน หรือไขมันในวัสดุหมักที่ย่อยสลายตัวยาก เป็นจุลินทรีย์ที่ทนอุณหภูมิสูง ย่อยวัสดุเหลือใช้ได้หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น
เกษตรกรสามารถทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแทนการเผา ซึ่งทำได้ง่าย ตัวอย่าง เช่น ฟางข้าวผสมกับมูลสัตว์ เช่น มูลวัว มูลไก่ เป็นต้น หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ โดยมีสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ช่วยย่อย จนได้มาเป็นปุ๋ยหมักคุณภาพ ปรับปรุงดินสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลที่จะถึงนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน และขอรับผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด. ต่างๆ ได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือ โทร. 1760