‘มลภาวะทางแสง’ ตัวการสำคัญ ปัจจัยเสี่ยงเป็น ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ เพิ่มขึ้น

‘มลภาวะทางแสง’ ตัวการสำคัญ ปัจจัยเสี่ยงเป็น ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ เพิ่มขึ้น

การศึกษาใหม่พบ “มลภาวะทางแสง” ยามค่ำคืน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น “โรคหลอดเลือดสมอง” เพิ่มขึ้น และมีถึง 80% ของผู้คนที่จะได้รับผลกระทบ

KEY

POINTS

  • วิจัยพบผู้ที่สัมผัสกับ “แสงประดิษฐ์” ที่สว่างมากเกินไป​ โดยอยู่กลางแจ้งในยามค่ำคืนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 43% ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง เมื่อเทียบกับคนที่สัมผัสแสงน้อย
  • การศึกษาระบุว่า ประมาณ 80% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะทางแสง อีกทั้งยังยับยั้งการผลิตเมลาโทนิน ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ
  • ผู้ที่สัมผัสกับ “มลพิษทางอากาศ” จากการเผาไหม้น้ำมันเบนซิน ดีเซล หรือไม้ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 41% ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนผู้ที่สัมผัสฝุ่นหรือควันมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 50% 

แสงไฟที่ส่องสว่างยามค่ำคืนช่วยให้มนุษย์สามารถเดินทางตอนกลางคืนได้อย่างปลอดภัย แต่ในปัจจุบันแสงไฟนอกอาคารในตอนกลางคืนมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ นอกจากไฟส่องสว่าง ยังมีไฟประดับอาคาร สัญญาณไฟจราจร รวมไปถึงไฟจากป้ายโฆษณาต่างๆ ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “มลภาวะทางแสง” ซึ่งส่งผลอันตรายต่อสุขภาพหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Heart Association Stroke ทำการศึกษาผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหนิงปัว เมืองท่าอุตสาหกรรมของประเทศจีน จำนวน 28,302 คน ซึ่งนักวิจัยพบว่า 

ผู้ที่สัมผัสกับ “แสงประดิษฐ์” ที่สว่างมากเกินไป​ โดยอยู่กลางแจ้งในยามค่ำคืนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 43% ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง เมื่อเทียบกับคนที่สัมผัสแสงน้อย

นักวิจัยกล่าวว่า การศึกษาของพวกเขาเป็นงานวิจัยแรกๆ ที่สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างแสงในเวลากลางคืนกับสุขภาพสมอง 

“การศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่าการเปิดรับแสงประดิษฐ์กลางแจ้งในระดับที่สูงขึ้นในเวลากลางคืนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง” ดร.หวัง เจี้ยงปิง นักวิจัยในแผนกสาธารณสุข และวิทยาต่อมไร้ท่อของโรงพยาบาลเด็ก คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง หนึ่งในผู้เขียนร่วมการศึกษากล่าว 

คน 80% อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มี “มลภาวะทางแสง”

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมีความกังวลกับ “มลภาวะทางแสง” มากขึ้น เนื่องจากแสงสว่างจากอาคารบ้านเรือนยามค่ำคืน เริ่มส่งผลกระทบต่อการมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้นาฬิกาชีวภาพในคนเสีย โดยการศึกษาใหม่นี้ได้สนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าว

การศึกษาระบุว่า ประมาณ 80% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะทางแสง โดยการได้รับแสงประดิษฐ์อย่างต่อเนื่องในเวลากลางคืน เช่น หลอดไฟ LED หรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ สามารถยับยั้งการผลิตเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมการนอนหลับ

ฮอร์โมนเมลาโทนินที่ปกติแล้วร่างกายจะหลั่งออกมาตอนกลางคืน ทำให้รู้สึกง่วง แต่เมื่อกลางคืนก็มีแสงประดิษฐ์ที่สว่างไม่ต่างจากกลางวัน จะส่งผลให้ร่างกายไม่หลั่งเมลาโทนินออกมา ร่างกายตื่นตัวได้ง่าย อีกทั้งเมื่อร่างกายขาดแสงสีแดงจึงทำให้เกิดโรคอ้วน และมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  

อีกทั้งงานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า คนที่มีปัญหาการนอนหลับเรื้อรัง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อเวลาผ่านไป ผลการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 1,278 ราย โรคหลอดเลือดสมองตีบ 777 ราย นับเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดที่พบบ่อยที่สุด โดยมีลิ่มเลือดขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง

ดร.หวัง กล่าวว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองควรลดการสัมผัสมลมิษทางแสง เพื่อป้องกันตนเอง อย่างน้อยที่สุด งดการเล่นสมาร์ตโฟน หรือสัมผัสแสง LED เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน

มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

การศึกษายังพิจารณาระดับมลพิษทางอากาศ ซึ่งพบว่า ผู้ที่สัมผัสกับ “มลพิษทางอากาศ” จากการเผาไหม้น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล หรือไม้ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 41% ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 

ขณะที่ ผู้สัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูงสุด จากการสูดดมฝุ่น PM10 อนุภาคฝุ่นหยาบ  ที่เกิดจากฝุ่นหรือควันมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้น 50% ส่วนผู้ที่ได้รับไนโตรเจนออกไซด์ในระดับสูงสุดจากยานยนต์ และโรงไฟฟ้า มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองถึง 31% เมื่อเทียบกับผู้ที่สัมผัสน้อยที่สุด

“แม้ในปัจจุบันเราจะประสบความสำเร็จในการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดในเชิงสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ลดโรคอ้วน และการเป็นเบาหวานประเภท 2 แต่การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการลดภาระโรคหลอดเลือดหัวใจทั่วโลกก็เป็นสิ่งสำคัญ” หวังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็นการศึกษาประชากรจากเมืองเดียว ดังนั้นการค้นพบนี้อาจไม่สามารถนำไปใช้กับผู้คนในชุมชนอื่นได้ ผู้เขียนกล่าว นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ ได้แก่ การขาดข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แสงสว่างภายในอาคารหรือมาตรการปิดกั้นแสง เช่น ม่านกันแสง 

“เราจำเป็นต้องพัฒนานโยบายและกลยุทธ์การป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดภาระของโรคจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แสงและมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่มีประชากรหนาแน่น และมีมลพิษทั่วโลก” หวังกล่าว


ที่มา: Euro NewsHealth NewsNew York Post

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์