สังคมนิยมอนาคิสต์แบบโครพอตกิ้น | วิทยากร เชียงกูล
สังคมนิยมแบบอนาคิสต์ คือสังคมนิยมแบบกระจายทรัพยากร อำนาจในการบริหารจัดการให้ประชาชนจัดการกันเองโดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาลกลาง
พวกเขาเสนอให้ยกเลิกการมีรัฐบาลกลางแบบมีตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่รัฐด้านปกครอง ฯลฯ ในแง่ที่ว่าการมีรัฐแบบใดก็ตามจะทำให้เกิดชนชั้นเจ้าหน้าที่รัฐผู้กดขี่คนทั่วไปได้
ดังนั้น จึงต้องยกเลิกรัฐและจัดระบบบริการจัดการแบบใหม่แทน โดยองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เป็นระบบสังคมนิยมแบบที่ประชาชนในแต่ละคอมมูนบริหารจัดการตนเอง ประชาชนจึงจะมีเสรีภาพ เสมอภาค และมีความสุขได้อย่างแท้จริง
ปีเตอร์ โครพอตกิ้น (1842-1921) เป็นนักปฏิวัติสังคมนิยมเท่านั้น เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย เขาใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สัตวศาสตร์ และชาติพันธุ์วิทยามาอธิบายว่า Mutual Aid การช่วยกันและกันของสัตว์สังคมหลายเผ่าพันธุ์รวมทั้งมนุษย์
คือปัจจัยหลักที่ช่วยให้สมาชิกในชุมชนมนุษย์ตั้งแต่ยุคชุมชนหาของป่าล่าสัตว์เมื่อหลายแสนปีที่แล้วมาจนถึงราว ๗๐๐๐ ปีที่แล้วเข้มแข็ง และอยู่รอดได้ดีกว่าการแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน
ชุมชนแบบดั้งเดิมนั้นจะใช้ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่มุ่งความร่วมมือช่วยเหลือกัน เป็นเครื่องมือในการกำกับสมาชิกในชุมชนเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทั้งหมดของชุมชนได้โดยไม่ต้องพึ่งรัฐ
ในชุมชนบุพกาลยุคหาของป่าล่าสัตว์นั้น คนอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบพึ่งพาช่วยเหลือกันและกัน ทั้งปัจจัยการผลิตและผลผลิตถือเป็นของชุมชนที่ทุกคนมีสิทธิใช้ร่วมกัน แบ่งปันกันอย่างมีเป้าหมายให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง
มนุษยชาติอยู่กันแบบนี้มาหลายแสนปี จนกระทั่งถึงราวหมื่นปีที่แล้วเกิดการปฏิวัติเกษตรกรรมในบางพื้นที่ คนมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมขนาดใหญ่ขึ้นได้ ประชากรมากขึ้น การจัดองค์กรสังคมจึงเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ค่อยๆ เปลี่ยน
ในยุคเกษตรตอนต้น ยังมีทุ่งหญ้า ป่าไม้ ชายทะเล ถนน สะพาน ฯลฯ ทรัพยากรหลายอย่างที่คนในชุมชนเป็นสมบัติของส่วนรวมที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างมีขนบธรรมเนียม มีกติกาที่ทุกคนในชุมชนรับรู้และปฏิบัติตาม คนที่ไม่ทำตาม จะถูกคว่ำบาตร ถูกลงโทษ ผลักดัน /กล่อมเกลาให้เขาต้องทำตามเหมือนคนอื่นๆ
โครพอตกิ้น เสนอว่าระบบชุมชนนิยมแบบอนาคิสต์ที่ประชาชนบริหารจัดการเองเป็นหน่วยย่อยๆ และเชื่อมโยงกับหน่วยอื่นๆ แบบเครือข่ายสหพันธ์ เลือกคณะกรรมการคอมมูนมาทำหน้าที่บริหาร
จะเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ประชาชนมีเสรีภาพ มีความสุข มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าระบบที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลาง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลศักดินา/ราชาธิปไตย หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบบทุนนิยมก็ตาม
โครพอตกิ้นอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ทางสังคมของมนุษย์ว่าที่ดิน รางรถไฟ สะพาน ทรัพยากรที่มนุษย์ใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปีนั้น เป็นผลงานของคนหลายรุ่นจำนวนมากที่ได้ช่วยกันทำ ดูแล พัฒนา
ดังนั้นเราจึงควรถือของเหล่านี้รวมทั้งผลผลิตเป็นสมบัติของส่วนรวม ที่ควรแบ่งปันให้ประชาชนทุกคนในกลุ่มตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องตีมูลค่าแรงงานว่าใครทำมากควรจะได้มาก ควรจะถือหลักแต่ละคนทำตามความสามารถและได้รับส่วนแบ่งตามความต้องการที่จำเป็น
โครพอตกิ้นเชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ให้ผลิตสินค้าบริการที่จำเป็นได้มากเพียงพอสำหรับทุกคน มนุษย์ในสังคมแบบอนาคิสม์นั้นควรใช้เวลาทำงานลดลง ให้เครื่องจักรทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น และมนุษย์ทุกคนควรทำงานตามความสามารถ ความสมัครใจ และได้รับการแบ่งปันสิ่งของและบริการต่างๆ อย่างพอเพียง เป็นธรรม
การปฏิวัติรัสเซียปี 1917 เริ่มจากการปฏิวัติโดยประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งพวกอนาคิสต์จัดตั้งคณะกรรมการคนงาน/ประชาชน (โซเวียต) เข้ายึดอำนาจบริหารเศรษฐกิจการเมือง ในโรงงาน ชุมชนระดับต่างๆด้วยประชาชนกันเอง หลังจากนั้นพรรคบอลเชวิคซึ่งเป็นพวกมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ช่วงชิงการนำและจัดตั้งรัฐบาลแบบรวมศูนย์อำนาจได้
ในช่วงการปฏิวัติ 2 ปีแรก ฝ่ายซ้ายหลายกลุ่มร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับกองทัพของฝ่ายขวาพวกเจ้าที่ดินนายทุน (รัสเซียขาว) กองกำลังปฏิวัติประชาชนรัฐยูเครน ขับไล่ทั้งพวกกำลังต่างชาติและพวกรัสเซียขาวออกไป ยึดพื้นที่แห่งหนึ่งเพื่อสร้างเขตเสรีของสังคมแบบอนาคิสต์ที่ทำงานได้ผลดีอยู่ราว 2-3 ปีก่อนที่ต่อมาจะถูกทางรัฐบาลบอลเชวิคใช้กำลัง (และการโฆษณาชวนเชื่อ) ปราบปราม และเข้ายึดครอง
ในช่วงสงครามกลางเมืองและการปฏิวัติสเปนปี 1936-1939 กลุ่มอนาคิสต์สเปน ซึ่งเป็นที่มีสมาชิกกว่า 1 ล้านคน จัดตั้งกองกำลังของประชาชนทำสงครามขับไล่ทหารฝ่ายฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโกที่ทำรัฐประหารออกไปและยึดแคว้นคาตาลันญ่า (เมืองบาร์เซโลน่าเป็นเมืองหลวง) และแคว้นใกล้เคียง เช่น อารากอน
จัดระบบบริหารแบบสังคมนิยมที่ประชาชนจัดการปกครองตนเองในแนวไม่ต้องพึ่งรัฐบาลกลางทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่กว้างขวางครอบคลุมประชาชน 6-7 ล้านคนอย่างได้ผลดีอยู่ 2-3 ปี
ก่อนที่จะถูกทั้งกองทัพฝ่ายฟาสซิสต์และพรรคคอมมิวนิสต์สายโซเวียตรุสเซียที่ถือว่าเป็นคนละกลุ่มโค่นล้ม และต่อมารัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายของสเปนที่มาจากการเลือกตั้งก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพของนายพลฟรังโกฝ่ายขวา
นอกจากนี้ก็มีการสร้างชุมชน/สังคมแบบอนาคิสต์ในสหรัฐฯ ยุโรป ลาตินอเมริกาในหลายพื้นที่ในหลายยุค เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในระยะเวลาหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะถูกปราบปราม/ถูกกดดันจากภายนอกทำให้การสร้างสังคมแบบอนาคิสต์ไม่มีโอกาสได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
แต่ก็องค์กรแนวคิดใกล้ๆ กัน เช่น คิบบุตซ์ ยุคแรกในอิสราเอลตอนตั้งประเทศใหม่ๆ สหกรณ์ในสเปน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ ขบวนการยึดบ้านร้างมาทำเป็นชุมชนสหกรณ์ในประเทศยุโรป ขบวนการชาวนายึดที่ดินมาทำเป็นชุมชนสหกรณ์ในลาตินอเมริกาบางประเทศ ฯลฯ ที่คงต่อสู้ในแนวประชาชนบริหารจัดการตนเองมาอย่างต่อเนื่อง
พวกนักสังคมนิยมสายอนาคิสต์และสายเสรีประชาธิปไตย มองว่าสังคมนิยมแท้ยังไม่แพ้ ที่สหภาพโซเวียตรุสเซียล้มเหลว เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง หรือที่จีนและประเทศสังคมนิยมส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงนโยบายและการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ไปเป็นระบบตลาดหรือทุนนิยมนั้น เป็นเรื่องเฉพาะกรณี เฉพาะท้องถิ่น
ไม่ได้แปลว่าหลักการที่แท้จริงของสังคมนิยมล้มเหลว เพราะทุนนิยมเองก็ยังไม่ได้ชนะเด็ดขาด ระบบทุนนิยมทั้งโลกยังคงเป็นระบบที่เป็นตัวสร้างปัญหา/วิกฤติ ทั้งความขัดแย้ง ไม่สมดุล ความเหลือมล้ำต่ำสูง วิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤติเรื่องสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งเรื่องการแพทย์สาธารณสุข ปัญหาสังคม ความคิดจิตใจฯลฯของมนุษย์ ที่ไม่อาจแก้ไขได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงตัวระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยม ไปในแนวสังคมนิยมที่เป็นประชาธิปไตย และประชาชนจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง.