‘คนเมือง’ ย่อยเส้นใย ‘ผัก’ ได้น้อยลง เพราะพฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป

‘คนเมือง’ ย่อยเส้นใย ‘ผัก’ ได้น้อยลง เพราะพฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป

วิจัยพบ “Ruminococcus” แบคทีเรียในลำไส้ที่ทำหน้าที่ช่วยย่อย “เส้นใย” ของพืชผัก ในร่างกายของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก เพราะมนุษย์มีพฤติกรรมการกิน และวิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม

 

พืชผัก” มีไฟเบอร์ที่ช่วยให้ลำไส้ของเราแข็งแรง อีกทั้งยังมีเซลลูโลสที่ทำให้อาหารเคลื่อนที่ไปตามทางเดินอาหารได้เร็วขึ้น ช่วยในการขับถ่าย และยังทำให้เรารู้สึกอิ่ม แต่ดูเหมือนว่าชีวิตในสังคมเมืองจะทำให้มนุษย์ขาดการกินพืช และอาจส่งผลต่อการสลายเส้นใยในลำไส้ของเรา

จากการศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบ็น-กูรีย็อน หรือ BGU ในอิสราเอล ค้นพบว่า มนุษย์ที่ใช้ชีวิตในสังคมเมืองมีจำนวนแบคทีเรียในลำไส้ “Ruminococcus” ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายเซลลูโลสลดลง โดยงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Science

 

“แบคทีเรียในลำไส้” ช่วยย่อยไฟเบอร์

ซาราห์ โมเรส นักวิจัยด้านอณูชีววิทยา และชีวเคมีจาก BGU กล่าวว่า “ตลอดวิวัฒนาการของมนุษย์ เส้นใยถือเป็นอาหารหลักของเรามาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ โดยไฟเบอร์ในพืชจะช่วยให้ลำไส้ของเราแข็งแรง” เธอกล่าวเสริม

แบคทีเรียในลำไส้ที่ย่อยสลายเซลลูโลสชื่อ Ruminococcus ทำหน้าที่ผลิตคอมเพล็กซ์โปรตีนขนาดใหญ่ เรียกว่า “เซลลูโลโซม” เพื่อย่อยสลายเซลลูโลส ซึ่งเซลลูโลโซมถูกออกแบบมาให้สามารถดึงเส้นใยเซลลูโลสออกจากกันโดยเฉพาะ โดยจะเปลี่ยนเส้นใยให้เป็นน้ำตาลที่หล่อเลี้ยงทั้งร่างกาย

“การย่อยสลายเซลลูโลสไม่ใช่เรื่องง่าย มีแบคทีเรียเพียงไม่กี่ตัวที่สามารถทำได้” ศ.เอ็ดเวิร์ด ไบเออร์ จากสถาบันไวซ์มานน์ ในอิสราเอล และผู้เขียนร่วมของการศึกษานี้ กล่าวในแถลงการณ์

ธรรมชาติของเซลลูโลสจะย่อยยาก เพราะไม่ละลายน้ำ โดย ศ.ไบเออร์ อธิบายว่า ไฟเบอร์ในลำไส้ก็เปรียบเสมือนกับท่อนซุงที่ลอยอยู่ในสระว่ายน้ำ ถึงมันจะเปียกแต่ก็ไม่สามารถละลายได้

“แบคทีเรียในลำไส้” ของ “คนเมือง” มีอยู่น้อยมาก

การศึกษานี้อาศัยยีนของ Ruminococcus ในการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยใช้ตัวอย่างอุจจาระเพื่อทดสอบไมโครไบโอมในลำไส้ของมนุษย์จากช่วงเวลา และภูมิภาคที่ต่างกัน เพื่อค้นหาแบคทีเรียชนิดเดียวกัน ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าเรามีความเหมือนกันกับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มมากกว่าที่เราเคยคิดไว้

นักวิจัยกล่าวว่า แบคทีเรียที่ผลิตเซลลูโลโซมพบได้ในไมโครไบโอมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยทั่วไป แต่งานวิจัยนี้ค้นพบแบคทีเรียย่อยสลายเซลลูโลส 4 ชนิดที่อยู่ในสกุล Ruminococcus ซุกซ่อนอยู่ในร่างกายของมนุษย์ โดยมี 2 สายพันธุ์หนึ่งที่มีความใกล้เคียงกับวัว และแกะ ส่วนอีกสายพันธุ์ใกล้เคียงกับมนุษย์

“เราประหลาดใจที่พบว่าแบคทีเรียที่สร้างเซลลูโลโซมของมนุษย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสายพันธุ์จากปศุสัตว์ มากกว่าสายพันธุ์จากบรรพบุรุษตระกูลไพรเมตของเราเอง" อิตซาก มิซราฮี ศาสตราจารย์ของ BGU ซึ่งมีส่วนร่วมในการศึกษานี้กล่าว

แบคทีเรียสายพันธุ์ Ruminococcus ทั้ง 4 สายพันธุ์พบได้มากในกลุ่มไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยมีชุมชนแบคทีเรียดังกล่าวมากถึง 30-40% ส่วนชุมชนคนเก็บของป่าล่าสัตว์ และกลุ่มประชากรในชนบทในปัจจุบัน ยังคงมีแบคทีเรียที่ย่อยเซลลูโลสเหล่านี้ประมาณ 20%

“จุลินทรีย์เหล่านี้พบได้มาก มีมากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และในตัวอย่างลำไส้ของมนุษย์อายุที่มีอายุระหว่าง 1,000-2,000 ปี ดังนั้นจึงชี้ให้เห็นว่าพวกมันอาจเป็นส่วนสำคัญของไมโครไบโอมของบรรพบุรุษของเรา” ผู้เขียนกล่าว

แต่กลับพบแบคทีเรียดังกล่าวได้น้อยกว่า 5% ในหมู่คนที่อยู่ในเมือง และใช้ชีวิตในสังคมอุตสาหกรรม เช่น เดนมาร์ก จีน สวีเดน และสหรัฐ นั่นหมายความว่า ยิ่งมีเส้นใยไฟเบอร์ในอาหารของแต่วัฒนธรรมมากเท่าไร แบคทีเรียที่ย่อยเซลลูโลสก็จะมีความหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น

 

กินไฟเบอร์เพิ่มจำนวน “แบคทีเรียในลำไส้”

นักวิจัยให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่าแบคทีเรีย Ruminococcus หายไปจากลำไส้ของมนุษย์ยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ “คนเมือง” เป็นเพราะมนุษย์ในปัจจุบันกินผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์ลดน้อยลง และอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบการใช้ชีวิต และพฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป 

หน่วยงานบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรแนะนำให้ผู้ใหญ่บริโภคไฟเบอร์ 30 กรัมต่อวัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์มีการบริโภคไฟเบอร์เพียง 20 กรัมต่อวันเท่านั้น

หากแบคทีเรียในลำไส้หายไปจนหมด อาจจะทำให้คนเมืองยุคใหม่มีระบบเผาผลาญไม่ดีได้ ซึ่งจะทำให้สุขภาพของมนุษย์ย่ำแย่ลง โดยนักวิจัยแนะนำให้เพิ่มปริมาณไฟเบอร์ด้วยการกินธัญพืชโฮลวีต เช่น ข้าวกล้อง ควินัว และข้าวโอ๊ต ตลอดจนการบริโภคผักและผลไม้ รวมถึงถั่วและเมล็ดพืชมากขึ้น

การวิเคราะห์เชิงวิวัฒนาการแสดงให้เห็นว่าแบคทีเรีย Ruminococcus ที่อยู่ในร่างกายมนุษย์บางสายพันธุ์ได้รับมาจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นในระยะการปรับตัวเป็นสัตว์เลี้ยง (Domestication) หรือช่วงแรกของการเริ่มทำปศุสัตว์

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การถ่ายทอดยีนในแนวราบระหว่างสปีชีส์อาจเป็นคุณลักษณะสำคัญของการปรับตัวของตัวย่อยสลายเซลลูโลสให้เข้ากับโฮสต์ของพวกมัน

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่การอยู่ร่วมกับสัตว์ อาจช่วยเพิ่มความสามารถในการย่อยพืชในมนุษย์ได้ ซึ่งจำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไป เพื่อหาข้อสรุป


ที่มา: Euro NewsScience AlertScience DailyScience Times

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์