เล่าเรื่อง “คังคุไบ” กับ "สีขาว" ที่ไม่ขาว ผ่านประวัติศาสตร์ "อินเดีย"

เล่าเรื่อง “คังคุไบ” กับ "สีขาว" ที่ไม่ขาว ผ่านประวัติศาสตร์ "อินเดีย"

เจาะประวัติศาสตร์ "อินเดีย" กับฉากเลือกชุด "สีขาว" จากภาพยนตร์ ​"คังคุไบ" หรือ "Gangubai Kathiawadi" ที่สะท้อนวิถีคนอิเดียเมื่อครั้งจำต้องอยู่ภายใต้อาณานิคม

“เอาขาวโทนไหนดีล่ะ ? ขาวเหมือนดวงจันทร์ ขาวเหมือนปุยเมฆ ขาวเหมือนกระดาษ ขาวเหมือนกุหลาบขาว ขาวเหมือนหิมะ หรือขาวเหมือนเกลือ ขาวเหมือนน้ำนม ขาวเหมือนเปลือกหอย ขาวเหมือนสายน้ำ ขาวเหมือนเม็ดทราย ขาวเหมือนควัน”

ประโยคที่ “คังคุไบ” ถาม “อัฟซาน” หนุ่มร้านตัดชุดที่ให้เสนอ “ส่าหรีสีขาว” ชุดใหม่ให้กับเธอ...ก่อนจะได้คำตอบกลับว่า “อันนี้ครับ ขาวดั่งหงส์”

นี่เป็นอีกหนึ่งฉากที่ถูกพูดถึงอย่างมาก จากเรื่อง “คังคุไบ” หรือ “Gangubai Kathiawadi” ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องเล่าในหนังสือ “Mafia Queen of Mumbai” ที่กำลังฉายใน  “Netflix” และอยู่ในความสนใจของคอหนังตอนนี้ โดยเฉพาะในแวดวงดีไซน์ ที่ต้องหยิบเรื่องนี้มาคุยกันว่า “ขาวเหมือน...” แต่ละอันนั้น เป็นสีขาวแบบไหนกันแน่ ?

สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าเฉดสี คือประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในผ้าสีขาวสารพัดเฉดในฉากนี้ สะท้อนถึงวัฒนธรรมและสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1930 ในย่าน “กามธิปุระ” เมืองมุมไบ ของอินเดียไว้อย่างน่าสนใจ

เรื่องราวเริ่มต้นในช่วงปี 1930-1940 ซึ่งเป็นช่วงที่คังคุไบยังเป็นเด็กสาว ยาวมาถึงช่วงปี 1950-1960 ที่กลายมาเป็น “ราชินีแห่งซ่องในกามธิปุระ” ไปแล้ว

โดยไทม์ไลน์ที่ถูกเล่าถึงในเรื่อง ขณะนั้นเป็นช่วงที่อินเดียเพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษ (ค.ศ. 1947) หลังจากที่ตกเป็นอาณานิคมในฐานะ British India มานับร้อยปี และนั่นก็เป็นที่มาของ “สีขาว ที่ไม่ขาว” ที่ปรากฏในเรื่อง
 

  •  ทำไมผ้าขาวถึงไม่ได้มีแค่ “ขาว” เดียว 

จากข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สะท้อนว่าขณะที่อินเดียยังอยู่ในฐานะ British India นั้น ชาวอินเดียต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมหลายเรื่อง

โดยในช่วงปี 1920 “มหาตมะ คานธี” ได้ขึ้นเป็นผู้นำพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย ซึ่งสนับสนุนการประท้วงโดยไม่ให้ความร่วมมือกับอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือ “การบอยคอตต์สินค้าอังกฤษ

เนื่องจากในยุคนั้นอังกฤษควบคุมอุตสาหกรรมสิ่งทอของอินเดีย โดยมีการกดขี่แรงงาน รวมถึงเอา “ฝ้าย” ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากอินเดียที่ปลูกกันเป็นวงกว้างเข้าโรงงานตัวเอง ก่อนจะส่งกลับมาขายที่อินเดียเมื่อทอเป็นผ้าแล้ว ทำให้คนอินเดียต้องซื้อผ้าในราคาสูง ทำให้คานธีออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นคือการเดินขบวนไปด้วย ทอผ้าไป รวมถึงเรียกร้องให้คนอินเดียไม่ซื้อเสื้อผ้าจากอังกฤษและหันมาทอผ้าใช้เอง

ดังนั้น สีผ้าที่มาจากการทอผ้าใช้เองในช่วงนั้นจึงมีเฉดสีที่อาจแตกต่างกันไปบ้าง ไม่เหมือนกับผ้าที่ออกมาจากอุตสาหกรรม ซึ่งสะท้อนพลังการต่อต้านของคนอินเดียต่อการอยู่ภายใต้อาณานิคมในช่วงนั้นด้วย

  •  ผ้าขาวที่ไม่ขาว กำลังช่วยนักแสดงเล่าเรื่อง 

สังเกตได้ว่านับตั้งแต่คังคุกลายเป็นแม่เล้าของซ่องที่ตัวเองอยู่ เพื่อนสนิทและหญิงสาวที่นั่นก็แสดงการยอมรับและให้ของขวัญเป็น “ส่าหรีสีขาว” กับเธอ ซึ่งข้อมูลจากหนังสือเรื่อง Mafia Queen of Mumbai ที่ถูกอ้างอิงมาทำภาพยนตร์ก็ระบุว่าคังคุไบมักใส่ชุดสีขาวเสมอจริงๆ

หากมองในมุมความหมายของสี “สีขาว” สื่อสารถึงความบริสุทธิ์ ความอ่อนโยน ความเรียบง่าย ฯลฯ ซึ่งมันจะถูกใช้สื่อสารในด้านบวก ฉากที่คังคุไบได้ส่าหรีสีขาวจึงเหมือนกับการมีชีวิตใหม่ของเธอที่ไม่ใช่แค่โสเภณีทั่วไป แม้เธอจะไม่ได้เป็นหญิงบริสุทธิ์แล้วก็ตาม

โดยหลังจากนั้น เมื่อคังคุไบเลือกเดินในเส้นทางสายการเมืองและมาเฟีย การสวมชุดสีขาวก็สะท้อนความเป็น “นักการเมือง” อย่างเต็มตัวด้วย เพราะนักการเมืองในยุคนั้นนิยมใส่เสื้อผ้าสีขาวที่กลายเป็นภาพจำ ทว่าปัจจุบันนักการเมืองยุคใหม่ๆ ก็เริ่มหันมาใส่เสื้อผ้าสีอื่นๆ มากขึ้นแล้ว

ส่วนมิติของการสื่อสารในภาพยนตร์ “Sheetal Iqbal Sharma” นักออกแบบเครื่องแต่งกายเล่าถึงความท้าทายในการเลือกใช้สีขาว ที่ถูกหยิบมาเปรียบเทียบกับสีที่เกิดขึ้นโดยธรรมดา ซึ่งมีแนวคิดว่า “แม้เรื่องนี้จะอยู่ที่กามธิปุระ และกำลังเล่าเรื่องของคังคุไบที่มาจากซ่องโสเภณี แต่เราต้องอย่าทำให้เธอดูไร้ค่า และถึงแม้การค้าประเวณีเป็นอาชีพ แต่ผู้หญิงเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องดูเหมือนถูกลิดรอน พวกเธอหาเลี้ยงชีพและอยู่ได้"

แนวคิดเหล่านี้ทำให้คังคุไบ ถูกสีขาวชูความโดดเด่นของตัวแสดงท่ามกลางแสงสีโคมแดงและการต่อสู้ที่เข้มข้นได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

--------------------------------------------

อ้างอิง: