‘บาฟส์’ ปักหมุดบิ๊กโปรเจ็กต์มองโกเลีย สร้าง ‘โรงไฟฟ้า-SMR-SAF’

“บาฟส์” ปักหมุด “มองโกเลีย” 3 โปรเจ็กต์ยักษ์พลังงานสะอาด "โรงไฟฟ้า-SAF-SMR” สร้างความยั่งยืนให้องค์กร มองนิวเคลียร์ในไทยอีกนานเหตุต้องสร้างความเข้าใจประชาชน
KEY
POINTS
- เมื่อปริมาณน้ำมันที่กลั่นเพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาน้ำมันไม่สูงมากนัก ประชาชนที่เดินทางด้วยสายการบินสามารถเดินทางด้วยตั๋วเครื่องบินราคาถูกลง
- หลังจากนี้เราจะปฏิเสธกระแสโลกร้อนไม่ได้ เพราะคือความจริงท
จากนโยบายประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” โดยเฉพาะนโยบายการค้า การให้ความสำคัญของพลังงานฟอสซิลได้สร้างความผันผวนในตลาดมาก เรื่องนี้ "ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ความไม่แน่นอนในนโยบายเกิดแรงกดดันให้ภาคธุรกิจต้องตัดสินใจให้ถูกว่าจะเดินหน้าไปทางไหน
หากวิเคราะห์สาขาธุรกิจที่กลุ่มบาฟส์ดำเนินการ จะเป็นผลบวกต่อธุรกิจ คือ
1. ธุรกิจดั่งเดิม Oil & Gas ที่เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันจะช่วยยืดระยะเวลาองโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น โครงการท่อขนส่งและถังเก็บน้ำมัน ที่ยืดระยะเวลาออกไปทำให้บาฟส์เก็บเกี่ยวผลประโยชน์มากขึ้น
2. เมื่อปริมาณน้ำมันที่กลั่นเพิ่มขึ้นจะเพิ่มดีมานด์ในตลาดโลก ราคาน้ำมันจะไม่สูงมากนัก ประชาชนที่เดินทางด้วยสายการบินสามารถเดินทางด้วยตั๋วเครื่องบินราคาถูกลง ซึ่งกลุ่มบาฟส์ถือเป็นผู้ให้บริการ โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงนี้คือ ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้น
3. การที่ทรัมป์ลดบทบาทของการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ทั้งโซลาร์และวิน ถือเป็นโอกาสที่ไทยควรจะไขว่คว้า เพราะต้นทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่ขณะนี้มีราคาถูกลง เพราะล้นตลาด ทำให้บาฟส์ได้บริหารเงินทุนในโครงการใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ดีในช่วง 4 ปีนี้
“หลังจากนี้เราจะปฏิเสธกระแสโลกร้อนไม่ได้ เพราะนั่นคือความจริงที่เราอยู่ และทุกคนจะหันมาทำพลังงานสะอาดมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงระยะสั้นๆ ที่กลุ่มบาฟส์จะต้องเก็บเกี่ยวให้ได้”
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ กล่าวว่า กลุ่มบาฟส์มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนราว 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการในประเทศไทย 7 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนร่วมกับ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ใน จ.สุราษฎร์ธานี กำหนด COD ปลายปี 2569 ตามสัญญา PPA ที่ 9.9 เมกะวัตต์
ในขณะที่การลงทุนต่างประเทศมี 2 โครงการ เป็นการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตรวม 51 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้างที่ประเทศมองโกเลีย กลุ่มบาฟส์ถือหุ้น 100% จะ COD ปีหน้าเช่นกัน ทั้งนี้ จุดเด่นของมองโกเลีย เป็นประเทศที่ต้องการพลังงานหมุนเวียนสูง เป็นกลุ่มตลาดใหม่ ต่างจากตลาดเวียดนามที่ค่อนข้างตัน
“ในปีหน้าจะเห็นการลงทุนในกลุ่มประเทศในโซนภูมิภาคเอเซียเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์เพราะมีความเสี่ยงต่ำสุด”
สำหรับการลงทุนเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors : SMR) นั้น มองว่าหากจะเกิดในประเทศไทยจะต้องใช้เวลาอีกนาน แม้จะเป็น SMR แต่ยังมีข้อจำกัดด้านการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น โครงการที่เป็นนิวเคลียร์จะต้องเกิดจะคำนึงถึง
1. พื้นที่ที่ค่อนข้างห่างไกลชุมชน
2. การใช้พลังงานสูง
3. การเข้าถึงแหล่งแร่ยูเรเนียมง่าย
ดังนั้น กลุ่มบาฟส์อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่มองโกเลียเพราะมีครบทั้ง 3 ข้อ เบื้องต้น หารือกับบริษัทผู้เชียวชาญด้านนิวเคลียร์แล้ว อีกทั้งมองโกเลียเริ่มลงทุนโรงงานแปรรูปแร่ยูเรเนียมผ่านบริษัทฝรั่งเศส จึงมองว่าจะเกิดง่ายกว่าไทย อีกทั้งไทยจะต้องมีทุนทางการเมืองสูง รัฐบาลจะต้องมีแคปปิตอลแข็งแกร่งมากพอที่จะดันโครงการให้เกิดได้ จึงมองว่าไม่ใช่ช่วงระยะสั้นนี้
“การทำโรงไฟฟ้า SMR ต้องใช้เงินสูงแต่ข้อดีคือผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง การลงทุนจะขึ้นอยู่กับขนาด หากเป็น SMR ตัวรีแอคเตอร์จะเล็กลง ตามทฤษฏีต้องถูกลง แต่ในหลักความเป็นจริงยังไม่เห็นว่าจะทำได้จริงในทางปฎิบัติ เพราะเมื่อพูดว่านิวเคลียร์ก็คือนิวเคลียร์ จะเป็น SMR หรือไม่ก็เป็นนิวเคลียร์ เราจึงไม่ควรไปประนีประนอมหรือมองข้ามเรื่องความปลอดภัย”
ส่วนความสำคัญของน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่นยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) นั้น ภูมิภาคเอเซียจะกลายเป็นหลักในการดำเนินการ เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกวัตถุดิบเพียงพอ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการสร้างโรงงาน SAF จากกลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเดือนเม.ย. 2568 จะเปิดขายเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว
รวมถึง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำ กัด (มหาชน) หรือ GC กลุ่ม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มทดลองใช้ SAF แล้ว ส่งผลให้กำลังการผลิตเพียงพอตามเกณฑ์ที่ภาคนโยบายกำหนด
“หากเราเดินหน้าได้ดีและตรงจุดใน 4 ปีนี้เป็น 4 ปีที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาส หลังจากนี้แล้วไม่มั่นใจว่าบริการจะตามทันหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็วแม้กระทั้งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของชีวภาพที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก จึงมองเป็นบวกว่านโยบายทรัมป์จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น”
นอกจากนี้ บาฟส์ยังอยู่ระหว่างศึกษาน้ำมันไบโอดีเซลในรูปแบบ “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” จากพืชที่เรียกว่า “ปอป่า” เป็นพืชชนิดเดียวกับ “ปอเทือง” ทนทั้งฤดูแล้งและฤดูหนาว โดยขั้นตอนต่อไปจะแจกจ่ายพันธุ์พืชให้กลุ่มเกษตรกร เพื่อผลิตเชื้อเพลิง SAF ใช้เวลาเพาะปลูกเพียง 90 วัน ซึ่งบาฟส์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนาแปลงทดลองได้ 1 ปีแล้ว
“เป้าหมายบาฟส์ไม่ใช่คนเพาะปลูกเอง แต่จะช่วยเกษตรกรให้มีรายได้ที่ดีขึ้น เพราะปอป่าสามารถปลูกได้ในช่วงระหว่างข้าวนาปีและนาปัง ตัวต้นไถกลบช่วยเพิ่มไนโตรเจนในดินเป็นการปรับปรุงและพักหน้าดินด้วย โดยน้ำมันที่ได้จะมาจากดอกปอป่าที่สกัดออกมาสามารถส่งให้กลุ่มบางจากฯ กลั่นมาเป็น SAF ได้”
ส่วนแผนธุรกิจ คอนแทรคฟาร์มมิ่งที่โกเลียจะเหมือนในไทย ขณะนี้ผู้ผลิต SAF จากจีนสนใจจะนำเข้าวัตถุดิบจากปอป่าเพราะกำลังผลิตไม่เพียงพอ ดังนั้น เมื่อบาฟส์ตอบจิ๊กซอร์แรกของอุตสาหกรรมการบินว่าพืชปอป่ามีความเป็นไปได้ในการเติมน้ำมัน SAF จึงไม่ใช่เรื่องของอนาคต เพราะยุโรปได้ประกาศสัดส่วนชัดเจนแล้ว และเมื่อจีนต้องการจะเป็นปริมาณมหาศาล
"มองโกเลียเป็นประเทศที่มีศักยภาพ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7% ทุกปี มีทรัพยากรธรรมชาติสูง อาทิ ยูเรเนียม น้ำมัน ทองแดง และถ่านหิน มีดินแดนกว้างใหญ่ ทำโครงการพลังงานหมุนเวียนในต้นทุนถูก รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 30% ในปี 2030 รวมทั้งสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนโดยให้อัตราการรับซื้อที่สูงกว่าประเทศอื่น"