“กากแคดเมียม” ปัญหาที่มีทางออกทางเศรษฐศาสตร์
บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ภาวะมลพิษครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของประเทศไทย ว่า ในเดือนมีนาคมต่อเมษายน ๒๕๖๗ คนไทยในหลายจังหวัดต่างตระหนกว่าตนเองจะได้รับผลกระทบจากความเป็นพิษของกากสารแคดเมียม
กากสารแคดเมียม ที่ถูกขนส่งมายังพื้นที่ของตนโดยที่ไม่เคยได้รับรู้ระแคะระคายมาก่อน และนับมาจนถึงวันสงกรานต์ในปีนั้นปัญหาก็ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องปลอดภัย
แคดเมียมเป็นสารพิษแบบหนึ่ง
แคดเมียมเป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง จึงเป็นสารอันตรายที่ก่อให้เกิดโรคได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับเข้าร่างกายว่ามากหรือน้อยในขณะนั้น ทำให้เป็นมะเร็ง โรคไต และโรคทางกระดูก ฯลฯ ได้ โดยเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก ทางจมูก และทางผิวหนัง ทางผิวหนังเป็นทางผ่านที่มีผลน้อยกว่าอีกสองช่องทาง
ปกติเราจัดการกากอันตรายพวกนี้กันอย่างไร
ตามหลักการทางวิศวกรรมเหมืองแร่และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กากโลหะกรรมจากการทำเหมืองแร่และการถลุงแร่จะต้องผ่านการปรับเสถียร(stabilization)ให้คงตัว ก่อนที่จะนำไปฝังกลบไว้ในหลุมที่เราเรียกว่า หลุมฝังกลบมั่นคงหรือหลุมฝังกลบปลอดภัย (secured landfill)
หลุมฝังกลบที่ว่านี้ต้องมีมาตรการหลายอย่างในการดูแลไม่ให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มีชั้นดินเหนียวที่ใต้หลุมเพื่อกันน้ำซึมผ่านเข้าและออก มีแผ่นพลาสติกอย่างหนาปูรองที่ก้นหลุมอีกชั้น มีบ่อสังเกตการณ์รอบๆ บ่อเพื่อใช้ตรวจสอบการปนเปื้อน(หากมี)
รวมทั้งต้องมีการเอาดินมาคลุมทับกองเมื่อฝังกลบเสร็จ กันไม่ให้น้ำฝนเข้า และไม่ให้ทั้งคนและสัตว์มีโอกาสไปสัมผัสสารที่เสี่ยงอันตราย (hazardous)พวกนี้
ในกระบวนการการจัดการที่ถูกต้อง กากโลหะกรรมพวกนี้จะต้องถูกฝังอยู่อย่างนั้นต่อไปและตลอดไป ไม่ให้มีใครไปรบกวน ซึ่งถ้าทำได้อย่างนั้นปัญหาก็คงไม่เกิด หรือถ้าเกิด เช่น แผ่นพลาสติกฉีกขาด เกิดการรั่วไหลของสารพิษลงสู่ดินและน้ำใต้ดิน ปัญหานี้ก็ยังเป็นปัญหาเฉพาะที่ และพอจะแก้หรือปรับปรุงได้ถ้ามีเทคนิคและงบประมาณพอ
ปัญหาบานปลาย กลายเป็นไม่ใช่ปัญหาเฉพาะที่
กรณีที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้เป็นกากโลหะกรรมที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ที่อำเภอแม่สอด และการถลุงแร่สังกะสีที่อำเภอเมือง จังหวัดตากเมื่อประมาณสี่สิบปีก่อน
กระบวนการนี้ปล่อยกากสังกะสีและกากแคดเมียมออกมาเป็นของเสีย ซึ่งถูกส่งไปฝังกลบที่หลุมฝังกลบปลอดภัยตามกฎข้อบังคับของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในสมัยนั้น ส่วนจะทำได้ดี มีมาตรฐานหรือไม่ นั่นเป็นอีกกรณี
เมื่อเวลาผ่านไป ได้มีความรู้และข้อมูลใหม่ พบว่ากากแคดเมียมที่เดิมเป็นเพียงกากอันตราย ต้องกำจัดให้ถูกวิธีนั้น ปัจจุบันสามารถนำมาหลอมเป็นก้อนแคดเมียมบริสุทธิ์หรือเกือบบริสุทธิ์ ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
เช่น เอาไปทำแบตเตอรีนิกเกิล-แคดเมียม สารเคลือบเงาผิวโลหะ สารกันการกัดกร่อน ฯลฯ ซึ่งล้วนทำให้กากแคดเมียมกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าขึ้นมาทันที
จึงได้มีการขุดกากนี้ขึ้นมาและลำเลียงส่งไปยังโรงงานแห่งหนึ่ง เพื่อพยายามรีไซเคิลแคดเมียม แต่ได้พบว่าโรงงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพไม่พอที่จะทำการโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่าไม่แน่ชัดแต่ก็พบภายหลังว่าได้มีการกระจายกากแคดเมียมนี้ไปเก็บยังจุดต่างๆในหลายจังหวัด ได้แก่สมุทรสาคร ชลบุรี แม้กระทั่งในชุมชนในเขตบางซื่อในกรุงเทพฯ ทว่าจากการบวกลบปริมาณกากที่ขุดออกมา 14,000 ตัน กับปริมาณที่พบเจอแล้วในที่ต่างๆ พบว่ายังขาดหายอยู่อีกพันกว่าตัน จึงสรุปว่ายังมีซุกซ่อนอยู่ในที่อื่นๆอีก
ส่วนการที่มีคนขุดกากอันตรายออกจากหลุมฝังกลบปลอดภัยนี้ทำได้อย่างไร ถูกกฎหมายหรือไม่ ผมจะไม่เข้าไปแตะต้อง จะให้เรื่องเดินไปตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ผมไม่รู้ว่าคนที่สั่งขุดและสั่งขนย้ายกากอันตรายพวกนี้ เขาตั้งใจจะส่งกากตรงไปหลอมหล่อที่ต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่าเรา หรือตั้งใจจะหลอมและหล่อในประเทศแล้วส่งออกเป็นก้อนแคดเมียม ถ้าเป็นประการหลังหากโรงหลอมหล่อไทยทำไม่เป็นก็แน่นอนที่จะมีการปล่อยสารมลพิษออกมาทั้งทางอากาศ น้ำ และเศษกากตะกอน
ถึงแม้จะไม่หลอมหล่อในประเทศแต่หากยังมีการเก็บไว้ในสถานที่ต่างๆในประเทศเพื่อรอการส่งออก ระหว่างที่รอหรือที่รัฐยังจัดการได้ไม่ลงตัวโอกาสที่แคดเมียมจะแพร่หรือกระจายออกไปปนเปื้อนในที่ต่างๆโดยคนที่ไม่รู้ถึงอันตรายของมันก็ยังมีอยู่
ขณะนี้ข่าวกากอันตรายนี้ได้แพร่หลายไปทั้งประเทศแล้ว ทำให้เกิดกระแสของความกังวล ตื่นตระหนก และหวาดระแวงขึ้นไปทั่วในชุมชนต่างๆ จนขยายเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองตามมา
ปัญหาที่มาจากการพยายามแก้ปัญหาในขณะนี้
ปัจจุบันได้มีแรงกดดันจากภาคประชาชนและสื่อ รวมทั้งทางการเมือง ที่บีบให้รัฐและรัฐบาลนำกากแคดเมียมหรือกากสารพิษนั้นกลับไปฝังกลบใหม่อีกคร้งที่จังหวัดตากเช่นเดิม
ทว่าปัญหาที่ตามมาคือ คนจังหวัดตากถามว่าทำไมจะต้องเป็นพวกเขาที่ต้องรับกรรมนี้อยู่ตลอดมาและจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปหรือ และได้ร้องเรียนให้รัฐบาลเอาไปทิ้งที่อื่นหรือทำอย่างอื่น แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ต้องเป็นแบบ NIMBY หรือ Not In My Backyard เท่านั้น
ปัญหาจึงวนกลับมาเข้าวงหรือลูปที่ทุกคนจะอ้างหลักการ NIMBY กันทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วรัฐจะขนไปที่ไหนได้ และจะฝังกลบหรือจัดการกับมันอย่างไรจึงจะเป็นคำตอบที่ทุกคนพยักหน้ายอมรับ
ทางออกที่อยากจะลองเสนอแนะ
ถ้าเรามองย้อนกลับไปว่าทำไมถึงมีคน โดยเฉพาะนักธุรกิจจีนกลุ่มหนึ่ง ยอมเสียเงินไม่น้อยและเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายด้วย มาขุด มาขน มาลำเลียง ส่งกากไปที่ต่างๆ โดยหวังจะเอาไปขายต่อ ทำกำไรในราคาที่สูงไม่น้อย
เมื่อเราเห็นแล้วว่าการขนกลับไปกลับมานั้นอาจทำไม่ได้ง่ายแล้วด้วยเหตุผลทางสังคม ถ้าทำไม่ได้และเกิดกากแคดเมียมไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมแบบกระจายตัว รัฐก็จะจำต้องไปฟื้นฟูพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งทำได้ยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก
เรารู้ด้วยว่ากากแคดเมียมแม้จะเป็นสารพิษแต่มันก็ขายได้ ถ้าเช่นนั้นทำไมรัฐและรัฐบาลไทยจึงไม่เป็นคนดำเนินการเสียเองในการรวบรวมและจัดส่งกากทั้งหมดไปยังประเทศที่เขามีความสามารถในการหลอมหล่อกากแคดเมียมอย่างถูกวิธี ออกมาเป็นก้อนแคดเมียมบริสุทธิ์เพื่อเอาไปใช้ต่อ
อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐคิดว่าหากทำเองจะเสียเวลามากเกิน ก็ควรร่วมกับเอกชนดำเนินการรวบรวมและส่งออกกากแคดเมียม โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะจัดการกับปัญหานี้ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ จบได้ในเร็ววัน และเอาปัญหาการฟ้องร้องเอกชนเป็นเรื่องรอง
ปัญหาที่คาดว่าจะมีตามมา
ปัญหาที่คาดว่าจะมีตามมาคือจะมีเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยบางคนบอกว่าทำไม่ได้ ด้วยติดที่ปัญหาทางกฎหมายทั้งของชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งก็เข้าใจได้และเห็นใจด้วย
ถ้าเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ เราก็ต้องแก้ของเราเอง โดยการแก้กฎหมายให้ทำได้ ผมเชื่อว่าในงานนี้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.รวมทั้งกฤษฎีกายินดีที่จะร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วและทันกาล
เราพูดกันมาตลอดถึงการปฏิรูประบบราชการ นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ควรทำ ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเป็นตัวอย่างในการปฏิรูประบบราชการอื่นๆ ต่อไป
ว่ากันเฉพาะเรื่องปฏิรูประบบราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญการสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม รัฐไทยควรต้องพร้อมที่จะยกเครื่องให้ทั้งภาครัฐและเอกชนก้าวเข้าสู่วิถีแห่งการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (best environmental practices, BEP) และส่งเสริมให้เอกชนทุ่มทุนแสวงหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ (best available technologies, BAP)
เพื่อควบคุมและกำจัดสารมลพิษภายในโรงงานและเพื่อลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ น้ำ และดิน โดยรัฐไทยต้องประกาศอย่างหนักแน่นว่าเราพร้อมสนับสนุนการลงทุนหากเอกชนตั้งใจทำส่วนนี้ให้สำเร็จได้จริง
ส่วนในเรื่องของกฎหมายระหว่างชาติซึ่งในที่นี้คืออนุสัญญาบาเซล ที่เป็นกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด มันก็มีช่องทางในการทำของมันอยู่แล้ว คือทำได้
เพียงแต่ต้องทำให้ตรงกับเงื่อนไขของเขาเท่านั้น รัฐบาลกับรัฐก็เพียงเร่งทำส่วนนี้ควบคู่กันไปกับการรวบรวมกากเหล่านั้นมาเป็นของรัฐหรือรัฐร่วมเอกชน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการส่งไปจัดการอย่างถูกต้องที่ประเทศคู่ค้าให้ทันการณ์ต่อไป
ก็ขอลองเสนอความคิดดูครับ ส่วนการปฏิบัติจริงก็ต้องเป็นหน้าที่ของฝั่งรัฐแต่ผู้เดียวว่าจะเห็นด้วยและทำหรือไม่ และทำได้หรือไม่