ประวัติศาสตร์ แบบไหนพัฒนาประเทศได้จริง | วิทยากร เชียงกูล
ประวัติศาสตร์คือเรื่องที่แต่งขึ้นโดยผู้ชนะหรือชนชั้นผู้ได้เปรียบ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่สนับสนุนพวกเขา การศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ในสาขานี้ถูกครอบงำโดยเจ้านายชั้นสูงและชนชั้นนำในสังคมสืบต่อกันตลอดมา
ประวัติศาสตร์จึงมักจะเป็นเรื่องวีรกรรมของกษัตริย์ การปลูกฝังลัทธิชาตินิยม การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม การเชื่อฟังกฎหมายและผู้ปกครอง
การสอนประวัติศาสตร์ไทยที่ส่วนใหญ่คือตํานานพงศาวดาร ที่เน้นเรื่องการจำข้อมูลโดยไม่มีการวิเคราะห์ ทําให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่ดูห่างไกลและน่าเบื่อหน่ายสำหรับผู้เรียน
รวมทั้งทําให้คนมีทรรศนะผิดๆ คิดว่าเป็นการศึกษาเฉพาะเรื่องราวในอดีตโบร่ำโบราณ ที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเรื่องชีวิตที่เป็นจริงในปัจจุบัน การต่อสู้ของภาคประชาชน เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทําให้เกิดการกระจายอํานาจและความรู้ไปสู่คนชั้นกลางและชนชั้นล่างมากขึ้น
นักวิชาการบางส่วนพัฒนาวิชาการสังคมศาสตร์สาขาต่างๆ ในลักษณะที่เสรีนิยมก้าวหน้าขึ้น มีความสนใจศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเรื่องของประชาชนธรรมดาสามัญ เรื่องประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ทําให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น แม้จะยังอยู่ในหมู่ปัญญาชนส่วนน้อย
ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษาเรื่องราวในอดีตโบรํ่าโบราณของคนที่มีอํานาจหรือมีอิทธิพลอย่างที่หนังสือประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่มักสะท้อนให้เห็น
ประวัติศาสตร์ คือ การศึกษาถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมของคนทั้งหมดในสังคม โดยเน้นในแง่ของพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่อดีตเมื่อหลายล้านปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน ที่มีลักษณะเคลื่อนไหวต่อเนื่องกับสิ่งที่กําลังจะเกิดขึ้นต่อไป (อนาคต)
เมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้เรื่องว่าโลกเป็นดาวบริวารที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมนุษย์มีวิวัฒนาการมาโดยธรรมชาติ อย่างไร ความรู้ใหม่นี้ได้ทําลายการครอบงําทางความรู้โดยชนชั้นสูงที่ว่าโลกและมนุษย์เกิดมาจากพระเจ้าหรือเทพเจ้า
ประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับชีวิตของคนในปัจจุบันมากกว่าที่คนส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจกัน ถ้าหากเราศึกษาประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมที่ประชาชนส่วนใหญ่มีบทบาทที่สำคัญ ศึกษาเชิงวิเคราะห์ภาพใหญ่และบทเรียนของแต่ละสังคมในแต่ละยุค
วิชาประวัติศาสตร์จะสนุกและให้ผู้เรียนหรือผู้อ่าน มองเห็นวิวัฒนาการความเป็นมาของสังคมได้อย่างกระจ่างชัด ได้เห็นบทเรียนจากประวัติศาสตร์เชื่อมโยงเปรียบเทียบเรียนรู้กับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ดีขึ้น
เช่น ถ้าเรารู้สภาพที่มาหรือสาเหตุของความด้อยพัฒนาล้าหลังของสังคมเรา (ในเชิงเปรียบเทียบ) จะทําให้เราวิเคราะห์ปัญหาที่กําลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ดีขึ้น การศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวที่กว้างจะช่วยให้เราเข้าใจว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาการพัฒนาประเทศเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากกระบวนการพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่เท่าเทียมกันในสังคมต่างๆ นั่นเอง
คําว่า “พัฒนา” เป็นคําที่สร้างขึ้นมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากสังคมบางแห่ง (ส่วนใหญ่ตะวันตก) ได้พัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมืองและสังคมไปได้มากกว่าสังคมอื่นๆ (ตะวันออกหรือประเทศกำลังพัฒนา) ทําให้เกิดการเอาเปรียบ การครอบงํา ความขัดแย้งและอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
คําว่า พัฒนา ในที่นี้มีนัยหมายถึงการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นวิธีการผลิตที่ก้าวหน้ากว่าเดิม ทําให้ได้ผลผลิตเพิ่มเร็วขึ้น คือเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือวัตถุ
กระบวนการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ ส่วนสำคัญเกิดมาจากการที่ประเทศยุโรปตะวันตกช่วงพัฒนาจากระบบฟิวดัล (ศักดินาสวามิภักดิ์) เป็นทุนนิยมในศตวรรษที่ 16-17 สามารถใช้เทคโนโลยีการรบที่เหนือกว่าเข้าไปครอบครองเอาสังคมอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น สกัดทรัพยากร แรงงานจากสังคมอื่นๆ (รวมทั้งขูดรีดแรงงาน ทรัพยากรในประเทศตนเองด้วย) มาสร้างความมั่งคั่งรํ่ารวยให้กับสังคมของตนได้อย่างมหาศาล
สังคมตะวันออกในยุคสมัยก่อนเกิดทุนนิยมโลก เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนในหลายยุคหลายสมัย รวมทั้งยุคสมัยที่สังคมตะวันตกในยุคสมัยเดียวกันยังคงป่าเถื่อนและ “ด้อยพัฒนา” กว่าด้วย เช่น ที่เรียกว่ายุคกลาง หรือยุคมืดของยุโรป ช่วงคริสตวรรษที่ 5-15 (เมื่อราว 600-1,600 ปีที่แล้ว)
การศึกษาประวัติศาสตร์พัฒนาการของระบบทุนนิยมโลก ลัทธิล่าเมืองขึ้นและลัทธิล่าอาณานิคมแผนใหม่ จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาการพัฒนาประเทศของไทยและประเทศรายได้ตํ่าอื่นๆ ได้อย่างตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น
ขณะเดียวกันเราก็ต้องศึกษาถึงปัจจัยภายในสังคมไทยเอง โดยเฉพาะการคลี่คลายขยายตัวของระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบศักดินาและวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีผลกระทบต่อการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคปัจจุบันด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น เราจะเข้าใจว่าทําไมคนไทยไม่มีนิสัยในการค้า ไม่มีนิสัยในการอดออมเพื่อลงทุนขยายกิจการให้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับชาวจีนอพยพ ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยถูกเจ้าขุนมูลนายเกณฑ์แรงงานไพร่มาใช้งานฟรีโดยที่คนไม่มีอิสรภาพอย่างเต็มที่ (คนจีนอพยพจ่ายเป็นเงินแทน)
วัฒนธรรมศักดินาที่ยกย่องขุนนางดูถูกพ่อค้าและช่างฝีมือ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ เช่น ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพวก ฯลฯ ในยุคราชาธิปไตยก็มีผลต่อการหล่อหลอมพื้นเพทางวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบันอยู่มากเช่นกัน
การศึกษาประวัติศาสตร์ในเชิงเปรียบเทียบ เช่น การปฏิรูปให้เป็นแบบสมัยใหม่ในยุคจักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในยุคเดียวกับการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 ของไทย คือเมื่อราว 200 ปีที่แล้ว
แต่ญี่ปุ่นหลังจากนั้นจนถึงยุคปัจจุบันเจริญไปไกลกว่าไทยมาก จะทําให้เราเข้าใจปัญหาความด้อยพัฒนาล้าหลังของไทยได้ดีขึ้น และมองเห็นสิ่งที่ควรทําหรือปฏิรูป/ปฏิวัติประเทศแบบใหม่ได้มากขึ้น
ถ้าเราพยายามก้าวข้ามให้พ้นการครอบงําทางวิชาการของศาสตร์กระแสหลักที่บิดเบือนความเป็นจริง เพื่อรับใช้คนส่วนน้อย และมุ่งแสวงหาความรู้เรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมนุษย์ที่แท้จริง
เช่น ประวัติศาสตร์โลกฉบับประชาชน ประวัติศาสตร์โลกแนวมาร์กซิสต์ สะสมบทเรียนทางประวัติศาสตร์ วิเคราะห์สังคมให้ลึกซึ้ง ถ่องแท้และเผยแพร่ไปให้ประชาชนได้รับรู้ได้อย่างกว้างขวาง
ประชาชนไทยจึงจะมีโอกาสสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรือง เป็นธรรม สงบสุข ได้มากขึ้นกว่าที่สังคมแบบด้อยพัฒนาล้าหลังที่คงดํารงอยู่ในปัจจุบัน.