ทำความรู้จักอาชีพ “โสเภณี” ผ่านมุมมองของภาพยนตร์ “คังคุไบ”
การต่อสู้เพื่อ สิทธิ ศักดิ์ศรี และ ความเท่าเทียม ของผู้ปะกอบอาชีพ “โสเภณี” นั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่มีการเรียกร้องมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่สะท้อนผ่านภาพยนตร์ “คังคุไบ”
เรื่องราวของ “คังคุไบ” ในภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi (หญิงแกร่งแห่งมุมไบ) ที่ออกฉายทาง Netflix และโด่งดังเป็นพลุแตก มียอดผู้ชมทั่วโลกสูงจนติดอันดับ 1 ของโลก แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ
หลังจากนั้นได้รับความนิยมติด 10 อันดับแรกใน 25 ประเทศ อาทิ แคนาดา สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และในตอนนี้กำลังติดอยู่ในระดับ Top 5 ของประเทศไทยอีกด้วย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้อ้างอิงมาจากหนังสือ Mafia Queens of Mumbai เขียนโดย S.Hussain Zuidi ตีพิมพ์เมื่อปี 2560 ที่อ้างถึง “โสเภณี” ชื่อดังคนหนึ่งที่มีตัวตนจริงในมุมไบ
ในภาพยนตร์นั้นสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับอาชีพ “โสเภณี” ผ่านเรื่องราวของ “คังคุไบ” หรือในตอนแรกเรียกกันว่า “คังคุ” หญิงสาวที่ถูกคนรักของเธอหลอกมาขายให้กับซ่องแห่งหนึ่งในย่านกามธิปุระ หรือย่านการค้าบริการทางเพศในมุมไบ ด้วยราคาเพียง 1,000 รูปี เธอต้องถูกบังคับให้ค้าบริการเพื่อหาเงินให้กับนายหญิงชีลา หรือ แม่เล้า และได้ส่วนแบ่งเพียงน้อยนิด
ภาพยนตร์ฉายให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิง เช่น การที่เธอถูกลูกน้องของมาเฟียคนหนึ่งทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัสต้องเข้าโรงพยาบาล และภาพยนตร์ก็ยิ่งตอกย้ำว่าคนในสังคมมอง “โสเภณี” ว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีเกียรติ แม้แต่ตอนเข้าโรงพยาบาลเธอต้องไปนอนพักฟื้นให้ห้องเก็บของเพราะพยาบาลพูดกับเธอว่า สถานที่แบบนี้เหมาะกับเธอแล้ว
รวมไปถึงตอนที่เธอกับเพื่อนออกไปดูหนังเพราะเป็นวันหยุด แต่ก็ยังมีผู้ชายมาขอซื้อบริการเธอที่หน้าโรงหนังอย่างไม่ให้เกียรติ รวมเป็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ในซ่องที่ไม่ค่อยจะถูกสุขลักษณะเท่าใดนัก
หลังจากนั้น เมื่อนายหญิงชีลาเสียชีวิตลงทำให้คังคุได้ตำแหน่งนี้มาแทนทำให้ได้ชื่อว่า “คังคุไบ” ที่แปลว่า แม่เล้าคังคุ เมื่อเธอได้ขึ้นมาปกครองก็ทำให้ซ่องแห่งนี้เปลี่ยนไป ไม่มีการบังคับให้เด็กในสังกัดทำงานทุกวัน แต่ละคนสามารถเลือกได้ว่าจะหยุดวันไหน ทำงานวันไหน และที่สำคัญเธอจะไม่รับซื้อเด็กที่ถูกหลอกมาขายโดยที่ไม่เต็มใจ รวมถึงรับอุปการะเด็ก ๆ ที่เกิดในซ่องให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีการศึกษา คอยปกป้องเด็กต่างซ่องที่ถูกทำร้ายร่างกายและถูกหลอกมาค้าประเวณี
การกระทำเหล่านี้ทำให้เธอได้ฉายาว่า “ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ” และเป็น “แม่พระแห่งโสเภณี” ด้วย หลังจากนั้นไม่นาน เธอเลือกที่จะลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรี และชนะการเลือกตั้ง เธอจึงเลือกใช้โอกาสนี้พูดถึงเรื่องสิทธิของโสเภณี เรียกร้องความเป็น เพื่อให้ผู้มีอาชีพเป็น “โสเภณี” ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมและมีศักดิ์ศรีเหมือนกับอาชีพอื่น ๆ ในสังคม
เธอเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่ว่าใครจะโผล่มาหน้าประตูเรา เราก็ไม่ติดสินบนพวกเขา มันเป็นหลักการของเรา เราจะไม่ถามถึงศาสนา วรรณะ จะผิวเข้มหรือขาว จะรวยหรือจน ทุกคนจ่ายเท่ากัน พวกเราไม่ได้เลือกปฏิบัติกับคนอื่น แต่ทำไมผู้คนถึงเลือกปฏิบัติกับเรา” พร้อมกับย้ำว่า โสเภณีเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ทุกคนต่างมีอาชีพ เป็นแพทย์ ทนาย ครู คนขายขนม คนมีความรู้ขายสติปัญญา แต่พวกเราขายร่างกาย มันผิดตรงไหน
ในที่สุด เธอก็มีโอกาสพบกับ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ชวาหะร์ลาล เนห์รู (พ่อของอินทิรา คานธี เป็นนายกฯ อินเดีย 17 ปี นับตั้งแต่อินเดียได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2490) ซึ่งรับปากว่าจะช่วยดูแลอาชีพโสเภณีให้ได้รับการยอมรับ และไม่โดนไล่ที่ให้ไปอยู่ที่อื่น แต่คังคุไบก็ยังขอให้นายกฯ มีบทลงโทษสำหรับคนพาเด็กมาขายที่ซ่อง และขอให้ทำให้อาชีพ “โสเภณี” เป็นอาชีพถูกกฎหมาย ซึ่งนายกฯ ระบุว่าในเรื่องของการทำให้ถูกกฎหมายอาจจะช่วยไม่ได้ เพราะไม่ใช่สวัสดิการของรัฐ แต่เรื่องอื่น ๆ นั้น เขารับปากว่าจะช่วย
ตัดกลับมาที่ ประเทศไทย ซึ่งสำหรับต่างชาติแล้วอาจถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่นึกถึงในเรื่องการค้าบริการทางเพศ ในปัจจุบันไม่ได้มีแค่เพศหญิงเท่านั้น แต่ยังมีเพศชายและเพศทางเลือกด้วย แม้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะทำรายได้ได้อย่างมหาศาลก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม
จากข้อมูลในงานเสวนา “Sex work is work : โสเภณีก็เสรีไปเลยสิค้า” ส่วนหนึ่งระบุว่า การทำให้ “โสเภณี” ถูกกฎหมายจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ GDP ซึ่งรายได้ในช่วงปี 2536-2538 พบว่า อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท หากนำตัวเลขเหล่านี้มาพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของธุรกิจ และจำนวนแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน อาจจะมีค่าถึง 2-2.5% ของ GDP เท่ากับมีค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท ถึง 3.75 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ คาดการณ์ว่า ในปัจจุบันอาจจะมีจำนวนโสเภณีประมาณ 2 แสน ถึง 2.5 แสนคน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามาดูแลแรงงานในภาคบริการเหล่านี้ ข้อมูลจาก spectrum.th ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรงงาน ยังมี “Sex Worker Fashion Week” ครั้งแรกในประเทศไทย
โดยมีประเด็นคือ “เราจะไม่ยอมเป็นอาชีพสีเทาหรือใต้ดินอีกต่อไป” โดยใช้กิจกรรมงานเดินแบบของกลุ่มผู้ค้าบริการและผู้สนับสนุนผู้ค้าบริการ ที่ลานข้างประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสียงถึงสิทธิในร่างกายของผู้ค้าบริการ รวมไปถึงเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดพวกเขา
ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ผู้ค้าบริการและนักกิจกรรมหนึ่งในคณะผู้จัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า อาชีพผู้ค้าบริการ ก็ถือเป็นแรงงานเช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมพวกเขาตามกฎหมายแรงงาน และเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
จะเห็นได้ว่า ในความเป็นจริงนั้น ประเทศไทยเองก็มีอาชีพ “โสเภณี” เช่นเดียวกัน และเป็นอาชีพที่ยังไม่ได้รับสวัสดิการที่ดีต่อพวกเขาสักเท่าไร และยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ ดังนั้น หากอาชีพนี้กลายเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย การเก็บภาษีและสวัสดิการที่คู่ควรก็จะตามมา