สังคมนิยมแนวระบบนิเวศ คือทางออกจากวิกฤติอย่างแท้จริง

สังคมนิยมแนวระบบนิเวศ คือทางออกจากวิกฤติอย่างแท้จริง

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นกรรมสิทธิ์, กำไรเอกชนและการเติบโตทางวัตถุอย่างไม่มีขีดจำกัด เป็นตัวการสำคัญในการสร้างความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจสังคมและปัญหามลภาวะ หรือความเสื่อมถอยของระบบนิเวศ 

ปัญหาคือตัวระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด

การขยายตัวของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมทั่วทั้งโลกผ่านระบบจักรวรรดินิยมและโลกาภิวัตน์ โดยบรรษัทข้ามชาติ คือ สาเหตุของ 4 ปัญหาใหญ่ คือ

1.การเพิ่มความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของชนชั้น/กลุ่มชนต่างๆ ในสังคม ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ

2.ความยากจนของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งยากจนแบบไม่ค่อยพอจะกิน และยากจนโดยเปรียบเทียบ

3.สงครามและความรุนแรงทางการเมือง/สังคมในประเทศต่างๆ

4.ความเสื่อมโทรมถึงขั้นวิกฤติของระบบนิเวศ (สภาพแวดล้อม) ทั่วทั้งโลก

จะแก้ไขปัญหาทั้ง 4 ข้อใหญ่นี้ได้ คือ ต้องปฏิรูป/ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมลักษณะผูกขาด เอื้อผลประโยชน์นายทุนส่วนน้อย ไปเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่ผู้ผลิตเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกัน (Associative Producers)

และทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องมีการฟื้นฟูระบบทรัพยากรสำคัญเป็นของส่วนรวม (The Commons) ขึ้นมาใหม่ เน้นการผลิตและการกระจายเพื่อการสนองความต้องการใช้สอยที่จำเป็นของสมาชิกในสังคม อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืน

หลักการของนักสังคมนิยมแนวระบบนิเวศ (Eco-Socialism)

นักสังคมนิยมแนวระบบนิเวศ เสนอแนวทางเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแนวใหม่ด้วยหลักการที่สำคัญ คือ

1.ให้ประชาชนได้ผลิตที่เป็นอิสระ ได้เป็นเจ้าของและควบคุมดูแลทรัพยากร และทรัพย์สินสำคัญที่ควรถือเป็นของส่วนรวมใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในรูปของการจัดองค์กรในรูปของชุมชน, สหกรณ์ สภาคนงานและวิสาหกิจชุมชน ฯลฯ  

2.เน้นการผลิตและการบริโภคสินค้าบริการที่จำเป็นที่มีมูลค่าใช้สอย (Use Value) อย่างแท้จริง เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การแพทย์ การขนส่งสาธารณะ สาธารณูปโภค เช่น น้ำสะอาด พลังงานทางเลือก เกษตรทางเลือก ฯลฯ มากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย ที่อาจมีมูลค่าแลกเปลี่ยน (Exchange Value) สูง แต่จริงๆ แล้ว มีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมน้อย และมักทำลายระบบนิเวศมากด้วย

3.เน้นการปฏิรูปวิธีการออกแบบการผลิต ที่ประหยัดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ทำให้เกิดของเหลือใช้หรือขยะน้อยที่สุด หรือสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ให้มากที่สุด เพื่อระบบนิเวศที่ดีและเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

ปัญหาความเสื่อมโทรมถึงขั้นวิกฤติของระบบนิเวศโลก ทำให้เราต้องจำกัดขนาดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ให้ใหญ่เกินกว่าที่ระบบนิเวศจะรองรับได้โดยไม่เกิดความเสียหาย

เปลี่ยนวิธีบริหารทรัพยากรทุนทางธรรมชาติและทุนที่มนุษย์สร้างขึ้นให้มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมและประหยัดสูงสุด ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ และแบ่งปันให้แก่สมาชิกในสังคมอย่างทั่วถึงเป็นธรรม

โดยทั้งการผลิตและการบริโภคต้องเน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสใช้ด้วย

นโยบายและมาตรการที่สำคัญ

1.เน้นให้ชุมชนผลิตอาหารและปัจจัยที่จำเป็นแบบใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม พึ่งตนเองได้มากขึ้น ลดการเป็นหนี้ การซื้อขาย การขนส่ง การเดินทางที่พึ่งพาภายนอกและสิ้นเปลืองพลังงาน พัฒนาชุมชนขนาดเล็กและ/หรือขนาดกลาง ผลิตได้อย่างประหยัด มีประสิทธิภาพเลี้ยงตัวเองได้เพิ่มขึ้น

จะลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าระบบการผลิตการแลกเปลี่ยนในเมืองขนาดใหญ่ พัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบกระจายอำนาจทรัพยากรไปที่ชุมชนทั่วประเทศ แทนการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่เมืองใหญ่

2.สำหรับเมืองขนาดใหญ่ ภาครัฐต้องส่งเสริมการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟ รถใต้ดิน รถเมล์ รถราง เรือ ฯลฯ ที่คิดค่าบริการต่ำแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น กระจายโรงเรียน โรงพยาบาล แหล่งทำงาน และบริการที่จำเป็นอย่างพอเพียงและกระจายอยู่ตามเขต/ชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง คนในเมืองไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำธุระประจำวันไกลเกินไป

ควรมีโรงเรียนที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันและสถานบริการสาธารณะในทุกชุมชน ที่คนสามารถเดิน ขี่จักรยาน หรือนั่งรถสาธารณะไปถึงได้อย่างปลอดภัย และประหยัดการใช้พลังงาน ประหยัดเวลาและทรัพยากรด้วย

3.เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่สุดโต่ง ไปเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมที่เน้นการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงาน ทรัพยากร พลังงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในประเทศ

ผลิตและขายกันเองแบบพึ่งตนเองได้ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศเพิ่มขึ้น จะช่วยให้คนในประเทศมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดภายในประเทศใหญ่ขึ้น พึ่งพาการส่งออกและสั่งเข้าลดลงได้ เศรษฐกิจภายในประเทศเองจะเข้มแข็งมั่นคงขึ้น

4.การให้ชุมชนและสหกรณ์เป็นเจ้าของผู้ควบคุมทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่สำคัญ รวมทั้งเรื่องพลังงาน สาธารณูปโภค ระบบธนาคาร สถาบันการเงิน เพื่อจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมและกระจายสู่ประชาชนอย่างเป็นธรรม

เน้นการผลิตเพื่อประโยชน์ใช้สอย มีการกระจายผลผลิต รายได้อย่างเป็นธรรม ประชาชนลดความเหนื่อยยากและความเคร่งเครียดในการแข่งขันทำงานหาเงิน มีเวลาและให้ความสำคัญกับการใช้เวลาพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสุขความพอใจให้ตนเอง ครอบครัวและชุมชน มากกว่าการเน้นการหาเงินและการซื้อของ

5.ภาครัฐและชุมชนเน้นการทำกิจกรรมให้บริการและพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตและสังคม เช่น การศึกษา สาธารณสุข การประกันสังคม สวัสดิการสังคม การเดินทางด้วยการขนส่งสาธารณที่ประหยัด ปลอดภัย สาธารณูปโภค สวนสาธารณะ และระบบนิเวศที่ดี

กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม กีฬาและกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านความคิดจิตใจ และการพักผ่อนหย่อนใจให้แก่คนส่วนใหญ่ได้เข้าถึงแทนระบบปล่อยไปตามกลไกตลาดที่คนรวยจะเข้าถึงได้มากกว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน.