UNDP หารือ มท.1 ติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อน SDGs ในไทย
ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ระบุว่า หารือเกี่ยวกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ (SDGs Localization) ตามที่กระทรวงมหาดไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ได้ดำเนินการร่วมกันใน 15 จังหวัด
นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการ SDG Localization ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 และได้เรียนเชิญผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยร่วมติดตามประเด็นการสร้างการตระหนักรู้ SDGs แก่แรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดตาก อีกทั้ง ได้หารือแนวทางการจัดงานพิธีปิดโครงการ SDG Localization ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 โดยให้ 15 จังหวัดได้นำเสนอแนวปฏิบัติตามโครงการฯ ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ รวมถึงการจัดสรรและบูรณาการงบประมาณการขับเคลื่อน SDGs ร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและ UNDP อีกทั้งได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากการรายงานผลของ SDG Profile ใน 15 จังหวัด
ซึ่งการดำเนินโครงการอาจจะเริ่มจากการปิดช่องว่างของ SDGs ในเป้าหมายแต่ละรายก่อน โดยอาจจะมีการประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาเป็นตัวชี้วัดของจังหวัด และให้จังหวัดอื่นมาเรียนรู้แนวปฏิบัติในการขับเคลื่อน SDGs ของจังหวัดตามโครงการได้ ขณะนี้ UNDP กำลังดำเนินการร่วมกับ TDRI ในการออกแบบแนวปฏิบัติสำหรับการรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ ในระดับพื้นที่ (Voluntary Local Review: VLR) ในระดับภูมิภาค (Sub-Region)
หากมีผลประการใดจะแลกเปลี่ยนให้กระทรวงมหาดไทยทราบ สุดท้ายนี้ ในอนาคตการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติ (UN) ที่ปัจจุบันกำลังให้ความสนใจกับนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate action) การบริหารจัดการขยะ (Waste management) และพลังงานสะอาด (Clean energy) จะเป็นไปอย่างราบรื่นและยั่งยืนต่อไป
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารกระทรวงก็ตาม โดยกระทรวงมหาดไทยมีแผนจะบริหารจัดการงบประมาณเพื่อเอื้ออำนวยต่อจังหวัดและหน่วยงานส่วนกลางในการขับเคลื่อน SDGs ให้ต่อเนื่องและราบรื่น
และในส่วนมาตรการที่จังหวัดจะใช้การปรับปรุงพัฒนาตัวชี้วัด SDGs ควรจะให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป มีความราบรื่น และมีความเป็นพลวัต (Dynamic) ที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ครบทั้ง 76 จังหวัดต่อไป