ทุนนิยม สังคมนิยม และอนาคิสม์ | วิทยากร เชียงกูล
ทั้งระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยมโดยรัฐต่างมีปัญหา “ระบบทุนนิยม” คือระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลรับรองกรรมสิทธิ์ปัจจัยการผลิต เป็นของเอกชนผู้สามารถลงทุนจ้างแรงงานไปทำการผลิตและจำหน่ายสินค้า เพื่อหากำไรสูงสุดของเอกชนได้อย่างเสรี
ในระบบนี้ทั้งคนรวย คนชั้นกลางและคนจนต่างใช้ชีวิตแบบทำงานหนัก เคร่งเครียด อยากได้เงิน อยากบริโภคเพิ่มขึ้น สังคมเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ปัญหาความแปลกแยก สุขภาพจิตและปัญหาสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมอื่นๆ เพิ่มขึ้นกว่าในยุคก่อนที่ทุนนิยมจะเจริญเติบโตเป็นระบบทุนนิยมข้ามชาติหลายเท่า
คติสังคมนิยมที่ให้ปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เป็นของและบริหารโดยส่วนรวมและแบ่งปันผลผลิต/บริการที่เสมอภาค เป็นธรรม เช่น โซเวียตรัสเซียปฏิวัติและทดลองสร้างระบบสังคมนิยมตั้งแต่ปี 2460
แต่พวกเขามีปัญหาทั้งทางวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยม โครงสร้างทางการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐบาลกลาง ระบบเศรษฐกิจที่เขาเรียกว่าสังคมนิยมกลายเป็นระบบสังคมนิยมโดยรัฐที่ใช้อำนาจผูกขาดเผด็จการ
สหภาพโซเวียตรัสเซียมีการกระจายทรัพย์สินและรายได้ดีขึ้นกว่ายุคก่อน และมีการพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันสมัยขึ้น แต่ในที่สุด (74 ปีให้หลัง) ระบบสังคมนิยมโดยรัฐของโซเวียตรัสเซียก็ล้มเหลว เกิดการปฏิวัติจากภาคประชาชน ยกเลิกสังคมนิยมกลับไปเป็นทุนนิยมหรือตลาดเสรีในปี 2534
(ประเทศ “สังคมนิยม” ที่วางแผนจากส่วนกลางในประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ก็ล้มเหลวแบบเดียวกัน)
กรณีความล้มเหลวของสหภาพโซเวียตรัสเซีย มีสาเหตุใหญ่มาจากการที่พรรคบอลเชวิคผู้ควบคุมรัฐบาลกลางที่มีอำนาจรวมศูนย์มาก ไม่ได้กระจายอำนาจการบริหารไปสู่ภาคประชาชน เช่น สภาคนงาน สหกรณ์ ฯลฯ
เหมือนในช่วงการปฏิวัติปีแรกๆ ทำให้รัสเซียไม่สามารถสร้างสังคมนิยมแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเสมอภาคควบคู่ไปกับสิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ การเมืองอย่างแท้จริงได้
สังคมนิยมอนาคิสต์ (ประชาชนจัดการตนเองโดยไม่พึ่งรัฐ) มีแนวคิดที่ต่างออกไปจากสังคมนิยมแบบอำนาจนิยม เสนอให้ยกเลิกการมีรัฐบาลกลางแบบมีตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่รัฐด้านปกครอง ฯลฯ
โดยเหตุผลว่าสังคมที่ยังคงมีรัฐแบบใดก็ตาม (รวมทั้งรัฐเผด็จการชนชั้นกรรมมาชีพของพวกมาร์กซิสต์) จะทำให้เกิดชนชั้นเจ้าหน้าที่รัฐและระบบข้ารัฐการที่กดขี่สิทธิเสรีภาพคนทั่วไปได้
พวกอนาคิสต์เสนอการจัดการสังคมระบบใหม่ให้ประชาชนจัดการตนเอง แบบกระจายอำนาจให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ บริหารจัดการตนเองแนวราบในรูปแบบสหกรณ์ คณะกรรมการคนงาน ประชาคม (Commune) ฯลฯ อย่างเป็นประชาธิปไตย
ประชาชนในแต่ละหน่วยเลือกคณะกรรมการบริหารงานกันเอง คณะกรรมการมีวาระ มีรายได้พอๆ กับแรงงานทั่วไป ไม่ได้มีอำนาจมาก และอาจถูกประชาชนลงมติถอดถอนได้ ถ้าบุคคลนั้นทำงานมีปัญหา
องค์กรประชาชนเหล่านี้จะทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรประชาชนในพื้นที่อื่นๆ เช่น แลกเปลี่ยนค้าขายกันหรือร่วมมือกันป้องกันภัยและพัฒนาเรื่องใหญ่ๆ ระดับจังหวัดหรือประเทศในรูปเครือข่ายสหพันธ์ที่องค์กรต่างๆ มาตกลงกติกาและทำกิจกรรมร่วมกัน
คณะกรรมการชุมชนจะทำหน้าที่ควบคุมทางสังคมโดยใช้กฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียมที่มีเหตุผลที่สมาชิกชุมชนยอมรับ คณะกรรมการอบรมบ่มเพาะให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่จะปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกคน
ในระบบใหม่นี้ประชาชนจะสามารถสร้างทั้งความเสมอภาค เสรีภาพ และพัฒนาความสุขความพอใจได้มากกว่าสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางและควบคุมโดยรัฐ ที่ใช้อำนาจมากแบบสหภาพโซเวียตรัสเซีย
๐ สังคมนิยมแท้ยังไม่แพ้
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซีย เปลี่ยนไปเป็นทุนนิยมและการปรับตัวเป็นระบบตลาดเสรีและทุนนิยมโดยรัฐของจีนและประเทศที่เคยใช้ชื่อว่าสังคมนิยมอื่นๆ นั้น เป็นปัญหาเฉพาะท้องถิ่นที่แต่ละแห่งฝ่ายบริหารต่างยังมีข้อบกพร่องของตนเอง (จากปัญหาโครงสร้างวัฒนธรรมการเมืองและอื่นๆ)
ประเทศเหล่านี้เพียงเริ่มทดลองสร้างระบบสังคมนิยม แต่ยังห่างไกลจากสังคมนิยมที่แท้จริง ที่ต้องเน้นทั้งเสมอภาคและเสรีภาพควบคู่กัน
พวกสังคมนิยมอนาคิสต์และพวกสังคมนิยมแนวอิสระเสรี (Libertarian Socialist) เสนอบทวิเคราะห์ว่าสังคมนิยมของแท้ยังไม่แพ้ ที่แพ้คือคนบางกลุ่ม บางประเทศที่พยายามสร้าง “สังคมนิยม” (หรือทุนนิยมโดยรัฐ) แบบลองถูกลองผิด และยังไปได้ไม่ถึงเป้าหมายเท่านั้น เป็นปัญหาปัจจุบันภายในของแต่ละประเทศเอง
ถึงประเทศค่าย “สังคมนิยม” จะล้มเหลว แต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ชนะอย่างเด็ดขาด ระบบทุนนิยมผูกขาดทั่วโลกเติบโตทางวัตถุจริง แต่ยังคงสร้างปัญหาให้ประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งการทำลายระบบนิเวศสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น
ขณะที่นายทุนชนชั้นกลางส่วนน้อยยิ่งรวยขึ้น คนส่วนใหญ่ที่จนกว่าอยู่แล้วยิ่งจนลงทั้งโดยเปรียบและจนแบบอดอยากยากแค้น
คนงานในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบ้างโดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะคนที่มีทักษะสูง/อำนาจต่อรองสูงมีรายได้สูงขึ้น และพอใจหรือยอมรับสภาพเศรษฐกิจระบบทุนนิยมได้ รวมทั้งคนงานได้กำลังไปซื้อสินค้า/บริการของนายทุนทำให้นายทุนเติบโตต่อ
แต่ทุกประเทศรวมทั้งประเทศร่ำรวยเองคงยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความแปลกแยก และปัญหาทางสังคม เช่น อาชญากรรม ความรุนแรง ปัญหาสาธารณสุข ฯลฯ
ระบบทุนนิยมโลกในยุคปัจจุบันเป็นระบบที่เป็นตัวสร้างปัญหา/วิกฤติ ทั้งความขัดแย้ง ไม่สมดุล ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง วิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤติเรื่องสิ่งแวดล้อม การแพทย์สาธารณสุข ปัญหาสังคม ความคิดจิตใจ ฯลฯ ของมนุษย์ ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มาจากตัวระบบทุนนิยมโดยตรง
ถ้าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้อย่างแท้จริง ต้องเปลี่ยนแปลงตัวระบบเศรษฐกิจการเมืองจากทุนนิยม ไปเป็นระบบสังคมนิยมอนาคิสต์ที่เป็นประชาธิปไตย และเน้นการอนุรักษ์/ฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างแท้จริง.