สังคมนิยมแบบอนาคิสต์ - เสมอภาคและอิสรภาพ
คติ Anarchism ที่ควรแปลว่า “ประชาชนจัดการตนเองโดยไม่พึ่งรัฐ” มีพัฒนาการมาทั้งในแง่ทฤษฎีหรือปรัชญาการเมือง และในแง่ขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อนำไปสู่สังคมแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่ประชาชนจัดการตนเองในคอมมูน (หน่วยผลิตย่อยๆ) โดยไม่พึ่งรัฐ
มีแนวคิด แนวทางของสำนักคิดที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่มีหลักการใหญ่ๆ คล้ายกัน พวกอนาคิสต์คัดค้านการมีรัฐบาลกลางที่มีระบบตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่รัฐด้านปกครอง ฯลฯ
ในแง่ที่ว่าการมีรัฐแบบใดก็ตามจะทำให้เกิดชนชั้นเจ้าหน้าที่รัฐผู้กดขี่ประชาชนทั่วไปได้ พวกอนาคิสต์เสนอว่าต้องยกเลิกรัฐและจัดระบบบริการจัดการแบบใหม่แทนโดยให้องค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ จัดการตนเอง
เป็นระบบสังคมนิยมแบบที่ประชาชนในแต่ละคอมมูนบริหารจัดการตนเอง และแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม ประชาชนจึงจะมีเสรีภาพ เสมอภาค และมีความสุขได้อย่างแท้จริง
ปีเตอร์ โครพอตกิ้น (1842-1924) นักปฏิวัติรุสเซียรุ่นก่อนเลนินเสนอ สังคมนิยมแบบอนาคิสต์ (Anarcho-Communism หรือ Commutarian Anarchism) แบบที่ประชาชนจัดการตนเองโดยไม่ต้องพึ่งรัฐ
คำว่า Communism แปลตรงตัวคือชุมชนนิยม ซึ่งมีความหมายในทางบวก แต่คำนี้ถูกสังคมโลกนำไปใช้เรียกประเทศสังคมนิยมที่วางแผนจากส่วนกลางโดยรัฐแบบรวมศูนย์ เช่น อดีตสหภาพโซเวียตรุสเซีย ทำให้คนหลายคนหลายคนมองคำนี้ในแง่ลบ
เช่นเดียวกับคำว่า “อนาคิสต์” (ที่คนชอบแปลว่าอนาธิปไตย) ที่ถูกมองในแง่ลบ บางคนจึงนิยมใช้คำว่าสังคมนิยมแบบอิสระนิยม (Libertarian Socialism) แทน ในความหมายที่เสนอทั้งความเสมอภาคและอิสรภาพของประชาชนควบคู่กันไป
โครพอตกิ้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สัตวศาสตร์ และชาติพันธุ์วิทยา มาอธิบายว่า Mutual Aid การช่วยกันและกันของสัตว์สังคมหลายเผ่าพันธุ์รวมทั้งมนุษย์
คือปัจจัยหลักที่ช่วยให้สมาชิกในชุมชนเข้มแข็ง และอยู่รอดได้ดีกว่าการแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน แม้ในหลายสังคมจะมีการแข่งขันและมีคนที่เห็นแก่ตัวบางคนเกิดขึ้นได้บ้าง แต่คนแบบนั้นมักเป็นคนส่วนน้อย และชุมชน
สังคมแบบดั้งเดิมนั้นสามารถใช้วิธีการลงโทษ สั่งสอน ทำให้พวกเขาเข้าใจและทำตามกฎ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่มุ่งความร่วมมือช่วยเหลือกันเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทั้งหมดของชุมชนได้
โครพอตกิ้นอธิบายว่าสังคมแบบเสมอภาคโดยไม่ต้องพึ่งรัฐนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคหาของป่าล่าสัตว์ ยุคก่อนราชาธิปไตยรวมศูนย์และระบบทุนนิยม ในยุคนั้นคนใช้ชีวิตร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบพึ่งพาช่วยเหลือกันและกัน
ทั้งปัจจัยการผลิตและผลผลิตถือเป็นของชุมชนที่ทุกคนมีสิทธิใช้ร่วมกัน แบ่งปันกันอย่างมีเป้าหมายให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง มนุษยชาติอยู่กันแบบนี้มาหลายแสนปีจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติเกษตรกรรม
คนมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมขนาดใหญ่ขึ้น การจัดองค์กรสังคมจึงเปลี่ยนแปลงไป เป็นการแบ่งงานกันทำ เกิดอาชีพต่างๆ และชนชั้นตามมา ในยุคกลางของยุโรปที่ผ่านการปฏิวัติเกษตรกรรมไปแล้ว และมีสังคมเมืองอิสระต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว
พวกสมาคมอาชีพของช่างฝีมือประเภทต่างๆ ยังทำหน้าที่คล้ายสหภาพแรงงานหรือสหกรณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกทั้งหมด ในยุคฟิวดัลลิสต์ (ศักดินา) และทุนนิยมตอนต้น ก็ยังมีทุ่งหญ้า ป่าไม้ ชายทะเล ถนน สะพาน ฯลฯ
ทรัพยากรหลายอย่างที่คนในสังคมยุคนั้นถือเป็นสมบัติของส่วนรวม (Common) ที่คนในชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างมีขนบธรรมเนียม มีกติกาที่ทุกคนในชุมชนรับรู้และปฏิบัติตาม
แต่พอสังคมเป็นทุนนิยมอุตสาหกรรมมากขึ้น กลายเป็นเรื่องชนชั้นหนึ่งสะสมทุนและร่ำรวยได้มากกว่าชนชั้นที่ไม่มีทุน
โครพอตกิ้นเห็นว่าระบบสังคมชุมชนนิยมแบบอนาคิสต์ (Anarcho-Communism) ที่ประชาชนได้บริหารจัดการเองเป็นหน่วยย่อยๆ ต่างหน่วยต่างเลือกคณะกรรมการคอมมูนและเชื่อมโยงกับหน่วยอื่นๆ แบบเครือข่ายสหพันธ์คอมมูนระดับภูมิภาค
จะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพ มีความสุข มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าระบบที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลาง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลศักดินา/ราชาธิปไตย หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบบทุนนิยมก็ตาม
โครพอตกิ้นมีแนวคิดเรื่องการกำหนดมูลค่าของแรงงาน ที่ต่างจากมาร์กซิสต์เขาอธิบายในเชิงวิวัฒนาการว่าที่ดิน รางรถไฟ สะพาน ทรัพยากรที่มนุษย์ใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปีนั้น เป็นผลงานของคนหลายรุ่นจำนวนมากที่ได้ช่วยกันทำ ดูแล พัฒนา
ดังนั้นจึงยากที่จะวัดได้ว่าคนยุคปัจจุบันคนไหนลงแรงไปเท่าไหร่และควรได้ค่าแรงเท่าไหร่ เราจึงควรถือของเหล่านี้เป็นสมบัติของส่วนรวม
ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยการผลิตเท่านั้น แม้ผลผลิตก็ควรถือเป็นของส่วนรวม ที่ควรแบ่งปันให้ประชาชนทุกคนในกลุ่มตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องตีมูลค่าแรงงานว่าใครทำมากควรจะได้มาก
นั่นก็คือควรจะถือหลัก “แต่ละคนทำตามความสามารถและได้รับส่วนแบ่งตามความต้องการที่จำเป็น” เรื่องนี้มาร์กซ์ก็เคยเขียนไว้เหมือนกัน แต่มาร์กซ์มองว่าต้องผ่านสังคมนิยมขั้นแรกที่ปกครองโดยรัฐของคนงานไปก่อน
เมื่อสังคมนิยมพัฒนาเต็มที่เขาเรียกว่าเป็นคอมมูนิสม์สมบูรณ์แบบ จึงจะแบ่งปันแบบตามความจำเป็นนี้ได้ แต่โครพอตกิ้นเสนอว่าสังคมนิยมแบบรัฐมีอำนาจมากไม่มีทางที่จะพัฒนาไปเป็นสังคมนิยมที่แท้จริงได้ เราต้องลงมือทำเลยคือยกเลิกรัฐบาลกลางในรูปแบบสังคมนิยมแบบอนาคิสต์
โครพอตกิ้นเชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ให้ผลิตสินค้าบริการที่จำเป็นได้มากเพียงพอสำหรับทุกคน
มนุษย์ในสังคมแบบอนาคิสต์นั้นควรใช้เวลาทำงานลดลง ให้เครื่องจักรทำงานแทนมากขึ้น และมนุษย์ทุกคนควรทำงานตามความสามารถ ความสมัครใจ และได้รับการแบ่งปันสิ่งของและบริการต่างๆ อย่างพอเพียง เป็นธรรม
งานเขียนของโครพอตกิ้น และของมิคาอิล บากูนิน (ค.ศ. 1814-1870) มีอิทธิพลต่อการจัดตั้งรัฐอนาคิสต์ในยูเครนในช่วงปี ค.ศ. 1917-1919 และต่อพวกอนาคิสต์สเปนในยุคการปฏิวัติ/สงครามกลางเมืองสเปน ค.ศ. 1936-1939
ที่พวกอนาคิสต์บริหารระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยมประชาชนจัดการกันเองทั้งในชนบทและในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม รวมทั้งพวกอนาคิสต์ในบางพื้นที่อีกหลายประเทศในช่วงเวลาต่างกัน
ความคิดของนักคิดอนาคิสต์อาจจะเป็นสังคมในอุดมคติที่ฟังดูเป็นไปได้ยาก แต่มีเหตุผลที่ดีรองรับและเป็นประเด็นที่ท้าทายให้ประชาชนฝ่ายก้าวหน้าผู้ฝันถึงสังคมที่ดีกว่าต้องพยายามศึกษาและเผยแพร่ความคิด/ความรู้ชุดนี้ เพื่อทำให้บรรลุผลให้ได้ในวันหนึ่งหรือในระดับหนึ่งเท่าที่จะเป็นไปได้
(วิทยากร เชียงกูล. ศาสดาอนาธิปไตย ปีเตอร์ โครพ๊อตกิ้น. แสงดาว 2566)